ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ จัดส่งข้าวจากไร่หมุนเวียนกว่า 7 ตัน ช่วยชุมชนบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี พร้อมแถลงการณ์จี้รัฐเยียวยากะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามทำไร่หมุนเวียน

เครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ (คกน.) ได้ระดมรับบริจาคข้าวเปลือกและข้าวสารจากไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยง จัดส่งไปให้ชุมชนบ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากชุมชนดังกล่าวยังขาดแคลนอาหารในช่วงปิดชุมชนสู้ โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ภาคเหนือ กำลังเผชิญกับปัญหาการไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ อันเนื่องมาจากการประกาศใช้นโยบายห้ามเผาจากรัฐบาล และการดำเนินการอันเข้มงวดของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่

นายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ (คกน.) กล่าวว่า เครือข่ายฯ รวมข้าวได้ประมาณ 19 ตัน แบ่งไปที่กิจกรรมข้าวแลกปลา 7.9 ตัน หลังจากได้ข่าวเรื่องพี่น้องที่บางกลอย จึงแบ่งไปช่วยเหลือ 7.2 ตันในวันนี้ นอกจากนั้นได้แบ่งไปที่พื้นที่ชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ในขณะเดียวกันก็เหลือไว้ส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุน เป็นค่าใช้ในการขนส่ง อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อตั้งกองทุนพัฒนาปกป้องไร่หมุนเวียน เป็นกองทุนเบื้องต้นที่จะช่วยเหลือพี่น้องกะเหรี่ยงที่ไม่ได้เผาเตรียมแปลงเกษตรไร่หมุนเวียนในปีนี้ หรือถูกยึดพื้นที่ไร่หมุนเวียนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

“ปัญหาตอนนี้คนที่ทำไร่หมุนเวียนไม่ได้เผาไร่ ไม่ได้มีการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรให้พร้อมที่จะเพาะปลูก สาเหตุก็ด้วยกฎหมายและนโยบาย รวมถึงคำสั่งต่างๆ ที่ไม่ให้ใช้ไฟในช่วงนี้ เป็นเหตุให้เกิดปัญหา แต่พอมาถึงฤดูกาลที่ต้องเพาะปลูกฝนก็ลงมาแล้ว การจัดการวัชพืชหรือเศษพืชก็ไม่สามารถทำได้ ที่สำคัญคือพื้นที่ตรงนี้ด้วยระบบของธรรมชาติจะเป็นการหมุนเวียนพลังงานและปุ๋ยให้พืชที่จะปลูก พอไม่มีการใช้ไฟก็ไม่มีธาตุอาหารให้พืชงอกงามได้ ไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่ลักษณะลาดชัน ไม่เหมือนที่นาจึงไม่สามารถทดน้ำเข้ามาได้” นายสรศักดิ์ กล่าว

ขณะเดียวกันชุมชนยังถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ การตรวจยึดแปลงไร่หมุนเวียน และการจับกุมดำเนินคดี ทำให้มีหลายชุมชนไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้แล้วในปีนี้ แม้ที่ผ่านมาจะช่วยกันดูแลจัดการไฟป่าอย่างหนัก 

ผลพวงอำนาจรวมศูนย์ มองความทุกข์ต่างมุมมอง

ด้านนายพฤ โอโดเชา ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าคาใน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในชุมชนกะเหรี่ยงที่ยังไม่ได้จัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรไร่หมุนเวียน เนื่องจากถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ เห็นว่า แนวคิดการจัดการปัญหาของรัฐขณะนี้เป็นแบบ “กรีนรักชาติ สีเขียวนิยม” ที่ไม่ได้มองเห็นความเป็นคนของชุมชนที่อยู่ในป่า เมื่อรัฐส่วนกลางให้นโยบายมาอย่างไร ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอก็ต้องสนองตามนั้น โดยไม่ได้มองเห็นความทุกข์ร้อนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

“นายอำเภอบอกว่ามันเป็นอำนาจของจังหวัด เขาไม่มีอำนาจ เขาไม่กล้าให้ชาวบ้านเผา อีกวันหนึ่งเราไปรับหนังสือที่ ชม.11 ป่าสงวนฯ ก็โทรมาบอกผู้ใหญ่บ้านว่าห้ามเผาเด็ดขาด ถ้าเกิดอะไรขึ้นเขาจะดำเนินคดี ผู้ใหญ่บ้านรับผิดชอบไหวใหม่ แต่เราบอกว่าถ้าเราไม่เผาเราจะทำอย่างไร เขาก็บอกว่าถ้าผู้ใหญ่บ้านไม่ให้เผา เขาก็ไม่เผากันหรอก สุดท้ายก็กลัว เขาก็บอกว่าแดดน่าจะรออยู่นะ ทั้ง ที่รู้ว่าเขาไม่รอแน่ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 26-27 ฝนก็มาต่อเนื่อง เปียก หญ้ามาแล้ว” นายพฤ เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่

นักวิชาการชี้ 'ไร่หมุนเวียน' เป็นความมั่นคงทางอาหาร ตามวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ 

ขณะที่ นายธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกทำให้อยู่ชายขอบและไม่มีปากมีเสียงมาตลอด เริ่มตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ประกาศเป็นเขตป่าของรัฐทับพื้นที่ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงไม่เคยมีความมั่นคงในชีวิต เป็นการดำเนินชีวิตที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกพรากไป 

“การถูกมายาคติที่บิดเบือนแบบนี้กำลังสร้างความไม่มั่นคงในวิถีชีวิตของชุมชน นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยง แต่ปัญหานี้คือตัวแทนของสังคมไทยและสังคมโลก มันมีทั้งอนาคตของความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนของระบบนิเวศเป็นเดิมพัน” ธนากรกล่าว

นอกจากนั้น นายธนากร ย้ำว่า “ไร่หมุนเวียน” จะเป็นระบบการเกษตรที่ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต เห็นได้ชัดจากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 แม้กะเหรี่ยงจะปิดชุมชนและพึ่งพาทรัพยากรหรือสิ่งอำนวยความสะดวกจากข้างนอกน้อย ก็ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ปรกติสุข และยังสามารถมีข้าวเหลือมากมายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ขาดแคลนอาหารอื่นๆ 

แถลงการณ์ คกน.จี้รัฐบาลปลดล็อก เยียวมาตรการห้าทำไร่หมุนเวียน 

1.เราขอยืนยันว่า หลังจากที่เราทำได้ดูแลปกป้องผืนป่าอย่างหนักในช่วงสถานการณ์วิกฤตหมอกควันไฟป่า พวกเราในฐานะชุมชนปกาเกอะญอดั้งเดิมควรมีสิทธิในการทำไร่หมุนเวียน อันเป็นวิถีการเกษตรที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้พวกเรายังสามารถดำรงชีพต่อไปในภายภาคหน้าได้

2.หากหลังจากนี้ชุมชนใดที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการปฏิบัติการของรัฐ จนทำไร่หมุนเวียนล่าช้า กระทบต่อผลผลิต หรือไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ในปีนี้ รัฐต้องมีมาตรการเยียวยาโดยเร่งด่วนและมีความเป็นธรรม

3.กรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดให้มีโครงการปลูกป่า 66 ล้านต้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ในปีนี้ เราขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว ทั้งในเรื่องของความคุ้มทุน ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูผืนป่า ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนระลอกที่สอง 

4.เราเป็นชุมชนปกาเกอะญอที่ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ขอยืนยันว่าวิถีชีวิตของเรา โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียนเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยที่ไร่หมุนเวียนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาของประเทศไทยเมื่อปี 2556 และขอยืนยันว่ารัฐต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนด้วยว่ารัฐต้อง “ศึกษาและยอมรับระบบไร่หมุนเวียน”

"เราเห็นว่า ในสถานการณ์โควิดซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าช่วงระยะเวลานี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร รัฐบาลควรสนับสนุนให้ประชาชนมีความเข็มแข็งในการต่อสู้กับวิกฤตดังกล่าว ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้การจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรมและให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง อันจะเป็นหลังพิงให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามวิถีวัฒนธรรมที่งดงามของพวกเราชาวปกาเกอะญอ ขอให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนที่เคารพคุณค่าของความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อสร้างความยั่งยืนสันติสุขสืบไป"