ไม่พบผลการค้นหา
การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่งผลให้เกิดความเป็นห่วงว่า ระบบสุขภาพไทยจะถึงคราววิกฤติเพราะมุ่งเน้นซ่อมนำสร้าง ใช้จ่ายเงินมากกว่าการป้องกันโรค เรามาย้อนดูประวัติศาสตร์การป้องกันโรคกันว่าทำไมการป้องกันโรคที่ดูเหมือนเป็นคำตอบง่ายๆ แต่ไม่หมูอย่างที่คิด

โรคภัยไข้เจ็บต่างๆล้วนปรากฏควบคู่กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติตลอดมา ก่อนที่วิทยาศาสตร์มนุษย์เจริญก้าวหน้า ความเจ็บป่วย โรคติดต่อก็ได้คร่าชีวิตมนุษย์มากมาย เป็นการสูญเสียที่มากกว่าสงครามเสียอีก เมื่อไม่มีองค์ความรู้มากพอที่จะอธิบายกลไกของการเกิดโรค ประวัติศาสตร์มนุษย์จึงผูกติดโรคภัยไข้เจ็บไว้กับความเชื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็นความเชื่อศาสนาหรือ ความเชื่อภูตผีปีศาจ สิ่งเหนือธรรมชาติท้องถิ่น และการหายจากโรครวมถึงการป้องกันโรคต้องใช่วิธีเหนือธรรมชาติ เช่น แพทย์ในราชวงศ์โจวราว1000ปีก่อนคริสตกาลเชื่อว่าการควบคุมอาหาร การบำเพ็ญฝึกตนทั้งทางด้านร่างกายและจิตวิญญาณเป็นการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ในสังคมอียิปต์โบราณก็ใช้การสวดภาวนา เวทย์มนต์ควบคู่กับยาเพื่อป้องกันรักษาโรค การรักษาสุขอนามัยความสะอาดล้วนสัมพันธ์กับความบริสุทธิ์ของพิธีกรรมทางความเชื่อ หรือการแพทย์แบบฮิปโปรคราติสซึ่งเชื่อว่าความเจ็บป่วยเกิดจากความไม่สมดุลย์ของธาตุต่างๆในร่างกาย การรักษาและป้องกันโรคจึงต้องอาศัยการปรับความสมดุลย์ของธาตุต่างๆเหล่านี้อีกครั้ง ส่วนของสังคมไทยความเชื่อเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นการผสมระหว่างความเชื่อท้องถิ่น ศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ การรักษาป้องกันโรคมีได้ตั้งแต่การภาวนา ใช้เวทย์มนท์ ใช้น้ำมนต์ หาเกจิอาจารย์ดังๆ ทำบุญกุศลสะสม หรือเป็นเรื่องของกรรม การป้องกันโรคและรักษาความสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญก่อนที่มนุษย์สามารถเห็นเชื้อโรคผ่านกล้องจุลทรรศน์          

การพัฒนาความรู้การแพทย์และการป้องกันโรค

องค์ความรู้ทางการแพทย์และป้องกันโรคของยุโรปเป็นการผสมผสานระหว่างแนวความคิดการแพทย์กรีซของฮิปโปคราติส ของโรมันความรู้ของอิสลามซึ่งมีส่วนสำคัญให้อาณาจักรโรมันพัฒนาระบบการจัดการความสะอาดสุขลักษณะในเมือง แต่ทว่าเมื่ออาณาจักรโรมันล่มสลายลง และศาสนจักรเข้ามามีบทบาทในยุโรป วิทยาการแพทย์ยุโรปก็หยุดชะงักและถูกแทนที่ด้วยการแพทย์คริสเตียน เมื่อสังคมยุโรปเข้าสู่ยุคเรืองปัญญา วิทยาการความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ การพัฒนาอุตสาหกรรมและเขตเมืองส่งผลให้ผู้คนอาศัยในสภาพแวดล้อมที่แออัดและสกปรก โรคระบาดต่างๆเช่น อหิวาตกโรคพบได้บ่อยครั้ง ทฤษฎีว่าโรคภัยไข้เจ็บมาจากหมอกพิษร้าย (Miasma) จึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยอธิบายเช่นว่า คนที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรคเพราะอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำเน่าเสียที่สูดอากาศหมอกพิษร้ายที่ผิวน้ำปล่อยออกมา ถึงแม้จะเป็นการอธิบายสาเหตุของโรคได้ไม่ถูกต้องตามกลไกการเกิดโรค แต่มันก็ช่วยให้เกิดการพัฒนาระบบสาธารณสุข ระบบจัดการความสะอาดในเมือง เช่น การจัดการระบบชลประทาน การจัดเก็บขยะมูลฝอยเป็นต้น

เมื่อทฤษฎีเชื้อโรคของหลุยส์ ปาสเตอร์พัฒนาขึ้นมาจึงค่อยๆแทนทฤษฎีหมอกพิษร้าย การเห็นจุลชีพด้วยกล้องจุลทรรศน์สามารถอธิบายการเกิดโรคได้ถูกต้องแม่นยำ และพัฒนาการแพทย์ป้องกันโรคได้ดีขึ้น เช่น การปลูกฝี การผลิตวัคซีน เป็นต้น และเมื่อวิวัฒนาการก้าวไกลจนถึงปัจจุบัน การตรวจคัดกรองโรคด้วยเทคนิคต่างๆก็พัฒนาตามมาซึ่งค่าใช้จ่ายก็มีทั้งถูกและแพง เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และเมื่อความรู้การแพทย์พัฒนาขึ้นอีกก็พบว่าปัจจัยอื่นๆ เช่น พฤติกรรมสุขภาพ สภาพเศรษฐกิจสังคม สภาพแวดล้อมล้วนส่งผลต่อสุขภาพได้

การป้องกันโรคจึงมีทั้งการป้องกันโรคโดยใช้เทคโนโลยีการแพทย์ซึ่งมีต้นทุนราคา และการป้องกันโรคโดยใช้วิธีการสาธารณสุขเพื่อเข้าควบคุมความสะอาดสาธารณะ รวมถึงใช้มาตรการด้านให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประ���าชน การป้องกันโรคเองจึงมีความซับซ้อนมากขึ้นและไม่สามารถผลักภาระให้ปัจเจกชนทำคนเดียวและต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐด้วยเช่นกัน            

การป้องกันโรค: รัฐกับการแทรกแซงเสรีภาพประชาชน

การป้องกันโรคในด้านหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจส่วนบุคคล และต้องใช้อำนาจส่วนรวม อำนาจการเมืองเข้ามาจัดการบริหารพื้นที่สาธารณะที่ส่งผลต่อประชาชนในสังคม ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการใช้อำนาจของส่วนร่วมเข้ามาแทรกแซงอำนาจของปัจเจกชนรวมถึงสิทธิเอกชนและสิทธิเหนือร่างกาย ซึ่งการป้องกันโรคฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่ใช้กำลังบังคับให้คนทำตามเท่านั้นก็พอ ดังนั้นในสมัยยุคบ้านเมืองไม่มีประชาธิปไตย รัฐบาลอำนาจนิยมมักจะให้ความสำคัญของผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์เอกชนและพร้อมที่จะละเมิดกรรมสิทธิ์เอกชนได้เสมอโดยมิได้รับการยินยอม เช่น การออกกฎหมายบังคับพฤติกรรมสุขภาพของแต่ละบุคคลในสมัยนาซีเยอรมัน

อย่างไรก็ตามสังคมไทยรวมถึงเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในไทยได้พัฒนาขึ้นมาก สังคมไทยไม่อาจย้อนหลังไปสู่สังคมที่รัฐเข้าควบคุมพฤติกรรมสุขภาพได้เต็มรูปแบบได้อีกแล้ว ถึงแม้ผลกระทบของการสูบบุหรี่มีมากและมีผลงานวิจัยยืนยัน รัฐในปัจจุบันก็มิอาจออกกฎหมายบังคับห้ามทุกคนสูบบุหรี่ได้ เพื่อส่งเสริมการป้องกันโรครัฐจึงทำได้โดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์แก่ประชาชน เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นประโยชน์และปฏิบัติคล้อยตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานานกว่าจะชักชวนให้แต่ละคนเลิกนิสัยเก่าๆ รัฐต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเข้าไปเปลี่ยนความเชื่อในการป้องกันโรคแบบผิดๆของประชาชนที่ไม่วางอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น การใช้อำนาจเวทย์มนต์ น้ำมนต์ในการป้องกันโรค การป้องกันโรคด้วยวิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพถึงแม้จะมีผลดีมหาศาลในอนาคต แต่ก็ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างสูงเช่นกัน และกิจกรรมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ เช่น สื่อการสอน การโฆษณา การให้การศึกษา การลงทุนและการวิจัยป้องกันโรค ล้วนเป็นต้นทุนรัฐเช่นกัน

รัฐกับความคุ้มค่าการลงทุนในการป้องกันโรค

เมื่อการป้องกันโรคเป็นการร่วมมือระหว่างส่วนรวมและปัจเจกชนแล้ว และก็มีต้นทุนในการใช้จ่าย ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะลงทุนป้องกันโรคใดๆด้วยวิธีการใดๆก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้ารัฐผลักภาระเรื่องการป้องกันโรคให้แต่ละคนรับผิดชอบเองก็ต้องให้เอกชนตัดสินใจเองตามกลไกตลาด ตามความพึงพอใจของแต่ละคน อย่างไรก็ตามการผลักภาระให้เอกชนแบบเต็มที่อาจจะส่งผลเสียตามมาโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงการป้องกันโรคราคาแพงได้ เช่นการตรวจ Mammogram คัดกรองเต้านมที่ราคาราวสามพันสี่พันบาท แต่ถ้ารัฐบาลเลือกที่จะออกนโยบายป้องกันโรคใดให้เป็นสิทธิถ้วนหน้าแล้วก็ต้องเปรียบเทียบว่าถ้านำไปใช้กับโปรแกรมการตรวจคัดกรองโรคอื่นจะเกิดประโยชน์กว่าหรือไม่ ในขณะที่ถ้าขยายการป้องกันโรคให้ครอบคลุมประชากรมากขึ้นเรื่อยๆย่อมหมายถึง จำนวนเงินที่ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการป้องกันโรคจะมีราคาแพงมากในโรคที่อุบัติการณ์ต่ำและค่ารักษาไม่แพง ตรงกันข้ามการป้องกันโรคจะมีความคุ้มค่าในโรคที่มีอุบัติการณ์สูงและมีค่ารักษาราคาแพง

 การป้องกันโรคจึงต้องชั่งน้ำหนักด้วยเช่นกันระหว่างความเท่าเทียมประชาชนทุกคนกับความคุ้มทุน ประสิทธิภาพของการใช้เงินภาษี ถึงแม้ "มาตรการกันไว้ดีกว่าแก้" จะช่วยประหยัดค่ารักษาได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกรายการป้องกันโรคที่ต้นทุนจะถูกกว่าค่ารักษาเสมอไป

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog