ไม่พบผลการค้นหา
เปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ Elect ให้ข้อมูลประชาชนให้เข้าถึงระบบเลือกตั้งแบบใหม่ พร้อมกระตุ้นไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้านนักวิชาการมอง กกต.ล้มเหลว ให้ข้อมูลเลือกตั้งแก่ประชาชน คาดสื่อใหม่จะช่วยให้ประชาชนไปเลือกตั้งสูงเกินร้อยละ 75

Boonmee lab พร้อมด้วย The Matter และ ไอลอว์ เปิดตัวเว็บไซต์ Elect.in.th เพื่อเป็นสื่อข้อมูลการเมืองและการเลือกตั้งของไทย และเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญไว้ใช้ค้นหาข้อมูลในระหว่างที่การเลือกตั้งทั่วไปของไทยจะมาถึงในรอบ 8 ปี

โดยนายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ The Matter ระบุว่า เว็บไซต์ Elect เกิดขึ้นเพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจระบบเลือกตั้ง ส่วนตัวเชื่อว่าคนไปเลือกตั้งไม่เยอะ ซึ่งเว็บนี้จะเล่าระบบการเลือกตั้งเพื่อให้เข้าใจว่าประชาชนมีความสำคัญต่อการเลือกตั้ง รวมทั้งเว็บไซต์ Elect จะทวงสัญญาการเลือกตั้งด้วย

เช่นเดียวกับ นายฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ผู้บริหาร Boonmee Lab ระบุว่า เว็บไซต์นี้จะสร้างแรงกดดันให้กับสังคม



เสวนา the matter


เสวนา the matter

นอกจากนี้ในงานยังมีเสวนาหัวข้อเปลี่ยนผลการเลือกตั้งด้วยพลังข้อมูล โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุการเลือกตั้งครั้งนี้จะเห็นสมรภูมิสื่อใหม่ครั้งแรก โดยเฉพาะฝั่งนักการเมืองประโยชน์ที่จะได้ทำให้มีการใช้สื่อมากขึ้น ในหลายประเทศสื่อหลักมีอคติถูกครอบครองโดยรัฐ ถูกเซ็นเซอร์ได้ง่าย แต่โซเชียลมีเดียไม่มีใครเป็นเจ้าของทำให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และสื่อของตัวเองมีแอปพลิเคชัน ไลน์ และ whatsapp ประชาชนในมาเลเซีย และอินโดนีเซียใช้ส่งต่อข้อมูลข่าวสารมากมาย ซึ่งเชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งได้ในครั้งนี้ 

"ผมมองว่าระบบเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.สอบตก เพราะนักศึกษาที่ตัวเองสอนไม่มีใครเข้าใจระบบเลือกตั้งครั้งนี้ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไร ดังนั้นการมีเว็บไซต์ หรือช่องทางใหม่ๆ จะทำให้ไม่ต้องรอ กกต." ผศ.ดร.ประจักษ์ ระบุ

เสวนา the matter

ผศ.ดร.ประจักษ์ ยังยกตัวอย่างสมัยรัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงคราม จะมีสื่อหลักคือหนังสือพิมพ์ และวิทยุ ขณะที่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรจะมีทีวีและหนังสือพิมพ์ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีโซเชียลมีเดีย ตนเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าร้อยละ 75 สูงกว่าเมื่อปี 2554 และ กกต.จะออกกฎมาควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียด้วย

ขณะที่นายสติธร ธนานิธิโชติ จากสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองให้นำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง ตนเห็นปรากฎการณ์ทั่วโลกจะเลือกใช้อาวุธใหม่ที่เรียกว่าโซเชียลมีเดียที่ทรงพลังที่สุดในเชิงปริมาณไปได้ทั่วถึงไม่เพิ่มภาระกับคนรับข้อมูล แต่ถ้าพรรคการเมืองใดใช้โซเชียลมีเดียตามกระแสก็จะล้มเหลวในวันที่ 24 ก.พ. 2562

พรรคการเมืองปลุกคนรุ่นใหม่เลือกตั้งเปลี่ยนแปลง - เลิกเกณฑ์ทหาร

จากนั้นมีการเสวนาหัวข้อ 'คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงการเมืองได้อย่างไรบ้าง' โดยนายขัญฐมาจณ์ ชูดวงเกียรติกุล พรรคกลาง ระบุว่า กกต.ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจการเลือกตั้ง ทั้งนี้คนรุ่นใหม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากชวนคนไทยไปเลือกตั้ง คนรุ่นใหม่อาจเห็นการเมืองเป็นเรื่องไกล และคนรุ่นใหม่ยังบอกว่าอยากเห็นการเลือกตั้ง

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส จากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า คนรุ่นใหม่สำคัญมากหลายธุรกิจเกิดขึ้นจากออนไลน์ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกพรรคให้ความสนใจเรื่อง LGBT และการเกณฑ์ทหาร ส่วนตัวไม่เห็นด้วยการเกณฑ์ทหารและเรียน รด. ทั้งนี้ ตนออกจากงานทั้งหมดเพื่อต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้บ้านเมือง พรรคเพื่อไทยมีตัวแทนระบบประชาชนที่แข็งแรง รับฟังเสียงประชาชนทุกวัน

เสวนา the matter

ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า เลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่พูดถึงคนรุ่นใหม่ โดยทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญคนรุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่ จำนวน 6.4 ล้านคนยังไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งคำนวณมาได้ส.ส. 90-100 ที่นั่ง ซึ่งคนรุ่นใหม่จำนวนนี้คือคนที่ถูกพรากสิทธิเลือกตั้ง สำหรับพรรคอนาคตใหม่มองว่าคนเหล่านี้สำคัญที่สุด ถ้าดูนักการเมืองอายุเฉลี่ยในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีประมาณ 63-64 ปี ขณะเดียวกันการเลือกตั้งครั้งนี้มีการบอกว่านโยบายปากท้องสำคัญที่สุด แต่ส่วนตัวมองว่าการเมืองแบบใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อหลายพรรคการเมือง เมื่อหลายพรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าควรยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเห็นตรงกันในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ