ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์ในสหรัฐฯ ใช้โซเชียลมีเดียแสดงพลังต้าน 'สมาคมปืน' ซึ่งอ้างว่าแพทย์ไม่ควร 'ข้ามเลน' มายุ่งเรื่องนโยบายการเมือง หลังกลุ่มแพทย์เสนอรายงานเรียกร้องให้รัฐบาลปรับแก้มาตรการควบคุมปืน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืน

กระแสติดแฮชแท็ก #ThisIsMyLane และ #ThisIsOurLane ในบัญชีทวิตเตอร์ของกลุ่มบุคลากรการแพทย์ในสหรัฐฯ เริ่มขึ้นตั้งแต่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) ทวีตข้อความโจมตีแพทย์ซึ่งจัดทำรายงานเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณามาตรการควบคุมปืน โดยให้เหตุผลว่าการหาซื้ออาวุธปืนได้ง่าย รวมถึงไม่มีการควบคุมอาวุธสงครามในบางรัฐ และไม่จำกัดอายุผู้ใช้ปืน ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนทั่วสหรัฐฯ มีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่สาเหตุของการเสียชีวิตเหล่านี้สามารถป้องกันได้

บัญชีทวิตเตอร์ของ NRA ไม่ได้ระบุชื่อแพทย์ผู้จัดทำรายงานเสนอแนะการควบคุมปืน แต่เผยแพร่ข้อความโจมตีว่า "ควรมีคนไปบอกพวกหมอต่อต้านปืนที่คิดว่าตัวเองสำคัญให้อยู่ในเลนของตัวเองต่อไปจะดีกว่า" และชี้ว่า บทความวิชาการที่ปรากฏในวารสารการแพทย์ มีแต่บทความเรียกร้องการควบคุมปืน ซึ่ง NRA ระบุว่า "น่าหงุดหงิดมาก ดูเหมือนว่ากลุ่มหมอพวกนี้จะไม่ได้ปรึกษาใครเลยตอนทำรายงาน นอกเสียจากพวกเดียวกันเอง"

บุคลากรทางการแพทย์หลายรายที่เห็นข้อความของ NRA เริ่มตอบโต้กลับด้วยการเผยแพร่ภาพการทำงานของตัวเองในแต่ละวัน โดยมีทั้งภาพเก้าอี้ในห้องให้คำปรึกษา ซึ่งแพทย์ผู้ทวีตภาพดังกล่าวระบุว่า มันคือเก้าอี้ที่เธอใช้นั่งเพื่อแจ้งข่าวการเสียชีวิตของเยาวชนที่ถูกยิงให้ครอบครัวรับทราบ และเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ พร้อมติดแฮชแท็ก #ThisIsMyLane เพื่อย้ำว่า การตระหนักเรื่องมาตรการควบคุมปืนเป็น 'หนทาง' ของแพทย์ และเป็นการ 'อยู่ในเลน' ที่ถูกต้องที่สุดแล้ว เพราะแพทย์ต้องรักษาบรรเทาการบาดเจ็บจากปืนของผู้คนจำนวนมาก และบางกรณีก็ต้องเป็นผู้แจ้งข่าวร้ายให้ครอบครัวผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตรับทราบ

(ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ @scrubbedin ตอบโต้ NRA ที่กล่าวหาว่าแพทย์ไม่มีหลักฐานประกอบรายงานต่อต้านปืน โดยมีการะบุในภาพด้วยว่า นี่คือเก้าอี้ที่เธอนั่งเพื่อบอกความจริงกับครอบครัวว่าเด็กถูกยิงตาย)

ขณะที่ศัลยแพทย์บางรายเผยแพร่ภาพห้องผ่าตัดที่เต็มไปด้วยเลือดของผู้ที่ถูกยิง บางรายเผยแพร่ภาพขากางเกงแพทย์เปื้อนเลือด พร้อมติดแฮชแท็ก #ThisIsMyLane หรือ #ThisIsOurLane โดยแพทย์รายหนึ่งระบุว่า พวก NRA จะรู้หรือไม่ว่าในแต่ละวันแพทย์ต้องผ่าเอากระสุนออกจากคนไข้วันละกี่นัด และ NRA จะกล้าเผชิญหน้ากับครอบครัวผู้ถูกยิงตายเหมือนที่แพทย์ฉุกเฉินต้องเผชิญอยู่ทุกวันหรือไม่ จนกระแสติดแฮชแท็กดังกล่าวกลายเป็นประเด็นถกเถียงทั้งในโลกออนไลน์และแวดวงสื่อมวลชนในสหรัฐฯ 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มแพทย์ที่ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิแพทย์อเมริกันเพื่อลดการบาดเจ็บจากอาวุธปืน หรือ AFFIRM ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 9 พ.ย. เพื่อชี้แจงให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐฯ รวมถึง NRA ตระหนักว่าอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอาวุธปืนในสหรัฐฯ เคยลดลงไปในช่วงปี 2009 - 2010 (พ.ศ. 2552-2553) ก่อนจะพุ่งสูงอีกครั้งช่วงปี 2015-2016 (พ.ศ. 2558-2559) และเพิ่มขึ้นอีกในช่วงปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่เดือน ม.ค. - 12 พ.ย. 2561 มีเหตุกราดยิงเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทั้งหมด 307 ครั้ง และจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากอาวุธปืนช่วงปี 2015-2016 แบ่งเป็นผู้เสียชีวิตจากคดีฆาตกรรมด้วยอาวุธปืน 27,394 ราย (ร้อยละ 12 เกี่ยวข้องกับเยาวชน) และผู้ฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนอีกประมาณ 44,955 ราย (ร้อยละ 5 เป็นเยาวชน) บ่งชี้ว่าอาวุธปืนที่หาซื้อได้ง่าย และนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการครอบครองปืน แต่ไม่มีคำสั่งห้ามซื้อกระสุนกักตุนเป็นจำนวนมาก ทำให้การก่อเหตุกราดยิงกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วสหรัฐฯ 


หลังจากกลุ่มแพทย์ในนาม AFFIRM ออกแถลงการณ์ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ร่วมลงชื่อสนับสนุนรายงานทางการแพทย์ประกอบการควบคุมปืนกว่า 23,000 รายในเวลาไม่กี่วัน และคาดว่าจะมีผู้ลงชื่อสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีก เพราะกระแสติดแฮชแท็ก #ThisIsMyLane ยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในทวิตเตอร์และไอจี

อย่างไรก็ตาม เฮทเธอร์ แชร์ รังสีแพทย์ชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง AFFIRM ให้สัมภาษณ์เดอะวอชิงตันโพสต์ว่า แท้จริงแล้วบุคลากรการแพทย์ไม่ได้คิดจะทำสงครามกับ NRA และไม่ได้ต่อต้านปืน แต่เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่าอาวุธปืนเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

แชร์แสดงทัศนะในฐานะแพทย์ ย้ำว่าการป้องกันสาเหตุที่จะนำไปสู่การเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ถือเป็นมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากการศึกษาด้านระบาดวิทยา เพราะการจะป้องกันหรือรักษาโรคระบาดได้ ต้องหาต้นตอที่ทำให้เกิดโรคและควบคุมไว้ให้ได้ กรณีที่ปืนกลายเป็นสาเหตุการตายของคนจำนวนมากในแต่ละปี ก็ควรที่จะต้องหาทางควบคุมหรือป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดเช่นเดียวกัน

ที่มา: Forbes/ Washington Post/ Yahoo News

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: