ไม่พบผลการค้นหา
พรรคพลังประชารัฐ เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการประกาศลาออกของ 4 รัฐมนตรี ตามด้วยการประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรค ตามด้วยการประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. กทม.ครบถ้วนทุกเขต และถือฤกษ์ 1 ก.พ.เข้าทำเนียบ ส่งเทียบเชิญ “ประยุทธ์” นั่งเบอร์ 1 บัญชีนายกของพรรค  ทว่ามวลฝุ่นที่คลุ้งทั่วกรุงเทพ-หัวเมือง ได้ส่งผลต่อกระแสความนิยมของพรรคพลังประชารัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นักวิชาการชื่อดังคนหนึ่งจาก รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งข้อสังเกตทางโลกออนไลน์ สั้นๆ แต่คมคายว่า “มวลน้ำเคยทำให้รัฐบาลหนึ่งเสียจังหวะรุก เรามาดูกันว่า มวลฝุ่นจะส่งผลประการใดในทางการเมือง เมื่อมันกระจายปกคลุมพระนครและปริมณฑลโดยทั่วถึง”

เพื่อจะตอบคำถามนี้ อาจต้องย้อนดูความเป็นเนื้อเดียวกันระหว่าง “รัฐบาลประชารัฐ” ​และ “พรรคพลังประชารัฐ” เพราะความเป็นเนื้อเดียวกันทำให้เลี่ยงผลกระทบระหว่างกันไปได้ยาก

รัฐประยุทธ์ ประกาศนโยบายเป็นแผง-เป็นธีมโดยใช้ชื่อเรียกว่า “นโยบายประชารัฐ” และเรียกวิธีการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ/เอกชน(ทุนใหญ่)/ชุมชนว่า “การทำงานแบบประชารัฐ”

เมื่อนักข่าวถาม นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันถึงความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐบาลกับพรรคการเมืองบางพรรคที่ดูแนบแน่นกันเป็นพิเศษ

“ประยุทธ์” ตอบทันที ในระหว่างจิบชาก่อนขึ้นปาฐกถาว่า “ส่วนนโยบายประชารัฐที่ไปพ้องกับชื่อพรรคการเมือง พรรคดังกล่าวมาทีหลังไม่ใช่หรือ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกัน นโยบายประชารัฐทำกันมานานแล้ว นักการเมืองก็ไปหาชื่อให้สอดคล้อง อย่างพรรคไทยรักษาชาติสื่อก็รู้ว่าตั้งมาอย่างไร แล้วตัวย่อ ทษช.มาจากอะไร”

แม้ท่านผู้นำจะยืนกรานแบบขอไปที ทว่าในเวทีการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ชัดยิ่งกว่าชัด

พรรคพลังประชารัฐ ขายภาพความเป็นเนื้อเดียวกันกับรัฐบาลเต็มที่ ตั้งใจอาศัย “ผู้นำคนดี-นโยบายที่เชื่อว่าดี-ความสงบทางการเมือง” มาหาเสียงทางการเมือง

“สมศักดิ์ เทพสุธิน” ในฐานะ “ประธานคณะกรรมยุทธศาสตร์รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ” ได้ปราศรัยที่จังหวัดนครปฐม ต่อหน้าประชาชนร่วมพันคน เขายืนยันว่า การเลือกพรรคพลังประชารัฐ ก็คือการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 1 สมัย

“การเลือกพรรคพลังประชารัฐ ก็คือการสนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัย แม้วันนี้พรรคพลังประชารัฐ​ยังมีคนรักไม่มากอย่างพรรคการเมืองเก่า แต่เราขอเป็นทางเลือกที่สำคัญในการยกระดับความมั่นคง การกินดีอยู่ดีของชาวบ้าน เรายินดีที่จะทำงานหนักให้สำเร็จ เพราะพรรคพลังประชารัฐ มีบุคลากรที่มีความสามารถ รอบด้านทั้ง เศรษฐกิจ สังคม เกษตรกรรม พร้อมทำงานช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านวิกฤติ”

สอดรับ กับ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรค พปชร. ที่ให้เหตุผลว่า

“เหตุที่พรรคเชิญ พล.อ.ประยุทธ์และนายสมคิด เพราะมีความรู้ความสามารถที่จะบริหารนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ 2.เป็นบุคคลที่ประชาชนชื่นชอบ 3.มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และการทำงานที่ผ่านมามีจริยธรรม ถือเป็นคุณสมบัติหลักในการพิจารณา”

ขณะที่ในป้ายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ มีการชูสโลแกน “ทางเลือกใหม่ ของการเมืองไทย ก้าวข้ามความขัดแย้ง นำชาติสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน”

ขายนโยบายคุ้นหู-คุ้นตา ในป้ายหาเสียง เช่น อายุ 65 ปีขึ้นไป ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล 1,500/คน,เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000/เดือน, สวัสดิการ อสม. 1,000/เดือน,ไทยนิยมยั่งยืน จ้างงานสร้างรายได้ในหมู่บ้าน, ศูนย์ดำรงธรรมแก้ไขหนี้นอกระบบ รับเรื่องราวร้องทุกข์ ไปจนถึงการชูบัตรคนจน รัฐช่วยเหลือครัวเรือน ค่าไฟฟ้า 230 บาท ค่าน้ำประปา 100 บาท  เหล่านี้ถือเป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาลปัจจุบันอย่างปฏิเสธได้อย่าง

เมื่อหาญกล้า ตั้งพรรคชื่อพรรคพลังประชารัฐ มาสานต่อนโยบายประชารัฐ

ทั้งหาญกล้า แปลงร่างจาก “กรรมการกลาง” เป็น “ผู้เล่นตัวจริงในสนาม”

ก็ต้องหาญกล้า ที่จะแบกรับปัจจัยลบอันเป็นผลจากรัฐบาลประยุทธ์-คสช.ให้ได้

เมื่อผูกติดกันเหนียวแน่นเช่นนี้ ผลกระทบที่เกิดอีกฝั่ง ย่อมลากไปสู่อีกฝั่งอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ทำให้ทุกผลงานของรัฐบาลในเวลานี้ มีผลต่อคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐโดยปริยาย โดยเฉพาะ ความสามารถในการบริหารวิกฤติฝุ่นพิษ ซึ่งกำลังคลุ้งทั่วเมืองและพัดพาความนิยมไปจากรัฐบาลประชารัฐ-พรรคพลังประชารัฐ มากขึ้นทุกวัน

ในโลกทวิตเตอร์ มีผู้ใช้ทวิตรายหนึ่งโพสต์สั้นๆ แต่คนรีทวิตไปมากกว่า 2,000 ครั้ง ข้อความคือ “เขาปล่อยให้เราตายกับฝุ่น พวกเรายังจะเลือกเขาอยู่อีกหรอ”

วิธีการบริหารวิกฤติฝุ่นพิษของรัฐบาล นำไปสู่คำถาม-ข้อวิจารณ์ในหลายประเด็น โดยเฉพาะในโลกทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ ตัวอย่างที่ยกมาต่อไปนี้ ล้วนได้รับการทวิตซ้ำหลักร้อย-หลักพัน และสะท้อนถึงความเห็นของผู้คนต่อรัฐบาลได้ดี

นักวิชาการคนหนึ่งทวิตว่า “สถานการณ์เรื่อง #ฝุ่นPM25 ตอนนี้ มันไม่ได้สะท้อนแค่ค.ด้อยประสิทธิภาพของรัฐราชการแบบไทยๆในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น แต่มันสะท้อนอย่างแจ่มชัดมากๆว่าผู้มีอำนาจไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับค.ทุกข์+ ค.เดือดร้อนของปชช.”

ผู้ใช้ทวิตรายหนึ่งแชร์ภาพกำหนดการพิธีเปิดกิจกรรม “ป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ” (PM 2.5) พร้อมเขียนกำกับว่า “ไทยแลนด์มาก จะฉีดน้ำแก้ปัญหาฝุ่น ยังต้องมีพิธีเปิดอีก”

https://lh4.googleusercontent.com/aftf6fd_REUpD5f_mfjp8v9whkI-YxKIdA7UWu2SE4xySTqnr0OsJ8UWTneFl93JaV_1-CaoVg-4FsetJyaTgxXQBrg_elXSOdrmjJS6UUqua5x3e99if4k4ENP0iXa8uYs0CURD

หรือ “ใครบอกเผด็จการดีแล้วเพราะแก้ปัญหาได้เร็ว จะเอาเรื่องฝุ่นฟาดหน้า นี่คือชอทที่บอกได้ชัดเจนมากอีกครั้งว่ารัฐบาลทหารทำเพื่อใคร ไม่รู้นะว่าเพื่อใคร แต่คนนั้นไม่ใช่ประชาชนและมันไม่เคยใช่ ตื่นได้ละ5555”

หรือ “กรุงเทพขึ้นอับดับที่ 4 เมืองอากาศแย่ที่สุดในโลก รัฐบาลกำลังเผชิญกับบททดสอบครั้งสำคัญก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะตัว”ประยุทธ์”ที่เตรียมจะเป็นแคนดิเดตนายก การแก้ไขปัญหาต้องจริงจัง จะมาตลกไม่ได้แล้ว รอดูมาตรการจากผู้มีอำนาจครับ อำนาจเต็มซะด้วย #ฝุ่นPM25”

“กรุงเทพมหานคร” เป็นหนึ่งในสมรภูมิสำคัญที่ พรรคพลังประชารัฐ หวังพิชิตให้ได้ ในฐานะที่อาจกล่าวได้ว่า ฐานความนิยมของพรรคนี้ อยู่ที่นี่มาโดยตลอด นับตั้งแต่เป่านกหวีดลุงกำนัน ลากยากมาจนถึงการหนุนให้ รัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจมาได้ยาวไกลถึงขณะนี้

ทว่ามวลฝุ่น effect อาจทำให้ชนชั้นกลางเมืองตัดสินใจใหม่ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เพราะผลกระทบครั้งนี้มาถึงตัวพวกเขาโดยตรง ภาพผู้คนใส่แมส/หน้ากาก ในทุกหนทุกแห่งของเมืองหลวงบอกเล่าเรื่องราวได้ดี

กระทั่ง “อัศวิน ขวัญเมือง” ที่ย้ายค่ายจากลูกหม้อพรรคสีฟ้า ไปรับใช้พรรคสีเขียว และยอมเปลี่ยน “รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร” เพื่อให้มีตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐไปนั่งอยู่ด้วย ก็ได้รับผลกระทบในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง และจะกระทบรุนแรง เมื่อคราวอัศวิน ลงชิงชัยตำแหน่งผู้ว่า กทม.อีกรอบ ตามแผนที่วางไว้ในใจ

“ราคา” ของการบริหารวิกฤติในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ได้ล่าช้า และด้อยประสิทธิภาพ มีราคาสูงอยู่ทีเดียว

ตลกร้ายอีกหนึ่งเรื่อง “เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 62 ที่ สวนเบญจสิริ พรรคพลังประชารัฐเปิดตัวผู้สมัครในพื้นที่กทม. พร้อมกัน 30 เขต พร้อมเปิดนโยบาย BKK5.0 ยกระดับคนกรุง โดยนายพุทธิพงศ์  ได้เสนอโครงการลดปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะโครงการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ 50 เขตและนโยบายรถเก่าแลกส่วนลด 1 แสนลาท สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

ทว่ามีบางคนแซวกลับว่า ไหนไหนเสนอแล้ว ช่วยทำทันทีให้ดูเป็นตัวอย่างหน่อย เพราะผู้เสนอก็เป็นถึงโฆษกรัฐบาล น่าจะใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจที่พอจะบอกเล่าถึงหนทางแก้ไขปัญหาได้ … และหากใกล้ชิดกับอำนาจถึงเพียงนั้น แต่ไม่อาจผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงนี้ ก็เป็นคำถามต่อความไว้วางใจที่จะเลือก ประยุทธ์-และพรรคพลังประชารัฐให้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง

มวลฝุ่น effect สะท้อนความสามารถในการบริหารวิกฤติของรัฐบาลเผด็จการ และจะตีกลับเป็นปัจจัยลบต่อ กระแสความนิยมของพรรคพลังประชารัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทว่าเมื่อ ประยุทธ์ ตอบรับพรรคพลังประชารัฐเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเมื่อใด เมื่อนั้นจะยิ่งมีอีกหลายแรงปะทะ นอกเหนือ มวลฝุ่น effect  พัดพาไปหา ความว้าวุ่นใจของท่านผู้นำในเวลานี้ ดูได้ไม่ยาก ดูได้จากคำสบถ ระหว่างแถลงนโยบายวันนี้ว่า "จะไล่นายกฯออก ก็กฎหมายเขามาแบบนี้ มึงมาไล่ดูสิ ก็ไล่ให้ได้สิ ผมไม่ท้าทาย ผมไม่ออก”​!!


วยาส
24Article
0Video
63Blog