ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน นปช. แนะนายกรัฐมนตรีควรคำนึงถึงจริยธรรมทางการเมือง ลาออกจากนายกรัฐมนตรี เปิดทางเลือกตั้งยุติธรรม เหตุ คสช. มีอำนาจ ม.44 เหนือ กกต. และเอาเปรียบพรรคอื่น

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าจะสังกัดพรรคการเมืองในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี สอดรับกับที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐได้ประกาศว่าจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และเจ้าตัวเองก็ไม่เคยปฏิเสธใดๆ สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นผู้แข่งขันชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะมาทำหน้าที่กรรมการใดๆ ไม่ได้อีกต่อไป

โดยปกติแล้ว สถานะของรัฐบาลรักษาการที่ผ่านมาต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ กกต. ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณ หรือการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ แต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งหมายความว่า กกต. ทั้ง 7 คนก็จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจของ คสช. ด้วย กลายเป็นว่าผู้สมัครของพรรคการเมืองจะมีอำนาจปลด กกต. ได้ ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงคำว่า 'จริยธรรมทางการเมืองและคำว่าธรรมาภิบาล'

นายจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่า ผู้สมัครจากทุกพรรคการเมืองอื่นอยู่แล้ว เพราะยังไม่ทันที่จะมีการเลือกตั้งก็มี ส.ว. แต่งตั้ง 250 เสียง ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นเริ่มต้นจากศูนย์ ดังนั้น จึงต้องตัดสินใจและกล้าที่จะเสียสละเข้าสู่สนามการแข่งขันอย่างยุติธรรม ด้วยการสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. 

นายจตุพร ยังเสนอว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ควรพิจารณาไม่เข้าร่วมการประชุมร่วมระหว่าง คสช. กกต. และพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ด้วย เพราะตัวเองก็เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีผลประโยชน์ทับซ้อนในฐานะตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ อีกทั้งยังไม่ควรมองว่า การที่พรรคการเมืองไม่เข้าร่วมการประชุมนั้นเป็นเพราะไม่ต้องการที่จะเลือกตั้ง แต่เป็นเพราะทุกพรรคการเมืองต้องการการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม ไม่ใช่การเลือกตั้งที่เอารัดเอาเปรียบ ที่ผู้เล่นจะเป็นกรรมการไปพร้อมกัน 

'เพื่อชาติ' ไม่ร่วมวงประชุม 7 ธ.ค. ชี้เป็นแค่เวทีสร้างความชอบธรรมให้ คสช. 

ด้าน นางสาวเกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ เปิดเผยว่า พรรคมีมติที่จะไม่เข้าร่วมการประชุมพรรคการเมือง ที่จัดขึ้นโดย คสช. ในวันที่ 7 ธ.ค. นี้ เนื่องจากเห็นว่า คสช.ตั้งธงการพูดคุยไว้แล้ว เพียงแต่เชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมเพื่อรับฟังสิ่งที่ คสช.ต้องการ ไม่ได้ต้องการรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองอย่างแท้จริง จึงไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าร่วมการประชุมที่เหมือนจัดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับข้อเสนอของ คสช. ซึ่ง คสช.เองก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับการเลือกตั้ง และมีกระบวนการหลายอย่างที่ส่อให้เห็นถึงการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช.เป็นแกนนำ และจะเสนอชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ แต่ในการประชุมกลับมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในการประชุม ดังนั้น จึงไม่ขอเข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่ คสช.ต้องการ 

พรรคเพื่อชาติยังขอเรียกร้องให้ คสช.ยุติการแทรกแซงกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และถอยหลังไปเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ และหากหัวหน้า คสช.ต้องการเข้าสู่อำนาจ ก็ขอให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อมาสู้ในสนามอย่างฟรีและแฟร์ ไม่ใช้นโยบาย งบประมาณของรัฐ สร้างความได้เปรียบให้กับพรรคพวกของตัวเองอย่างที่เห็นกันอยู่ รวมถึงเร่งปลดล็อคพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ เพื่อให้การเลือกตั้งนำบ้านเมืองไปสู่ทางออกของความขัดแย้ง