ไม่พบผลการค้นหา
เงินเฟ้อพื้นฐานในรอบปีหลุดกรอบแบงก์ชาติ ตัวเลข 12 เดือนข้างหน้ายังมีแนวโน้มติดลบ ธปท.แจง เป็นเพราะการชะงักตัวของ ศก.ย้ำยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาและประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

ระบุว่า ภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ประจำเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ติดลบร้อยละ 1.57 ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วไปในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา (ก.ค.2562 - มิ.ย.2563) ติดลบที่ร้อยละ 0.31

นอกจากนี้ รายงานนโยบายการเงินเดือน มิ.ย.ยังประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในอีก 12 เดือนข้างหน้า จะอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.9 ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินปี 2563 ที่กำหนดช่วงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ร้อยละ 1-3 

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชี้แจงว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่ากรอบที่วางไว้มาจากวิกฤตโรคระบาดเป็นสำคัญ เนื่องจากโควิด-19 ทำให้รัฐบาลหลายประเทศรวมถึงไทยต้องเลือกหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขจนเป็นที่มาของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ซ้ำร้าย ระยะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละที่ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน 

นอกจากนี้ กนง.แจงว่าอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่ากรอบล่างเป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานติดลบต่อเนื่องและรุนแรง รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังชะลอลงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลงตามการหดตัวของเศรษฐกิจไทยที่รุนแรงกว่าการคาดการณ์ โดยปัจจุบัน กนง.ปรับประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ตลอดทั้งปี 2563 ไว้ที่ติดลบร้อยละ 8.1 

อย่างไรก็ตาม กนง.แจงว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะ 12 เดือนข้างหน้าจะยังทรงตัวในแดนลบที่ร้อยละ 0.9 แต่ย้ำว่าสถานการณ์ปัจจุบัน "ไม่ได้แสดงว่าประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับภาวะเงินฝืด" (deflation risk) โดยพิจารณาจาก 4 เงื่อนไข ได้แก่

  • ราคาสินค้าและบริการไม่ได้มีแนวโน้มหดตัวยาวต่อเนื่อง
  • ราคาสินค้าและบริการหดตัวในบางประเภทเท่านั้น
  • คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปของสาธารณชนในระยะปานกลาง (5 ปี) ยังเป็นไปตามกรอบเป้าหมาย
  • อุปสงค์และการจ้างงานจะไม่ชะลอลงยาวนานต่อเนื่อง 

ดังนั้น สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อน่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 โดยส่วนหนึ่งต้องมาจากแนวนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างมาตรการทางการคลัง การเงิน รวมไปถึงมาตรการด้านสินเชื่อที่ตรงจุด 

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. อยู่ที่ร้อยละ 1.05 ก.พ.อยู่ที่ร้อยละ 0.74 ก่อนจะเริ่มปรับตัวติดลบในเดือน มี.ค.ที่ระดับติดลบร้อยละ 0.54 ตามมาด้วยตัวเลขติดลบร้อยละ 2.99 และ ติดลบร้อยละ 3.44 ในเดือน เม.ย.และ พ.ค.ตามลำดับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;