ไม่พบผลการค้นหา
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ชื่อเสียงของทนายความหญิงคนดัง อาจจะช่วยให้ทั่วโลกหันมาสนใจคดีนักข่าวเมียนมา ถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมกันมากขึ้น

'อามาล คลูนีย์' ทนายความสิทธิมนุษยชนของสำนักงานกฎหมายโดห์ตีสตรีทแชมเบอร์ของอังกฤษ ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะภรรยาของจอร์จ คลูนีย์ นักแสดงชายชื่อดังชาวอเมริกัน รับเป็นที่ปรึกษาให้แก่ทีมทนายความในคดีนายวา โลน และนายจอ โซ อู ผู้สื่อข่าวชาวเมียนมา 2 รายของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งถูกจับกุมและคุมขังในเรือนจำนครย่างกุ้งตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2560 ในข้อหาครอบครองข้อมูลลับของทางราชการ 

กองบรรณาธิการรอยเตอร์ยืนยันว่าการจับกุมผู้สื่อข่าวทั้งสองรายเป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐบาลเมียนมา เข้าข่ายละเมิดสิทธิและเสรีภาพสื่อ เพราะข้อมูลที่ทั้งสองคนครอบครอง ได้มาจากการลงพื้นที่และบันทึกปากคำผู้เห็นเหตุการณ์ ขณะกองทัพรัฐบาลเมียนมาจัดตั้งกลุ่มพลเรือนชาวพุทธเพื่อก่อเหตุสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา เมื่อปีที่แล้ว

อามาล คลูนีย์ ระบุว่าเธอได้รับรายละเอียดในคดีของวา โลน และจอ โซ อู เรียบร้อยแล้ว พบว่าทั้งคู่ถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวตามปกติ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเก่าแก่ที่มีบทลงโทษสูงสุดคือการจำคุก 14 ปี เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ


"ผลการพิจารณาคดีนี้จะเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าเมียนมายึดมั่นในหลักนิติรัฐและเคารพในสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจริงหรือไม่" คลูนีย์กล่าว


ขณะที่ เกล โกฟ หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของรอยเตอร์ในอังกฤษระบุว่า ทีมกฎหมายจะเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายกฟ้อง และปล่อยตัวนักข่าวทั้งสองรายโดยเร็วที่สุด ทั้งยังเชื่อว่าชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญของอามาล คลูนีย์ จะช่วยให้การเจรจาต่อรองทางกฎหมายลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยผู้พิพากษาเมียนมานัดเบิกตัวทั้งสองคนมาขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 4 เม.ย. 2561

ทั้งนี้ นักข่าวรอยเตอร์ทั้ง 2 รายถูกตั้งข้อหาครอบครองข้อมูลของทางราชการ เนื่องจากทั้งคู่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับวิกฤตโรฮิงญารอบใหม่ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. 2560 หลังกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) ก่อเหตุโจมตีด่านตรวจและค่ายทหารในรัฐยะไข่รวมเกือบ 30 จุด ทำให้กองทัพรัฐบาลเมียนมานำกำลังตอบโต้ โดยมีการใช้อาวุธขับไล่ จับกุม ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน เผาบ้านเรือน และสังหารหมู่พลเรือนชาวโรฮิงญาจำนวนมาก ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหนีภัยไปยังบังกลาเทศเกือบ 700,000 คน

ข้อมูลที่นักข่าวรอยเตอร์ทั้ง 2 รายบันทึกไว้ได้ มีทั้งภาพถ่ายและเสียงบันทึกคำให้การของชาวพุทธในรัฐยะไข่ ซึ่งยอมรับเขาเข้าร่วมในการสังหารหมู่ชายชาวโรฮิงญา 10 คนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง หลังได้รับคำสั่งจากทหารของกองทัพบกเมียนมา และทางกองทัพไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการสังหารหมู่ แต่ระบุว่าผู้ที่ถูกสังหารเป็นกลุ่มติดอาวุธ ARSA และเจ้าหน้าที่ต้องป้องกันตัว แต่คำให้การของชาวบ้านระบุว่า ชาวโรฮิงญาที่ถูกฆ่าเป็นพลเรือนธรรมดา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: