ไม่พบผลการค้นหา
ศัพท์การเมืองคำหนึ่งที่คนจำนวนมากออกเสียงผิดคือคำว่า Junta คำนี้ไม่ได้อ่านว่า “จันทา” หรือ “จันตา” แต่คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาสเปนและโปรตุเกส อ่านออกเสียงควบกล้ำระหว่างเสียง ฮ กับ ค โดยเปล่งเสียงก้องจากลำคอ อ่านว่า “คฮุนต้า” หรือ อนุโลมอ่านว่า “ฮุนต้า” หรือ “คุนต้า”

คำว่า Junta ในภาษาสเปนและโปรตุเกสนั้นมีความหมายเดียวกัน คือแปลว่า “คณะ” หรือ “กลุ่มบุคคล” ใช้เรียกคณะของเหล่านายพลที่ร่วมกันทำการรัฐประหารแล้วปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหาร ภาษาอังกฤษจึงนิยมใช้คำนี้อย่างเต็มๆว่า Military Junta เพื่อชี้ให้ชัดลงไปว่าหมายถึงคณะปกครองของระบอบเผด็จการทหาร

ประวัติศาสตร์ของคำๆ นี้ ย้อนไปได้ถึง ค.ศ. 1505 ถูกใช้ในความหมายของการเป็นคณะผู้ปกครองอาณานิคมของสเปนในทวีปอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าประกอบด้วยบรรดานายพลและขุนนางที่เจ้าอาณานิคมส่งมาปกครอง ใช้อำนาจเผด็จการกดขี่เต็มที่ต่อประชาชนคนพื้นเมืองที่ถูกปกครอง ทั้งใช้กฎหมายบังคับสารพัด และใช้อาวุธ เพื่อให้จำนนต่อคณะผู้ปกครอง

ต่อมาในศตวรรษที่ 20 คำว่า Junta จึงถูกใช้เรียกคณะเผด็จการทหารและเรียกระบอบการปกครองของคณะเผด็จการทหาร เพราะเทียบเคียงพฤติกรรมแล้วตรงกับคณะผู้ปกครองอาณานิคมของสเปนในทวีปอเมริกาในยุคโบราณ

คณะเผด็จการทหารพวกแรกที่ถูกเรียกว่า Junta คือ คณะเผด็จการทหารในบราซิล ซึ่งก่อการยึดอำนาจในปี ค.ศ.1930 ภายใต้การนำของนายพลออกัสโต ทาสโซ ฟราโกโซ

ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งพูดภาษาสเปนและโปรตุเกส ซึ่งเป็นเจ้าของศัพท์คำว่า Junta ยังได้ปรากฎว่ามีคณะเผด็จการทหารทำการยึดอำนาจแล้วปกครองอย่างยาวนานอีกหลายคณะ เช่น คณะเผด็จการทหารในเปรู ยึดอำนาจใน ค.ศ.1968 คณะเผด็จการทหารในโบลิเวีย ยึดอำนาจใน ค.ศ.1970 และ 1980 คณะเผด็จการทหารในชิลี ยึดอำนาจใน ค.ศ.1973 คณะเผด็จการทหารในอาร์เจนตินา ยึดอำนาจ ค.ศ.1976 คณะเผด็จการทหารในนิคารากัว ยึดอำนาจใน ค.ศ.1979 คณะเผด็จการในเอลซัลวาดอร์ ยึดอำนาจใน ค.ศ.1982

ส่วนในทวีปแอฟริกา มีคณะเผด็จการทหารปกครองอย่างยาวนานหลายคณะ ที่ม่ชื่อเสียงโด่งดังในความโหดเหี้ยมมากที่สุด คือ คณะเผด็จการทหารของนายพลอีดี อามิน แห่งยูกันดา นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศที่มีคณะเผด็จการทหารหลายคณะการทำรัฐประหารซ้ำซากอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้แก่ คณะเผด็จการทหารไนจีเรีย ยึดอำนาจครั้งแรกใน ค.ศ.1966 คณะเผด็จการทหารในเอธิโอเปีย ยึดอำนาจครั้งแรกใน ค.ศ.1974 คณะเผด็จการทหารในซูดาน ยึดอำนาจครั้งแรกใน ค.ศ. 1969 

ในทวีปเอเชีย พม่าเป็นประเทศที่มีคณะเผด็จการทหารปกครองอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 49 ปี คือตั้งแต่ ค.ศ.1962 ถึง 2011 ซึ่งเพิ่งยอมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งใน ค.ศ. 2015 ส่วนอินโดนีเซียมีคณะเผด็จการทหารของนายพลซูฮาร์โตปกครองต่อเนื่องยาวนานถึง 32 ปี คือตั้งแต่ ค.ศ. 1967 ถึง 1998

ทั้งนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การที่ประเทศถูกปกครองโดยคณะเผด็จการทหารอย่างยาวนาน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำและล้าหลังอย่างหนัก เพราะคณะเผด็จการทหารเลือกที่จะดูแลผลประโยชน์ของพวกพ้องและเครือข่ายที่สนับสนุนพวกตน และมีการคอรัปชั่นที่ตรวจสอบไม่ได้ ความมั่งคั่งของชาติจึงถูกดูดซับไว้ในมือคนเหล่านั้น ในขณะที่ประชาชนถูกทิ้งไว้ให้ยากจนและด้อยโอกาสไปเสียทุกด้าน นอกจากนี้ คณะเผด็จการทหารยังมักใช้ความรุนแรงกวาดล้างผู้ต่อต้าน รวมถึงกวาดล้างบรรดาผู้ที่มองว่าเป็นศัตรู จึงนำไปสู่การละเมิดสิทธิและการสังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยในหลายประเทศ 

อย่างไรก็ดี เมื่อประชาชนประสบความทุกข์เข็ญมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนจึงเรียกร้องให้คณะเผด็จการทหารก้าวลงจากอำนาจ เพื่อนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน ในขณะเดียวกันคณะเผด็จการทหารก็ถูกสังคมโลกกดดันให้คืนอำนาจแก่ประชาชนด้วยการจัดการเลือกตั้ง

ด้วยเหตุนั้น จึงปรากฏว่าคณะเผด็จการทหารมักแสร้งทำเป็นจัดการเลือกตั้งขึ้น โดยซ่อนกลเม็ดสารพัดเพื่อให้พรรคพวกของของตนชนะ และสร้างกลไกพิสดารทั้งทางกฎหมายและทั้งทางองค์กรเพื่อปูทางสู่การสืบทอดอำนาจ เช่น การเลือกตั้งในซูดาน

เมื่อเหลียวกลับมองดูในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีการก่อรัฐประหารโดยคณะทหารอย่างซ้ำซากแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการพยายามก่อกบฏโดยคณะทหารทั้งสิ้น 11 ครั้ง รวมระยะเวลาที่ปกครองโดยคณะเผด็จการทหารยาวนานกว่าระยะเวลาที่ปกครองโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

จุดจบของคณะเผด็จการทหารไทย มีหลายรูปแบบ กล่าวคือ มีคณะเผด็จการทหารที่ลงจากอำนาจเพราะถูกคณะทหารคณะอื่นยึดอำนาจ คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกยึดอำนาจโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีคณะที่ลงจากอำนาจเพราะถูกประชาชนขับไล่คือจอมพลถนอม กิตติขจร ในเหตุการณ์ “14 ตุลา” และมีคณะเผด็จการทหารที่พยายามสืบทอดอำนาจโดยการเลือกตั้งและกลไกรัฐสภา คือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ภายใต้การนำของ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และพลเอกสุจินดา คราประยูร

ณ ปี 2019 นี้ เมื่อสำรวจทั่วโลก พบว่ามีเพียง 2 ประเทศ ที่ยังมีคณะรัฐประหารและผู้นำของคณะรัฐประหารปกครองอย่างเป็นทางการ คือ ซูดาน และ ไทย

แม้ว่า ไทยจะมีการเลือกตั้งแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีใครตอบได้ว่าอนาคตการเมืองไทยจะเป็นเช่นไรต่อไป