ไม่พบผลการค้นหา
ผลการศึกษาชี้ นักนักบินอวกาศมีขนาดช่องสมองเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่ไร้แรงโน้มถ่วงและของเหลวถูกส่งขึ้นไปยังศีรษะ

งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเกี่ยวกับรังสีวิทยา สะท้อนว่าการที่มุนษย์อาศัยอยู่บนอวกาศเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาตรสมองและทำให้ต่อมใต้สมองเปลี่ยนรูปไป ซึ่งสอดคล้องกับคำร้องเรียนจากนักบินอวกาศที่ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่บนอวกาศเป็นระยะเวลานานเกี่ยวกับอาการผิดปกติทางสายตาที่เชื่อมต่อกับสมองมาตลอด

ผลการศึกษาสะท้อนว่า สภาพแวดล้อมที่ปราศจากแรงโน้มถ่วงทำให้ระบบประสาทส่วนสายตาที่เชื่อมต่อระหว่างดวงตาและสมองบวมขึ้น ขณะที่มีเลือดคั่งในจอประสาทตา และการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับโครงสร้างในดวงตา 

ดร.ลอร์รี เอ คราเมอร์ หัวหน้าทีมวิจัยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเท็กซัส ชี้ว่า “เวลาที่คุณอยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ของเหลวในร่างกาย เช่น เลือดจากหลอดเลือดดำจะไม่ได้ถูกดึงลงไปยังส่วนล่างของร่างกายอีกต่อไป แต่กลับถูกส่งขึ้นไปยังส่วนบนของร่างกายแทน” ซึ่งการเคลื่อนที่ของของเหลวไปยังบริเวณศีรษะอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างตาหรือส่วนต่างๆ ในช่องกระโหลก

A-Peggy Whitson-เพ็กกี้-วิทสัน-นักบินอวกาศ-สหรัฐ-อเมริกัน

จากการศึกษาโครงสร้างสมองของนักบินอวกาศทั้งหมด 11 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 10 คน และผู้หญิง 1 คน ซึ่งในจำนวนนั้น 5 คน เคยมีประวัติทำงานบนอวกาศ ขณะที่อีก 6 คนไม่มี ซึ่งทีมวิจัยพบว่า นักบินอวกาศที่เคยทำงานบนอวกาศเฉลี่ยประมาณ 171 วัน มีขนาดสมอง รวมถึงปริมาณของเหลวในช่องสมอง และไขสันหลัง เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 อีกทั้งการขยายตัวนี้ยังคงอยู่แม้เวลาจะผ่านไป 1 ปีหลังจากที่กลับมายังพื้นโลก ทำให้ทีมวิจัยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นเรื่องถาวร 

ต่อมใต้สมองเองก็เหมือนจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองนี้เช่นเดียวกัน โดยเกิดการผิดรูปมีขนาดและส่วนสูงลดลงซึ่งคาดว่ามาจากแรงกดดันภายในกระโหลกศีรษะ

ก่อนหน้านี้ที่นักบินอวกาศต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องกระดูกและการสูญเสียกล้ามเนื้อแต่ก็สามารถหาทางออกได้จากการออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมง/วัน แต่ปัจจุบันยังไม่มีหนทางแก้ไขเรื่องความเปลี่ยนแปลงในสมองและโครงสร้างตาได้

อ้างอิง; CNN, Inverse, Space