ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลจีนเริ่มใช้ระบบจดจำใบหน้าในการยืนยันตัวตนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ท่ามกลางกระแสกังขาของประชาชนต่อการใช้งานข้อมูลของรัฐบาล

ล่าสุด ประชาชนในประเทศจีนจำเป็นต้องใช้ระบบสแกนใบหน้าเพื่อลงทะเบียนกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมเปิดเบอร์ใหม่ โดยเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐที่อ้างว่าต้องการระบุตัวตนและตรวจสอบผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศจำนวนหลายร้อยล้านคน 

กฎหมายนี้ออกมาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาและเริ่มมีผลจริงในวันอาทิตย์ (1 ธ.ค. 2562) นี้ โดยคำแถลงของรัฐบาลชี้ว่า กฎหมายนี้เป็นไปเพื่อต้องการ "ปกป้องสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายและความสนใจของประชาชนบนโลกไซเบอร์" 

แท้จริงแล้วระบบสแกนใบหน้าด้วยการจดจำใบหน้า (facial recognition) ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศจีนเพราะรัฐบาลเริ่มใช้ระบบดังกล่าวในการทำสำรวจสำมะโนประชากรมาแล้วก่อนหน้านี้ และยังเป็นประเทศผู้นำของโลกในการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลลักษณะทางกายภาพของประชาชน ทำให้เทคโนโลยีนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันมาตลอด

กฎใหม่ที่ประชาชนในจีนต้องยอมรับ

นอกจากจะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงมีการถ่ายรูปก่อนการซื้อบริการอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการ ต่อไปนี้ประชาชนในจีนจำเป็นต้องทำการสแกนใบหน้าเพื่อให้ระบบตรวจสอบการยืนยันตัวตน

มาตรการดังกล่าวเป็นการตอกย้ำความพยายามในการยืนยันตัวตนประชาชนของรัฐบาลจีน ในปี 2560 รัฐบาลออกมาตรการกดดันให้ใช้ชื่อจริงในโลกออนไลน์ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถโพสต์ข้อความในแพลตฟอร์มออนไลน์ได้

มาตรการดังกล่าวนี้เป็นการสั่งตรงและควบคุมโดยตรงจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมดูแลประชนที่ใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตได้

'เจฟฟรีย์ ติง' นักวิจัยชาวจีนจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลจีนคือการกำจัดผู้ใช้งานที่ 'ไม่ทราบตัวตน' บนโลกออกไลน์ออกให้หมด เพื่อลดการหลอกลวง อย่างไรก็ตาม ในอีกมิติหนึ่ง การกระทำเช่นนี้เป็นไปเพื่อติดตามประชาชน 'เจฟฟรีย์' กล่าวว่า "มันเป็นความพยายามควบรวมอำนาจในการติดตามสอดส่องประชาชนของรัฐ หรือไม่ก็เป็นเป้าหมายที่รัฐอยากจะไปให้ถึง" 

ในมิติของประชาชน ความกังวลเกี่ยวกับการสอดส่องการใช้งานอินเทอร์เน็ตสร้างความไม่สบายใจอยู่บ้าง แม้สื่อจะไม่ได้ตีข่าวเช่นนั้นในช่วงเดือนกันยายนที่มีการประกาศใช้กฎดังกล่าว

หนึ่งในผู้ใช้งานเว็บไซต์เว่ยป๋อของจีน กล่าวว่า "ผู้คนกำลังถูกจับตามองอย่างเข้มงวดขึ้น รัฐบาลกลัวอะไรกันแน่" ขณะที่บางคนก็ออกมาแสดงความไม่พอใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความยินยอมของประชาชน อย่างไรก็ตาม ประชาชนอีกหลายส่วนมองว่านี่เป็นเพียงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเท่านั้น 

แม้ความพยายามต่างๆในการระบุตัวตนของรัฐบาลจะถูกอ้างว่าเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ลดการฉ้อโกงบนโลกออนไลน์ แต่ประชาชนจีนจำนวนไม่น้อยก็เริ่มกลับมาสงสัยถึงความโปร่งใสในการใช้ข้อมูลเหล่านี้ของภาครัฐเองบ้างแล้ว 

อ้างอิง; BBC, SCMP