ไม่พบผลการค้นหา
ปี 2014 เป็นปีแห่งการสูญเสียของมาเลเซียแอร์ไลน์ หลังเที่ยวบิน MH370 'สูญหาย' ไปในเดือน มี.ค. และเที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตกในยูเครนเดือน ก.ค. มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 ราย และสายการบินไม่อาจชี้แจงรายละเอียดต่อสาธารณชนได้จนถึงทุกวันนี้

สหภาพแรงงานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินโดยสารแห่งมาเลเซีย (NUFAM) ออกแถลงการณ์เมื่อ 20 มิ.ย.2562 เรียกร้องให้คณะผู้บริหารสายการบินแห่งชาติ 'มาเลเซียแอร์ไลน์' ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานที่สหภาพฯ มองว่า 'ล้มเหลว' หลังจากสถาบันด้านการบิน 'สกายแทร็กซ์' เผยผลจัดอันดับสายการบินยอดเยี่ยม 100 แห่งของโลกประจำปี 2019 แต่สายการบินแห่งชาติอย่าง 'มาเลเซียแอร์ไลน์' ไม่ติด 20 อันดับแรก และเป็นภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

เนื้อหาในแถลงการณ์ของ NUFAM ระบุว่า มาเลเซียแอร์ไลน์เคยเป็นสายการบินที่ได้รับรางวัลและมีคะแนนด้านต่างๆ ติดอันดับต้นๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2014 เป็นปีสุดท้ายที่สายการบินถูกจัดอยู่ใน 20 อันดับสายการบินยอดเยี่ยมของโลก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าอาย และเป็นข้อบ่งชี้ว่ามีบางอย่าง 'ผิดปกติ' ในองค์กรที่ต้องได้รับการแก้ไข และคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันควรต้องแสดงความรับผิดชอบ

นอกจากนี้ NUFAM ยังได้ยื่นเรื่องให้รัฐบาลมาเลเซียจัดตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องการบริหารภายในของมาเลเซียแอร์ไลน์ตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว โดยระบุว่า พบเบาะแสเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรที่ผิดพลาดและการใช้ทรัพยากรของสายการบินอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

จนกระทั่งเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน ระบุว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับสายการบินแห่งชาติ ซึ่งข้อเสนอที่ได้รับมีทั้ง 'ปิดกิจการ' 'ปรับโครงสร้างองค์กร' รวมถึง 'ขายกิจการให้เอกชน' แต่ทางเลือกแรกถูกคัดค้านอย่างหนักจากประธานบริหารสายการบินคนปัจจุบัน 'อิซาม อิสมาอิล' โดยเขาเสนอว่าการควบรวมกิจการกับเอกชนอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด


ประเทศขึ้นชื่อเรื่องการทุจริต 'ปิดบังข้อเท็จจริง'

ภาวะถดถอยของมาเลเซียแอร์ไลน์เริ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อ 5 ปีก่อน หลังเกิดโศกนาฏกรรมกับลูกเรือและผู้โดยสาร 239 คน บนเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ ออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย เพื่อไปยังกรุงปักกิ่งของจีน สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2014

Clip Biz Feed : ปฏิรูปมาเลเซียแอร์ไลน์ฟื้นฟูภาพลักษณ์ได้? 
  • รัฐบาลมาเลเซียเผยว่ากำลังพิจารณาแผนกู้วิกฤตสายการบินแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงการเลิกกิจการและปรับโครงสร้างองค์กร

สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ถูกวิจารณ์ว่าไม่สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะครอบครัวของผู้ที่สูญหายไปพร้อมกับเที่ยวบินดังกล่าว ไม่ได้รับคำชี้แจงใดๆ ในช่วงแรก ทั้งยังไม่มีการรับผิดชอบดูแลความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ประกอบกับผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและมาเลเซียได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ไปด้วย 

เว็บไซต์ The Atlantic ซึ่งเผยแพร่รายงานล่าสุดเกี่ยวกับเที่ยวบิน MH370 เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2562 ระบุว่า หน่วยงานรัฐบาลมาเลเซียไม่ได้เป็นผู้นำการแกะรอยเส้นทางการบินของเครื่องโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน MH370 แต่องค์กรและผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสมาชิกสหภาพยุโรป รวม 7 ประเทศ เป็นผู้นำในการค้นหาเครื่องบินของมาเลเซียแอร์ไลน์ เพราะมีความพร้อมและประสบการณ์มากกว่า 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายมาเลเซียไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเส้นทางบินของเที่ยวบิน MH370 ทั้งหมด ภารกิจค้นหาเครื่องบินในช่วงสัปดาห์แรกจึงเริ่มที่ 'ทะเลจีนใต้' โดยอ้างอิงเส้นทางบินปกติของเที่ยวบินดังกล่าว และคำนวณจากระยะเวลาที่กัปตันของเที่ยวบิน MH370 ติดต่อกับหอบังคับการภาคพื้นดินที่ประเทศเวียดนาม หลังเครื่องออกจากมาเลเซียได้ประมาณ 39 นาที  

เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล สื่อสหรัฐฯ เป็นผู้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากเที่ยวบิน MH370 หายไปได้หนึ่งสัปดาห์ และการค้นหาซากเครื่องบินในทะเลจีนใต้ไม่พบร่องรอยอะไรเลย โดยวอลล์สตรีทเจอร์นัลอ้างอิงข้อมูลจากบริษัท Inmarsat ผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสารซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ และเป็นผู้ตรวจพบความเคลื่อนไหวของเที่ยวบิน MH370 ก่อนที่เที่ยวบินจะสูญหายไปจากจอเรดาร์ 

ข้อมูลจาก Inmarsat บ่งชี้ว่าเที่ยวบิน MH370 ไม่ได้บินไปตามเส้นทางปกติจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงปักกิ่ง แต่มีการเปลี่ยนเส้นทางบินหลังเข้าสู่น่านฟ้าเวียดนามได้ไม่นาน โดยเครื่องบินหันหัวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ กลับไปทางคาบสมุทรมลายู บริเวณเกาะปีนัง ก่อนจะเคลื่อนไปทางช่องแคบมะละกา และพิกัดสุดท้ายที่พบเที่ยวบินดังกล่าว คือ เหนือน่านน้ำทะเลอันดามัน เชื่อมต่อกับมหาสมุทรอินเดีย

AFP-เจ้าหน้าที่กองทัพอากาศเวียดนามร่วมค้นหาเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียในทะเลจีนใต้.jpg
  • กองทัพเวียดนามร่วมค้นหาซากเครื่องบินในทะเลจีนใต้ช่วงสัปดาห์แรกหลังเที่ยวบิน MH370 สูญหาย

หลังจากข้อมูลดังกล่าวถูกรายงานออกมาได้ไม่นาน หน่วยงานของมาเลเซียที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเที่ยวบิน MH370 จึงออกมายอมรับถึงความผิดปกติเรื่องเส้นทางบิน และที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียเองก็ถูกกล่าวหาว่าเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่เคยให้การช่วยเหลือเรื่องการค้นหาเที่ยวบิน MH370 จึงตระหนักว่า ทางการมาเลเซียไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่แรก และทำให้เกิดคำถามว่า "มาเลเซียปิดบังเรื่องใดเอาไว้หรือไม่ "


สอบปูมหลัง 'กัปตัน' เที่ยวบิน MH370 อาจเกี่ยวพัน 'การฆ่าตัวตาย'

ภายหลังจากที่ทางการมาเลเซียยอมรับว่าเที่ยวบิน MH370 ไม่ได้ไปตามเส้นทางปกติ ทำให้มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า เครื่องบินอาจถูกจี้ให้เปลี่ยนเส้นทางโดยกลุ่มก่อการร้าย เพราะรายชื่อผู้โดยสารบนเที่ยวบินดังกล่าวรวมถึงชาวอิหร่าน และที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านถูกสหรัฐฯ และหลายประเทศแถบตะวันตกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง

ข้อมูลดังกล่าวทำให้การสอบสวนของผู้เชี่ยวชาญหลายประเทศพุ่งเป้าไปที่การก่อเหตุวินาศกรรมบนเครื่องบิน และทางการมาเลเซียก็ออกมายืนยันว่า ซาฮารี อาหมัด ชาห์ กัปตันของเที่ยวบิน MH370 วัย 53 ปี เป็นผู้มีประวัติการบินสมบูรณ์แบบ มีประสบการณ์บินเพียงพอที่จะบังคับเครื่องบินโบอิง 777 ขณะที่ฟาริก ฮามิด ผู้ช่วยนักบิน วัย 27 ปี อยู่ระหว่างเก็บชั่วโมงบินเครื่องโบอิง 777 เที่ยวสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม สื่อต่างประเทศได้รายงานเพิ่มเติมเรื่องการตรวจค้นบ้านพักของกัปตันซาฮารีในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย พบเบาะแสเพิ่มเติมเป็นไฟล์บันทึกเส้นทางบินจากเครื่องซิมูเลเตอร์จำลองการขับเครื่องบินในบ้านซาฮารี เป็นเส้นทางเดียวกับเที่ยวบิน MH370 เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2014 ที่ไม่ได้มุ่งตรงไปยังกรุงปักกิ่งตามที่ควรจะเป็น แต่วกกลับมายังคาบสมุทรมลายู ทำให้สื่อพุ่งเป้ามาที่การสอบประวัติของซาฮารีเพิ่มเติม

เดอะเทเลกราฟรายงานข่าวเมื่อ 17 มิ.ย. อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของเพื่อนกัปตันร่วมสายการบิน ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ระบุว่า ซาฮารีแยกกันอยู่กับภรรยาและลูกๆ ทั้งยังมีความสัมพันธ์นอกสมรสแบบไม่จริงจังกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งกัปตันคนดังกล่าวระบุว่า เป็นเรื่องปกติของคนที่ประกอบอาชีพนี้ แต่ซาฮารีเคยคุยให้ฟังว่าบางครั้งเขาไม่รู้จะทำอะไรในแต่ละวัน และเฝ้ารอให้มีเที่ยวบินให้ออกบิน สะท้อนให้เห็นว่า ซาฮารีอาจมีชีวิตที่ 'เศร้า' และ 'เงียบเหงา' กว่าที่คิด จึงมีความเป็นไปได้ว่าเขาอาจเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีอาการทางจิตที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตอื่นๆ

จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดสมมติฐานว่า ซาฮารีอาจก่อเหตุฆ่าตัวตายด้วยการบังคับเครื่องบินให้ขึ้นไปอยู่ที่เพดานบิน 40,000 ฟุต เพราะพิกัดบินที่ซาฮารีส่งถึงหอควบคุมภาคพื้นดินของเวียดนามก่อนที่เที่ยวบิน MH370 จะหายไป ระบุว่าเครื่องบินอยู่ที่ระดับ 35,000 ฟุต และเขากล่าวทิ้งท้ายว่า 'ราตรีสวัสดิ์ MH370' 

AFP-ชาวจีนที่เป็นญาติผู้โดยสารเที่ยวบิน MH370 รวมตัวหน้าสถานทูตมาเลเซียในกรุงปักกิ่งเมื่อ 8 มี.ค.2019 เนื่องในวันครบ 5 ปีเครื่องบินหาย.jpg
  • ญาติผู้โดยสารเที่ยวบิน MH370 รำลึกวันครบรอบ 5 ปีที่เครื่องบินสูญหายหน้าสถานทูตมาเลเซียในกรุงปักกิ่งของจีนเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2019

ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินประเมินว่า ถ้าซาฮารีขับเครื่องบินต่อไปที่ระดับดังกล่าว จะทำให้ผู้โดยสารบนเครื่องหมดสติ และหน้ากากออกซิเจนสำหรับผู้โดยสารที่ยังไม่หมดสติก็เพียงพอกับการหายใจได้เพียง 15 นาทีเท่านั้น แต่หน้ากากออกซิเจนในห้องนักบินสามารถอยู่ได้นานกว่าเป็นชั่วโมง ถ้าซาฮารีบังคับเครื่องบินให้อยู่ในระดับความสูง 40,000 ฟุตจนกระทั่งน้ำมันหมด เครื่องจะดิ่งลงมาอย่างรวดเร็ว และระเบิดกลางอากาศ

หลังจากนั้นอีก 2 ปี มีผู้ค้นพบชิ้นส่วนปีกเครื่องบินที่ได้รับการยืนยันว่ามาจากเครื่องบินโบอิง เที่ยวบิน MH370 ถูกซัดเข้าเกยฝั่งที่เกาะเรอูนียง ไม่ไกลจากมาดากัสการ์ กลายเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า เที่ยวบิน MH370 ไม่ได้บินไปทางทะเลจีนใต้ และเครื่องบินตกลงในมหาสมุทรอินเดียตามที่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศสันนิษฐานไว้ก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สมมติฐานว่ากัปตันซาฮารีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนเส้นทางบิน MH370 เพื่อก่อเหตุฆ่าตัวตาย "ยังไม่อาจพิสูจน์ได้" เพราะการค้นหากล่องดำบันทึกข้อมูลการบินของเครื่องบินไม่ประสบความสำเร็จ แต่รัฐบาลมาเลเซียเผยแพร่รายงานสรุปผลสอบสวนการสูญหายของเที่ยวบินดังกล่าวเมื่อปี 2018 โดยยอมรับว่า เที่ยวบิน MH370 บินออกนอกเส้นทางปกติจริง และไม่ได้เกิดจากการทำงานของระบบอัตโนมัติ แต่เป็นการควบคุมเส้นทางโดยผู้ที่อยู่บนเครื่องบิน โดยรายงานไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นฝีมือของใคร 


MH17 ถูกยิงตกในยูเครน

หลังจากเกิดโศกนาฎกรรมกับเที่ยวบิน MH370 ได้เพียง 3 เดือนเศษ เครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH17 ออกจากกรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ เพื่อไปยังปลายทางในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2014 ก็ร่วงลงทางตะวันออกของประเทศยูเครน ทำให้ผู้อยู่บนเครื่องบินทั้งหมด 298 ราย 'เสียชีวิต' 

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์รับหน้าที่เจ้าภาพในการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์เที่ยวบิน MH17 ตกในยูเครน เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นพลเมืองเนเธอร์แลนด์ โดยหลักฐานที่พบ บ่งชี้ว่าเครื่องบินถูกยิงตกโดยขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน BUK และเกี่ยวพันกับกลุ่มติดอาวุธในโดเนตสก์ ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลรัสเซียให้แทรกแซงสถานการณ์ทางการเมืองในยูเครน เพราะเห็นตัวอย่างจากการผลักดันจนเกิดการประกาศอิสรภาพของดินแดนไครเมียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนในอดีต

อัยการผู้รับผิดชอบคดียื่นสำนวนถึงศาลอาญาเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้เบิกตัวผู้ต้องสงสัย 4 รายมาขึ้นศาลในวันที่ 9 มี.ค.ปีหน้า แต่นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ผู้ต้องสงสัยทั้งหมดไม่น่าจะมารายงานตัวต่อศาล โดยผู้ต้องสงสัย 3 รายเป็นอดีตนายทหารยูเครนที่เกี่ยวพันกับหน่วยงานความมั่นคงของรัสเซีย และอีก 1 รายเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังติดอาวุธเพื่อสาธารณรัฐโดเนตสก์ ซึ่งรัฐบาลยูเครนประกาศเป็นกลุ่มกบฎ แต่ท้ังหมดแถลงยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และข้อกล่าวหาเรื่องการยิงขีปนาวุธ "เป็นความเข้าใจผิด" 

AFP-เที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตกที่ยูเครนเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2014.jpg
  • ซากเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH17 ซึ่งถูกยิงตกในยูเครนเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2014

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อนำตัวผู้ก่อเหตุยิงเที่ยวบิน MH17 มาดำเนินคดีและรับโทษตามกฎหมาย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงหลายรายมองว่า ถึงอย่างไรก็ไม่มีทางเอาผิดกับผู้นำรัฐบาลรัสเซียที่หนุนหลังกลุ่มติดอาวุธในยูเครนได้ และการแสดงท่าทีกดดันรัฐบาลรัสเซียให้รับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโลกตะวันตกกับรัสเซียยิ่งย่ำแย่ลง

สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์และรัฐบาลมาเลเซีย ไม่ได้มีบทบาทมากนักในการสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เที่ยวบิน MH17 ตกในยูเครน แต่ก็หนีไม่พ้นถูกโจมตีว่าไม่วางแผนการบินให้ดี เพราะพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนเกิดความขัดแย้งและการต่อสู้นองเลือดยืดเยื้อ ทำให้มาเลเซียแอร์ไลน์ถูกตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงไม่เปลี่ยนเส้นทางบินเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ

สองเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับมาเลเซียแอร์ไลน์ยังไม่คลี่คลายแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเกือบ 5 ปี และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สายการบินแห่งชาติมาเลเซียเผชิญกับวิกฤตหนักหน่วงจนไม่สามารถฟื้นตัวได้ แต่ปัจจัยอื่นๆ ที่ซ้ำเติมสถานการณ์นี้ คือ การแข่งขันทางธุรกิจกับสายการบินราคาประหยัดอื่นๆ ที่เติบโตสวนทางกับมาเลเซียแอร์ไลน์

ที่มา: The Atlantic/ Free Malaysia Today/ Malay Mail/ New York Times/ Vox

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: