ไม่พบผลการค้นหา
รายงานธนาคารโลกบ่งชี้ว่า การพัฒนาและขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างไม่เป็นระเบียบอาจทำให้บางส่วนของกรุงเทพฯ ถูกน้ำท่วมถาวรภายในปี 2573 แต่การแก้ปัญหาด้วยระบบวิศวกรรมอย่างเดียวอาจไม่พอ และคนแถบชานเมืองจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

การประชุมเตรียมการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างตัวแทนภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชนในประเทศ ถูกจัดขึ้นที่สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4 - 6 ก.ย. 2561 โดยมีการเจรจาแลกเปลี่ยนความเห็น รวมถึงรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจาภสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่ที่โปแลนด์ช่วงปลายปีนี้ เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงลดโลกร้อนร่วมกัน 

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างอิงผลวิจัยและสำรวจด้านการพัฒนาเมืองของธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งเผยแพร่อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ากรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 3 เมืองใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เสี่ยงต่อการจมน้ำในอีกประมาณ 12 ปีข้างหน้า โดยอีก 2 เมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย และกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ โดยระบุว่า ทั้งสามเมืองมีการพัฒนาและขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็วแต่ไร้ระเบียบ 

รายงานของธนาคารโลกระบุด้วยว่า ภายในปี 2573 พื้นที่ร้อยละ 40 ของกรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหรือจมน้ำ เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้พายุฝนตกกระหน่ำทวีความรุนแรงขึ้นและคาดเดารูปแบบได้ยากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ปัญหาน้ำท่วมหรือดินทรุดก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น

"แก้ปัญหาด้วยระบบวิศวกรรมอย่างเดียวยังไม่พอ"

กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ และในอดีตกรุงเทพฯ อยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1.5 เมตร แต่ 'ธารา บัวคำศรี' ผู้อำนวยการองค์กรระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม 'กรีนพีซ' ประจำประเทศไทย ระบุว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลย กรุงเทพฯ อาจจะถูกน้ำท่วมขังถาวรภายในอีกประมาณ 10-15 ปีข้างหน้า เพราะการใช้ที่ดินเพื่อธุรกิจและการพัฒนาในปัจจุบัน รวมถึงการสูบน้ำบาดาลในอดีต ทำให้ดินในกรุงเทพฯ ทรุดตัวลงประมาณ 1-2 ซ.ม.ต่อปี ขณะที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 4 ซ.ม.

AFP-กรุงเทพ-เศรษฐกิจ-แม่น้ำ-เจ้าพระยา-อสังหาริมทรัพย์

ขณะที่ 'ณรงค์ เรืองศรี' ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันว่า กทม.มีการเตรียมการและมีการพัฒนาทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ 2526 เป็นต้นมา เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการระบายน้ำก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จากเดิมใช้ระบบคูคลองธรรมดา ไหลตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบัน มีการนำระบบสูบน้ำเข้าไปช่วย รวมถึงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ

อย่างไรก็ตาม 'ศุภกร ชินวรรโณ' ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า คูคลองหลายสายในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยถูกเรียกว่า 'เวนิซตะวันออก' ถูกถมเป็นถนนหนทางเพื่อรองรับการขยายตัวของการพัฒนาและชุมชนเมือง ทำให้พื้นที่รองรับหรือระบายน้ำในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ไม่เพียงพอ ขณะที่ตึกระฟ้าและอาคารต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างไม่เป็นระเบียบในหลายพื้นที่ ทำให้ดินทรุดตัวต่อเนื่อง น้ำจึงท่วมหนักขึ้นและบ่อยขึ้น

การจะรับมือหรือแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ไม่สามารถใช้วิธีทางวิศวกรรมได้เพียงอย่างเดียว เพราะคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ชั้นในจะได้รับการปกป้องอย่างดี เพราะเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ จึงมีการระบายน้ำและระบบกั้นน้ำเพียงพอ แต่คนที่อาศัยอยู่ชานเมืองกรุงเทพฯ ยังเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ศุภกรจึงระบุว่า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องคำนึงถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ รวมถึงต้องจัดการความเสี่ยงในสถานการณ์และบริบททางสภาพอากาศที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตด้วย

"อย่าปฏิเสธข้อเท็จจริงเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง"

ทั้งนี้ ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย ไม่ได้เกิดจากปัญหาการระบายน้ำหรือระบบบริหารจัดการน้ำเพียงอย่างเดียว แต่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ฤดูกาลในหลายพื้นที่เปลี่ยนไปจากเดิม บางพื้นที่อาจมีฝนตกน้อยลงจนเกิดภัยแล้ง และในบางพื้นที่อาจเกิดพายุฝนกระหน่ำรุนแรงจนเกิดอุทกภัย-วาตภัย และผู้นำหลายประเทศทั่วโลกก็ตระหนักว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไขโดยเร่งด่วน

AP-พายุหมุน-ธรรมชาติ-สหรัฐ-สภาพอากาศ

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย และจีน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญในแต่ละภูมิภาคของโลก กลับไม่สนับสนุนข้อตกลงปารีสภายใต้กรอบอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผู้นำทั้ง 4 ประเทศไม่ได้ให้สัตยาบันรับรอง ขณะที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากการเป็นภาคีทั้งที่เคยลงนามไปแล้ว เนื่องจาก 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ปฏิเสธว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง

ทรัมป์มองว่าภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นการสร้างความหวาดกลัวของกลุ่มผู้ต่อต้านการพัฒนา ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าของธุรกิจสหรัฐฯ ที่ต้องการปั่นป่วนอุตสาหกรรมถ่านหิน ด้วยการกล่าวหาว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอุตสาหกรรมเหล่านี้มีส่วนทำลายโอโซนและทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก

ทรัมป์ได้ประกาศให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากการเป็นภาคีข้อตกลงปารีสภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว ทำให้ผู้นำหลายประเทศประณามทรัมป์ เนื่องจากการถอนตัวของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นต้นตอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ ของโลก จะส่งผลให้การขับเคลื่อนมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดภาวะโลกร้อนไม่อาจประสบความสำเร็จได้

ด้วยเหตุนี้ ทิลเลปา ไซเลเล นายกรัฐมนตรีซามัว ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ จึงได้ตอบโต้ผู้นำทั้ง 4 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับความสำคัญในการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยระบุว่า ประเทศของเขาประสบปัญหาน้ำทะเลหนุนเอ่อเข้าท่วมหลายพื้นที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บ่งชี้ได้เป็นอย่าวดีว่าระดับน้ำทะเลนั้นเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้ายังมีคนที่ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่มองเห็นได้ด้วยตา ก็น่าจะลองไปตรวจสุขภาพจิตดูบ้างว่ายังดีอยู่หรือไม่

ที่มา: AFP/ Guardian/ World Bank

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: