ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดบริการ 'มีตังค์' ผ่านแอปฯ SCB Easy ให้พนักงานบริษัทลูกค้าเพย์โรลเบิกเงินเดือนล่วงหน้าตามจำนวนวันทำงาน เฟสแรกร่วมกับ 'วิลล่า มาร์เก็ท' - 'อำพลฟูดส์' ทดลองใช้ แก้ปัญหาเงินช็อต กู้นอกระบบ

นายอรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากข้อมูลหนี้ครัวเรือนของคนไทยปัจจุบันที่มีอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพี อยู่ที่ร้อยละ 78.6 สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองลงมาจากเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 97.7 และสูงกว่า ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน ตามลำดับ อีกทั้งค่าเฉลี่ยหนี้โดยรวมของคนไทยยังเพิ่มขึ้นจาก 377,109 บาท ในปี 2552 มาเป็น 552,499 บาทในปี 2561 

อรพงศ์ เทียนเงิน-หนี้ครัวเรือน-ไทยพาณิชย์
  • อรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์

ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ทำสำรวจความเห็นของกลุ่มตัวอย่างจากพนักงานบริษัทผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท จำนวน 3,000 คน พบว่า มนุษย์เงินเดือนร้อยละ 70 ใช้เงินเดือนเกือบชนเดือน ขณะที่ ร้อยละ 80 เคยกู้เงินนอกระบบ ร้อยละ 88 มียอดเงินกู้น้อยกว่า 15,000 บาท และ ร้อยละ 59 ระบุว่า ปัญหาหนี้สินทำให้ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ 

สอดคล้องกับผลวิจัยของสหรัฐฯ ที่สำรวจพบว่า ผลการมอบสวัสดิการให้พนักงานสามารถเบิกเงินเดือนล่วงหน้าได้ ช่วยให้เพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน สร้างความผูกพันของพนักงานกับองค์กร ช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงานลดลงร้อยละ 28 ลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาบุคลากร 

ด้วยเหตุดังกล่าว ดิจิทัล เวนเจอร์ ธุรกิจในเครือธนาคารไทยพาณิชย์จึงริเริ่มพัฒนาโปรแกรม 'มีตังค์' ซึ่งได้รายงานแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเริ่มทำโครงการ และในช่วงแรกธนาคารทำโปรแกรมนี้กับพนักงานใน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด และบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้าธุรกิจที่ใช้บริการการจัดการจ่ายเงินเดือน (pay roll) กับธนาคารอยู่แล้ว ด้วยความมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงาน พร้อมกับแก้ปัญหาให้ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ลดความเสี่ยงเรื่องหนี้นอกระบบของพนักงาน  

มีตังค์-เบิกเงินล่วงหน้า-แอปพลิเคชัน-ไทยพาณิชย์-พนักงาน

"การทำโปรแกรมนี้ถ้าเป็นในยุคก่อน แบงก์จะไม่ค่อยอยากทำ เพราะมีค่าตรวจสอบเอกสาร ค่าประเมินความเสี่ยงที่สูงมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ทำให้เราทำโปรแกรมนี้ผ่านแอปฯ SCB Easy ได้ และทำในต้นทุนที่รับได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเป้าหมายของโปรแกรมนี้คือ พนักงานหรือลูกจ้างบริษัทที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อบัตรเครดิต หรือ สินเชื่อบัตรกดเงินสดต่างๆ แต่เขาก็อาจมีความจำเป็นในบางช่วง" นายอรพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกธนาคารทดลองให้บริการกับพนักงานใน 2 บริษัทดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น และยืนยันว่า โปรแกรมนี้ จะไม่กระตุ้นให้ผู้ใช้บริการใช้เงินเกินตัว แต่เป็นการใช้เงินเพื่อความจำเป็นในแต่ละช่วงของชีวิต และในช่วงแรกยังไม่มีการขยายไปที่บริษัทกลุ่มอื่นๆ โดยยังขอเวลาดูพฤติกรรมผู้ใช้บริการในช่วง 1 เดือนหลังจากนี้ก่อน เพราะธนาคารต้องการยึดหลักการการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) 

"การขยายการให้บริการไปที่พนักงานบริษัทอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะยากหากบริษัทนั้นๆ ไม่ได้ใช้บริการบริหารจัดการเงินเดือน หรือ เพย์โรล กับแบงก์ หลังจากนี้ยังต้องขอเวลาดูพฤติกรรมผู้ใช้บริการ หากเบิกเงินถี่ เบิกตลอดเวลา แบบนี้ เราก็ไม่อยากให้สินเชื่อ เพราะก็ต้องยึดหลักการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบด้วย" นายอรพงศ์ กล่าว

สำหรับโปรแกรม 'มีตังค์' เป็นบริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า ซึ่งไม่มีดอกเบี้ย เพราะเป็นเงินของพนักงานอยู่แล้ว แต่มีค่าธรรมเนียมให้บริการ ที่อัตรา 1,000 บาท ต่อค่าธรรมเนียม 20 บาท หรือ ร้อยละ 2 พนักงานที่ใช้บริการสามารถเบิกเงินเดือนล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชั่น 'SCB Easy' ด้วยขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน และการคิดวงเงินการเบิกคือ เอาเงินเดือนที่ได้รับมาหาค่าเฉลี่ยรายวัน แล้วคิดจำนวนเงินที่เบิกได้ อยู่ที่ร้อยละ 50 ของจำนวนเงินรายได้ต่อวันคูณด้วยจำนวนวันทำงาน และเบิกต่อครั้งไม่เกิน 20,000 บาท 

ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นผู้มีเงินเดือน 15,000 บาท หมายถึงมีรายได้ 500 บาทต่อวัน (15,000 /30) ถ้าในเดือนนั้น ทำงานมาแล้ว 15 วัน สามารถเบิกได้ร้อยละ 50 ของจำนวนวันทำงาน จะได้เงินเบิกล่วงหน้าได้ ประมาณ 3,750 บาท 

ไทยพาณิชย์-มีตังค์-แถลงข่าว-เงินเดือน

ผู้บริหารวิลล่า มาร์เก็ท-อำพลฟูดส์ ปลื้ม โปรแกรม 'มีตังค์' ช่วยพนักงานได้

นายพิศิษฐ์ ภูสนาคม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วิลลา มาร์เก็ท เจพี จำกัด เล่าว่า วันแรกก็ไม่ได้สนใจโปรแกรมนี้ เพราะคิดว่าเป็นเงินกู้ แต่พอได้ศึกษา ก็พบว่า ตอบโจทย์ทั้งพนักงานและบริษัท เพราะโปรแกรมนี้ทำให้พนักงานสามารถเข้าถึงแหล่งเงินที่เป็นต้นเงินของพวกเขา และช่วยประคองสถานการณ์เศรษฐกิจของพนักงานได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน 1,200 คน และพบว่า บ่อยครั้งพนักงานจะขอเบิกเงินล่วงหน้าเพื่อนำไปใช้จ่ายต่างๆ และที่ผ่านมา บริษัทมีสวัสดิการให้กู้ยืมและให้ผ่อนจ่ายหักจากเงินเดือน แต่พอมีบริการมีตังค์ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยพนักงานได้ตรงจุด แม้จำนวนเงินที่พนักงานของเบิกล่วงหน้าจะไม่สูงมาก แต่ก็ทำให้พนักงานสามารถวางแผนการเงินจากเงินเดือนของตัวเองได้

พิศิษฐ์ ภูสนาคม-วิลล่า มาร์เก็ท
  • พิศิษฐ์ ภูสนาคม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วิลลา มาร์เก็ท เจพี จำกัด

ขณะที่นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด กล่าวว่า ครั้งแรกที่ไทยพาณิชย์มานำเสนอโปรแกรมนี้ ก็ไม่ค่อยสนใจและมีความกังวลว่า จะสร้างปัญหา สร้างนิสัยที่ไม่ดีแก่ลูกจ้างและพนักงานหรือไม่ เพราะเหมือนนำเงินในอนาคตออกมาใช้ แต่พอนำเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุมของบริษัท กลับพบว่า ระดับผู้จัดการฝ่ายบอกว่า น่าสนใจ ทำเลย เพราะทุกสิ้นเดือนจะมีลูกน้องมาขอยืมเงิน กู้เงิน เบิกเงิน หรือบางรายต้องไปกู้เงินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยแพง จึงตัดสินใจร่วมโครงการ

เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร-อำพลฟูดส์
  • เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด

"อีกเรื่องที่อยากแนะนำแบงก์คือด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน หากธนาคารไทยพาณิชย์จะสามารถพัฒนาบริการสำหรับพนักงานที่เป็นชาวต่างชาติ เช่น ที่โรงงานอำพลฟูดส์ มีลูกจ้างชาวเมียนมากว่า 400 คน และทุกเดือนจะมีนายหน้ามารับเงินเดือนของคนเหล่านี้เพื่อนำส่งไปให้ญาติๆ ของพนักงานในเมียนมา คิดค่านายหน้าร้อยละ 10 ของวงเงินฝากส่ง ซึ่งหากในอนาคตสามารถมีโปรแกรมหรือบริการของธนาคารได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี" นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :