ไม่พบผลการค้นหา
ใกล้วันครบรอบหนึ่งปีการปราบปรามโรฮิงญา สถานการณ์เริ่มเครียด ขณะที่เสียงเรียกร้องให้เอาผิดทหารเมียนมาหนาหูขึ้นถึงขั้นระบุชื่อตัวบุคคล ด้านกระบวนการส่งตัวผู้ลี้ภัยโรฮิงญาหลายแสนจากบังกลาเทศกลับบ้านไม่คืบหน้า

สื่อหลายกระแสรายงานว่า สถานการณ์ในรัฐยะไข่เริ่มทวีความตึงเครียด เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของเมียนมาเข้าดูแลพื้นที่ใกล้ชิดในช่วงที่ใกล้จะถึงวาระครบรอบหนึ่งปีของเหตุการณ์โจมตีเจ้าหน้าที่โดยกองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญาอาระกัน หรือเออาร์เอสเอ (ARSA) เมื่อ 25 ส.ค.2560 ซึ่งส่งผลให้ทหารเมียนมาดำเนินการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างหนัก จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งที่หนีตายไปอยู่ในค่ายในบังกลาเทศ ซึ่งรายงานระบุว่าตัวเลขโดยรวมทั้งระลอกเก่าและใหม่รวมกันแล้วประมาณ 700,000 คน

อีกด้าน หลายองค์กรได้ออกมาเรียกร้องให้นานาชาติกดดันเมียนมาเพิ่มเติมเพื่อให้เปิดรับโรฮิงญา พร้อมทั้งเอาผิดผู้ที่มีส่วนในการปราบปรามสังหารพวกเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์เชิญชวนสมาชิกให้ร่วมรณรงค์เรียกร้องในเรื่องนี้ โดยแอมเนสตี้กล่าวว่ากลุ่มสามารถระบุตัวบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการก่ออาชญากรรมดังกล่าวได้ถึง 13 คน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ดำเนินการเองหรือว่าที่ได้รับคำสั่งจากผู้อื่น นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้สหประชาชาติจัดตั้งกลไกขึ้นมาจัดเก็บข้อมูลหลักฐาน รวมทั้งรักษาพยานหลักฐานของการประกอบอาชญากรรมเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินคดีในอนาคต

ในด้านมาตรการนั้น มีบางประเทศใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่เมียนมา เมื่อ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรนายทหารเมียนมา 4 นาย รวมไปถึงผู้บัญชาการตำรวจป้องกันชายแดน รวมทั้งกองกำลังทหารอีกสองหน่วยด้วยกัน ขณะที่แคนาดากับสหภาพยุโรปดำเนินการกับนายทหาร 7 นาย การใช้มาตรการคว่ำบาตรนี้ สหรัฐฯ บอกว่าเพราะเป็นผลจากสิ่งที่กองทัพเมียนมาดำเนินการกับโรฮิงญาและกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะโรฮิงญาเท่านั้น 

รบ.เมียนมายื่นขอเพิ่มตำแหน่งให้ซูจี

นิวยอร์กไทม์สระบุชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาทั้งสี่คนว่า มีอ่อง จอ ซอ ถัดมาคือขิ่น หม่อง โซ และขิ่น หล่าย รวมถึงทูระ ซัน ลวิน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจป้องกันชายแดน นอกจากนั้นยังมีกองกำลังทหารราบที่ 33 และกองกำลังทหารราบที่ 99 ด้วย ข่าวไม่ระบุว่าทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ที่จะได้รับผลกระทบมีอะไรบ้าง แต่ข่าวชี้ว่าการระบุชื่อหน่วยทหารจะทำให้กองกำลังของสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศยากจะซ้อมรบกับหน่วยงานเหล่านี้ของเมียนมาได้ 

นอกจากนั้น รายงานของนิวยอร์กไทม์สกล่าวด้วยว่า ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังทำเนื้อหารายงานเรื่องการปราบปรามโรฮิงญาในเมียนมา คาดว่าจะเผยแพร่ในสัปดาห์หน้า ประเด็นที่น่าจับตาคือ สหรัฐฯ จะระบุชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติมหรือไม่ และจะใช้คำว่า 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' กับเหตุการณ์ปราบปรามโรฮิงญาหนนี้หรือไม่ 

ในขณะที่มีแรงกดดันให้เอาผิดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามชาวโรฮิงญา อีกด้านก็ปรากฎรายงานข่าวปัญหาในการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับประเทศที่ดูจะไม่คืบหน้า รอยเตอร์รายงานว่า อองซานซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาว่าปกป้องทหารที่ปราบปรามโรฮิงญา เธอได้ไปร่วมงานที่สิงคโปร์และได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับทหาร อองซานซูจีกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจะเป็นหนทางทำให้มีการลดทอนอำนาจของทหารได้ แต่นางซูจีก็กล่าวถึงความสัมพันธ์กับทหารในเวลานี้ว่า “ไม่เลวเลยทีเดียว” (not that bad) นอกจากนั้น ทหารที่นั่งร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีของเธอก็ “ค่อนข้างน่ารัก” ( rather sweet ) อีกด้วย 


นางซูจีกล่าวถึงความสัมพันธ์กับทหารว่า “ไม่เลวเลยทีเดียว" ส่วนทหารที่อยู่ในคณะรัฐบาลก็ "ค่อนข้างน่ารัก"


รอยเตอร์ระบุว่า นางซูจียังคงพูดเหมือนเดิมกับปัญหาโรฮิงญา เธอยืนยันว่าภัยจากการก่อการร้ายยังคงมีอยู่ และประเทศต้องจัดการกับภัยอันนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป และปัญหานี้ไม่ได้เป็นภัยต่อเมียนมาเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ รอบตัวด้วย เธอบอกว่า สังคมควรจะให้ความสนใจด้วยว่าในรัฐยะไข่ไม่ได้มีเพียงมุสลิม แต่มีชนกลุ่มอื่นๆ ด้วยที่อยู่กันอย่างยากลำบาก ซูจีบอกว่า สำหรับโรฮิงญาที่หลบหนีภัยนั้น รัฐบาลเมียนมาตระเตรียมพื้นที่ไว้รองรับพวกเขาแล้ว เธอไม่ได้ระบุกรอบเวลา แต่บอกว่าจะทำเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับบังกลาเทศ เพราะเป็นฝ่ายส่งคนกลับ

คาดชาวโรฮิงญาหนีเข้าบังกลาเทศเกิน1ล้านคนสิ้นปีนี้

แต่ข่าวจากทางด้านบังกลาเทศกลับระบุว่า สถานการณ์ในพื้นที่ในเมียนมาดูจะไม่พร้อมในอันที่จะรับโรฮิงญากลับบ้าน เว็บไซต์ของเรดิโอฟรีเอเชียอ้างเจ้าหน้าที่บังคลาเทศ 'ฮาบิบู คาบี ชอว์ดูรี' รัฐมนตรีผู้ดูแลกิจการภัยฉุกเฉินของบังกลาเทศที่นำคณะเดินทางไปสังเกตการณ์ความพร้อมในเมียนมาเมื่อ 9-12 ส.ค.ที่ผ่านมา บอกว่า เจ้าหน้าที่ทหารเมียนมาพาคณะของเขาไปดูพื้นที่ 5 จุดในเมืองซิตตเว รวมทั้งพื้นที่ที่มุสลิมอาศัยอยู่ เขาบอกว่าบ้านเรือนของมุสลิมถูกปิดกั้น ร้านค้ายังปิด ทุกอย่างเงียบเชียบ ดูไม่มีลู่ทางที่จะอยู่อาศัยทำมาหากิน 

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่บังกลาเทศที่ร่วมทางไปด้วยเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทางการเมียนมาพาพวกเขาไปเยี่ยมเยียนชุมชนมุสลิมแห่งหนึ่งซึ่งดูเหมือนผู้ที่อาศัยอยู่หลายคนมีฐานะ แต่ว่าพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ไปไหน ทางการไม่อนุญาตให้ใครไปเยี่ยมคนเหล่านั้น พวกเขาอยู่ได้ด้วยสิ่งของที่องค์กรความช่วยเหลือนำไปให้ คณะได้เห็นร่องรอยมัสยิดที่ถูกเผา และเห็นว่าโรฮิงญาที่อยู่ในค่ายในบังกลาเทศคงจะไม่ต้องการกลับบ้านเพราะไม่มีโอกาสที่พวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ได้ 

ยิ่งกว่านั้น เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์์ออกแถลงการณ์ที่บอกว่าได้สัมภาษณ์ชาวโรฮิงญา 6 คนซึ่งเดินทางจากบังกลาเทศกลับไปเมียนมา พวกเขาอ้างว่าถูกควบคุมตัวและทรมานเพื่อให้ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มกองกำลังเออาร์เอสเอ จากนั้นถูกดำเนินคดีในข้อหาข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายและถูกตัดสินจำคุกสี่ปี แต่ต่อมาทางการได้อภัยโทษ ปล่อยตัวพวกเขาเพื่อจะพาไปปรากฎตัวต่อนักข่าวต่างประเทศเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าได้ปฏิบัติอย่างดีต่อโรฮิงญา คนเหล่านั้นหนีออกนอกประเทศในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: