ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรสิทธิมนุษยชนร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกกลุ่มผู้ชุมนุม ยุติการคุกคามข่มขู่ประชาชน แม้มีความเห็นต่างทางการเมือง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่มีการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ โดยเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน ทั้งยังต้องดูแลให้การชุมนุมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล รับประกันความปลอดภัยและมั่นคงของผู้ชุมนุม รวมถึงให้งดเว้นการฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ยุติการคุกคามและข่มขู่ประชาชนเพียงเพราะไปเข้าร่วมการชุมนุม และหยุดการคุกคามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ทั้งนี้เพราะมีการรายงานจากผู้ชุมนุมว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าพบผู้ชุมนุมและครอบครัวถึงที่พักของพวกเขา พร้อมทั้งตักเตือนไม่ให้พวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมด้วย 

มิง ยู ฮา รองผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ระบุว่าในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องรับรองว่า สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบต้องได้รับการเคารพ คุ้มครอง สนับสนุน และทำให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ โดยปราศจากการแบ่งแยกทุกประเภท รวมถึงในเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง ทางการไม่ควรแทรกแซงหรือจำกัดสิทธิเหล่านี้ตามอำเภอใจ ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รับรองและอำนวยให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบด้วย 

โดยย้ำว่าแอมเนสตี้ฯ ตระหนักถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ว่าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการตอบรับในรูปแบบที่มีการประสานเชื่อมต่อและอยู่ในระดับที่กว้างขวาง เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยเรียกร้องทางการไทยว่าหากมีการดำเนินมาตรการใดๆ ที่จำกัดสิทธิมนุษยชนในช่วงวิกฤตินี้ควรทำเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วนเท่านั้น 

"เราขอเรียกร้องให้ท่านรับรองว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาระเบียบและคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยดำเนินการตรวจตราดูแลให้การชุมนุมโดยสงบสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหมายรวมถึงให้งดเว้นการฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ รับประกันความปลอดภัยและมั่นคงของผู้ชุมนุม และให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบได้"  

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถอนฟ้องคดีอาญาต่างๆ ที่ยื่นเพื่อเอาผิดประชาชนจำนวนมาก ทั้งนักเรียน นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง เพียงเพราะพวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ คดีเหล่านี้หมายรวมถึงกรณีที่เกิดขึ้นจากการละเมิดข้อห้ามเรื่องการชุมนุมสาธารณะภายใต้มาตราที่ 9 (2) ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมี.ค. 2563 และทางการได้ประกาศว่ากำลังจะยกเลิกการบังคับใช้ในเกือบทุกกรณี ผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบได้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน รวมถึงใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างทางกายภาพระหว่างกันและกัน 

ท้ายสุดแอมเนสตี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสิทธิในเสรีภาพการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ที่สอดคล้องกับหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ต้องสลายการชุมนุมซึ่งผิดกฎหมาย แต่ไม่ใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากเป็นไปไม่ได้ต้องงดเว้นเอาไว้ หรือใช้ให้น้อยที่สุดในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม