ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจระบบบำนาญใน 37 ประเทศทั่วโลก พบว่า ไทยติดอันดับท้ายสุด และตามหลังผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอาเซียนทุกประเทศ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างดัชนีบำนาญโลก ในชื่อ “Melbourne Mercer Global Pensions Index” ระบุว่า ประเทศไทยทำคะแนนได้ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศต่างๆ 37 ประเทศทั่วโลก คือ 39.4 คะแนน โดยประเทศที่ทำคะแนนได้สูงสุดคือ เดนมาร์ก กับเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้คะแนนเกิน 80 คะแนน

รายงานซึ่งจัดทำโดยศูนย์ศึกษาการเงินโมนาส ในสังกัดมหาวิทยาลัยโมนาส ประเทศออสเตรเลีย ฉบับนี้ ใช้ตัวชี้วัด 40 ตัวในการประเมินว่า แต่ละประเทศมีการเตรียมความพร้อมดีแค่ไหนในการปรับปรุงรายได้ของคนวัยเกษียณในขณะที่โลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ผลการศึกษา 37 ประเทศนี้ ครอบคลุมประชากร 2 ใน 3 ของโลก

ประเทศที่ติด 10 อันดับแรกในการจัดระบบบำนาญเพื่อรองรับการครองชีพของคนวัยเกษียณ คือ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา และชิลี

สำหรับประเทศในกลุ่มผู้ก่อตั้งอาเซียนนั้น สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 7 ตามด้วยมาเลเซีย (อันดับที่ 17) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 28) ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 34) และประเทศไทย (อันดับที่ 37)

ในกรณีประเทศไทย รายงานได้ศึกษาระบบรายได้ของคนวัยเกษียณโดยดูจากกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยเสนอแนะว่า รัฐบาลไทยควรออกกฎหมายบังคับให้มีการออมขั้นต่ำเพื่อการเกษียณ และควรเพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจ่ายในอัตราแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 600-1,000 บาท/เดือน.

ที่มา :  Bloomberg ; Monash Centre for Financial Studies