ไม่พบผลการค้นหา
ประตูรั้วซึ่งถูกโบยตีด้วยลมฝนและกาลเวลากระทั่งกลายเป็นสีแดง ครั้งหนึ่งเคยมีร่างไร้วิญญาณถูกนำมาแขวนประจาน เขาทั้งสองคือเหยื่อความรุนแรงที่เกิดจากการเห็นต่าง ซึ่งภายหลังกลายเป็นหนึ่งในชนวนเหตุให้เกิดการนองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ก่อนความทรงจำจะเสื่อมสลายและความรุนแรงจะถูกลืม โครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ได้ติดต่อเจ้าของที่เพื่อจัดเก็บวัตถุทางประวัติศาสตร์นี้ไว้เผยแพร่ภายหลัง ก่อนที่จะสูญหายไปพร้อมกับความทรงจำ โดยได้ทำการขนย้ายในบ่ายวันที่ 18 มิถุนายน 2562

โครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ เป็นโครงการที่มุ่งเก็บรักษาและเผยแพร่ข้อมูลเหตุการณ์เกี่ยวกับ 6 ตุลา เพื่อต่อสู้กับความพยายามที่จะทำให้สังคมลืมเลือนความรุนแรงในอดีต นำโดยภัทรพร ภู่ทอง นักวิจัย และ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประตูสีแดง
  • การรื้อถอนและขนย้ายประตูแดง ในวันที่ 18 มิถุนายน 2562

รศ.ดร.พวงทอง เล่าถึงที่มาของการย้ายประตูแดงไปจัดเก็บไว้นั้น มาจากการคุยกันของทีมงานและผู้สนใจเรื่อง 6 ตุลา ว่าหากปล่อยทิ้งไว้ ประตูซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์มีแต่จะผุพังไป และเสี่ยงต่อการถูกนำไปทิ้ง หรือปรับปรุงที่ดินใหม่ เพราะบริเวณข้างเคียงก็เริ่มมีการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร

“เราก็เสียดายถ้าอยู่มาวันหนึ่งมันจะหายไป แล้วเราก็ไม่เก็บไว้ ดังนั้นก็นำมาสู่การที่ดิฉันกับคุณภัทรพร ก็เดินทางมาคุยกับทางเจ้าของบ้านว่าเราอยากจะขอประตูนี้ไปเก็บไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของรัฐ เป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้เห็น ได้ประจักษ์ ทางที่เจ้าของบ้านก็ยินดีที่จะให้ โดยแลกกับที่เราทำประตูใหม่ให้กับแก” พวงทอง กล่าว


เมื่อบ้านกลายเป็นจุดเกิดเหตุ
ประตูที่กลายเป็นสีแดงโดยไม่สมัครใจ

ก่อนหน้านี้ ประตูแดงเคยเสียหายมาแล้วจากการถูกงัดขโมยเหล็กไปขาย และถูกซ่อมแซมด้วยแผ่นไม้ ทว่าเจ้าของที่มิได้ถอดเปลี่ยนประตูใหม่แต่อย่างใดแม้จะเกิดเหตุมาเกือบ 43 ปีแล้ว

ประตูสีแดง
  • ประตูแดง นครปฐม

“เปลี่ยนทำไมล่ะ ไม่มีเหตุผลเพียงพอ” นิตินัย คนึงเหตุ เจ้าของที่คนปัจจุบันกล่าว พร้อมเล่าว่าในปี 2519 นั้น ที่แห่งนี้ไม่มีคนอยู่อาศัย จึงไม่ได้เปลี่ยน

ผู้เป็นเจ้าของที่ดินในสมัยที่เกิดเหตุคือ พันตำรวจเอก (พิเศษ) ธำรง คนึงเหตุ ผู้เป็นบิดา ซึ่งซื้อที่ทิ้งไว้ขณะเป็นสารวัตรที่นี่ ทว่าในขณะเกิดเหตุย้ายไปประจำอยู่ที่โคราช เขต 3 ส่วนตัวเองค้าขายวัสดุก่อสร้างอยู่ที่ตั้งเซียฮวด ไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว

นิตินัย เล่าความทรงจำในเช้าวันนั้นว่าทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ โดยจำหัวเสาของบ้านได้จึงขับรถมาดูและพบว่าเป็นบ้านตัวเอง ทว่าเมื่อมาถึงตำรวจได้เคลื่อนย้ายศพออกจากพื้นที่ไปแล้วจึงไม่ได้เห็นเหตุการณ์กับตา

ประตูสีแดง
  • ประตูสีเทาอมฟ้าที่ถูกนำมาเปลี่ยนใหม่

ปัจจุบันเขาพักอาศัยอยู่ในที่ดินแห่งนี้ จากเดิมที่เคยกลัว ก็เริ่มชินกับประตูรั้วบ้านแล้ว แต่ก็ยินดีมอบประตูแดงให้ทางโครงการบันทึก 6 ตุลา แลกกับประตูรั้วใหม่

“ถ้าเป็นประโยชน์กับทางประวัติศาสตร์ก็ดีกว่าอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่ตรงนี้มันก็ชำรุด หมาลอดไปลอดมา แต่ถ้าไปเป็นประโยชน์ ไปเป็นประวัติศาสตร์ ไปเก็บให้ดีๆ เรื่องราวมันจะยาว ดีกว่าอยู่ตรงนี้ คิดว่าอย่างนั้น”

ประตูใหม่เป็นประตูรั้วเลื่อนสีเทาอมฟ้า นิตินัยเล่าว่านี่คือสีที่คุณพ่อชอบ และเป็นสีดั้งเดิมของประตูแดง ก่อนสนิมจะกัดกิน


มากกว่าประตู คือหลักฐานความรุนแรงโดยรัฐ

แม้เหตุการณ์แขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้า ณ ประตูแดง อาจไม่ได้เป็นภาพจำเท่าภาพชายผู้ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขาม ณ สนามหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ประตูแดงก็เป็นหลักฐานว่าผู้ตกเป็นเหยื่อของความเกลียดชังไม่ได้มีเพียงคนเดียว และยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน และประชาชนก็กลายเป็นเครื่องมือความรุนแรงให้รัฐเช่นกัน

“ประตูแดงนี้ เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของรัฐในขณะนั้นเขาเรียกกันว่าขบวนการขวาพิฆาตซ้าย ในขณะนั้นเป็นช่วงที่นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมืองเจอกับการลอบสังหารหรือทำร้ายอย่างมาก” รศ.ดร. พวงทอง กล่าว

ประตูสีแดง
  • ชุมพลและศรีไพร ทุมไมย พี่ชายและพี่สะใภ้ของชุมพร ทุมไมย ผู้เสียชีวิต

'พวงทอง' อธิบายว่าทางโครงการได้มีการทำพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา ซึ่งเน้นรวบรวมเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ไว้แล้ว แต่เมื่อตามเก็บหลักฐานจากผู้เกี่ยวข้อง ก็พบว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตหลายครอบครัวยังคงเก็บหลักฐานวัตถุอื่นๆ ไว้ เช่น เสื้อผ้าที่ใส่ในวันที่เสียชีวิต ทางโครงการจึงได้รวบรวมเก็บหลักฐานเหล่านี้ไว้โดยหวังว่าจะมีโอกาสได้จัดแสดงเพื่อให้สังคมไทยเรียนรู้

“เราก็จะเก็บหลักฐานเหล่านี้ แล้วเราก็หวังว่าในอนาคต ถ้าสังคมไทยมีเจตนารมณ์ เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ก็นำไปสู่การสร้างพิพิธภัณฑ์ หรือว่าหอจดหมายเหตุความรุนแรง เราก็จะเอาของเหล่านี้มาจัดแสดงในที่ทางที่มันเป็นถาวร แต่ในขณะที่เราไม่มีที่ทางที่จะเป็นถาวรแบบนั้น เราก็อาจจะทำเป็นนิทรรศการเคลื่อนที่ แล้วก็ย้ายไปตามจุดต่างๆ ตามเมืองใหญ่ๆ เพื่อให้ประชาชน แล้วก็คนรุ่นหลังได้เรียนรู้”


เสียงของเหยื่อ ผู้เป็นที่รักของครอบครัว

หนึ่งในผู้เสียชีวิตที่ถูกนำมาแขวนคอคือนายชุมพร ทุมไมย เป็นลูกคนที่ 4 ของครอบครัวจากทั้งหมด 9 คน โดยนายชุมพล ทุมไมย ผู้เป็นพี่ชาย พร้อมภรรยา คือนางศรีไพร ได้เดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานี มาร่วมสังเกตการณ์การปลดประตูแดงในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ด้วย

“ตามวิสัยของธรรมชาติมนุษย์ มันก็มีความรักความคิดถึงกัน" นายชุมพล ระลึกถึงน้องชาย พร้อมเล่าว่าเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ชุมพรเป็นคนเรียบร้อย และเรียนหนังสือเก่ง เมื่อสอบการไฟฟ้าได้ก็มาเป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครปฐม ก่อนจะตกเป็นเหยื่อของการเห็นต่าง

”ถึงกับต้องฆ่าแล้วประจานกัน มันเป็นเหตุที่ต้องมีความกล้าหาญนะ ทำได้เนอะ แต่ทำแล้วไม่มีอะไร ทำได้นี่ก็ดู การเมืองเป็นอย่างนี้แหละ เอาทั้งลับและแจ้ง ไม่มีอะไรเกิดขึ้นสำหรับเขา”

ประตูสีแดง
  • ชุมพล ทุมไมย จ้องมองภาพของชุมพร ทุมไมย ผู้เป็นน้องชาย

เมื่อมีผู้ถามว่าทุกวันนี้เขามีความคิดให้อภัยกับผู้สังหารน้องชายได้แล้วหรือยัง เขาตอบว่าพยายามมาตลอด แต่ยังคงเสียใจอยู่

"ที่จริงถ้าคิดอย่างนั้นได้เราเป็นสุขนะ ผมพยายามตลอดแหละ กับมองว่าคนไหนก่อกรรมยังไงก็ได้แบบนั้น ก่อดีได้กรรมดี ก่อชั่วได้กรรมชั่วแค่นั้นแหละ ถ้าคิดอย่างนั้นก็สบายใจเหมือนกัน" ชุมพล กล่าวพร้อมเล่าว่ายังคงเก็บหนังสือพิมพ์ในช่วง 24 กันยา 19 ถึง 6 ตุลา 19 ไว้เพราะเกี่ยวกับเรื่องของน้องตัวเอง จึงอยากจะเอาไว้เป็นหลักฐาน เอาไว้ดูพิสูจน์ว่าข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร

"มันจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วนี่ มันจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ไม่มีอดีต ณ ที่แห่งนี้อีกแล้ว ขอให้วิญญาณของน้องไปสู่ที่สุขสงบเถอะ” ชุมพล กล่าวทั้งน้ำตา พร้อมออกความเห็นกับการรื้อถอนประตูแดงไปเก็บรักษาไว้ว่าอยากให้ประตูแดงนี้เป็นอุทาหรณ์ของสิ่งที่เกิดขึ้น


ประตูสู่ 6 ตุลา

วันที่ 24 กันยายน 2519 มีผู้พบศพของ 2 ช่างไฟฟ้า ณ ประตูรั้วขึ้นสนิมของที่ดินจัดสรรบริเวณ หมู่ 2 ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ผู้เสียชีวิตคือนายวิชัย เกษศรีพงศ์ษา และนายชุมพร ทุมไมย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้พากันติดโปสเตอร์ที่บริเวณพระปฐมเจดีย์ เชิญชวนให้คนไปร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร เผด็จการผู้ถูกขับไล่ออกนอกประเทศซึ่งในขณะนั้นบวชเป็นสามเณร

ประตูสีแดง.jpg
  • ภาพผู้เสียชีวิตที่ประตูแดง นครปฐม / ภาพจากโครงการ บันทึก 6 ตุลา

เหตุการณ์ ณ ประตูแดง ได้ถูกนักศึกษาธรรมศาสตร์ นำไปจัดแสดงละครเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตและสะท้อนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น และการเป็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ก่อนที่จะถูกนำไปกระพือข่าวลือกันโดยฝ่ายขวาว่านักศึกษาธรรมศาสตร์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยการแสดงแขวนคอนักศึกษาซึ่งถูกอ้างว่ามีหน้าตาคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระยศในขณะนั้นของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว)

หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ได้นำข่าวนี้ไปขยายความต่อขึ้นหน้าหนึ่งในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยพาดหัวว่า "แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ" (ศูนย์ฯ คือ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) พร้อมลงภาพนักศึกษาคนดังกล่าวและระบุใต้ภาพว่า

“ผู้จงรักภักดีฯ ทั้งประเทศ พฤติกรรมอันบัดซบและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ได้จัดแสดงขึ้นที่ลานโพธิ์ ใน ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อสายวันจันทร์ที่ 4 ต.ค. ดังปรากฏกับสายตาของท่านนี้ เป็นสิ่งสุดที่ประชาชนชาวไทย จะอดทนนิ่งเฉยอยู่ต่อไปได้”

เหตุผลดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งปัจจัยและข้ออ้างที่ทำให้ทหารล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลายเป็นโศกนาฏกรรม 6 ตุลา ในที่สุด


6 ตุลา ความเจ็บที่สังคมยังไม่จำ

แม้ในบางครั้งยังคงมีเสียงกังขาว่าบาดแผลทางประวัติศาสตร์นี้ก็ผ่านมาเนิ่นนานแล้ว เหตุใดหลายคนจึงยังข้ามไม่ผ่านและขุดรื้อมันกลับขึ้นมา แต่ รศ.ดร.พวงทอง ทีมงานโครงการบันทึก 6 ตุลา ก็ชี้ว่าช่วงเวลา 40 ปีนั้นไม่นานเลยในแง่ประวัติศาสตร์ โดยยกตัวอย่างถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเหยียดผิว หรือการเลิกทาสของอเมริกา ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 150 ปี ก็ยังคงถูกพูดถึงและตื่นตัวอยู่สำหรับสหรัฐฯ กลับกัน สังคมไทยมักไม่ค่อยอยากเรียนรู้ด้านมืดของตัวเอง

“เอาเข้าจริงๆ นะคะ ไม่ว่าจะนานหรือไม่นาน กรณีนี้เนี่ยก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยเองรู้เกี่ยวกับมันน้อยมาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่คนที่มีอำนาจ คนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เขาไม่ต้องการให้เรารู้ แล้วเขาไม่ต้องการให้เราจำ เขาต้องการให้เรารู้แต่ประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างเดียว เพราะประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล แล้วมันชี้ให้เห็นความเหี้ยมโหด ความโหดร้ายทั้งของรัฐและของมวลชนที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังในขณะนั้น

“ถ้ามันไม่เรียนรู้ มันก็จะเกิดขึ้นอีก แล้วถ้าเราดูสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในขณะนี้ มันเต็มไปด้วยความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ซึ่งใกล้เคียงกับสถานการณ์ก่อนที่จะเกิด 6 ตุลา”

ถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจะไม่อาจแก้ไข ขณะที่ผู้บันดาลความรุนแรงหลายรายได้รับการนิรโทษกรรม และที่เหลือก็เสียชีวิตหรือหมดอายุความไปแล้วดังเช่นในกรณีของเหตุแขวนคอที่ประตูแดง แต่ รศ.ดร. พวงทอง ย้ำว่าสิ่งที่ทางโครงการทำไม่ใช่การหวังจะรื้อฟื้นคดี แต่เป็นความหวังที่จะมีการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และเห็นว่าสังคมไทยเต็มไปด้วยวัฒนธรรมของการปล่อยให้ผู้อำนาจลอยนวลและปกป้องคนในกลุ่มเดียวกันให้ไม่ต้องรับผิด

6 ตุลาคม 2519 เหมือนพฤษภา 2553 อย่างไร?
  • เหตุการณ์ 6 ตุลา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รศ.ดร. พวงทอง เสริมอีกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่ได้เป็นความรุนแรงที่เกิดจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่เกิดจากชาวบ้านธรรมดาที่ร่วมมือกันกลายเป็นมือสังหารให้กับรัฐในการใช้ความรุนแรงกับประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งเป็นผลจากการเมืองของความเกลียดชัง

สิตา การย์เกรียงไกร อดีตนักศึกษาเดือนตุลา ซึ่งในขณะนั้นชื่อว่า 'ตา เพียรอภิธรรม' เล่าว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาทำให้ตัวเองเปลี่ยนไปทั้งชีวิต

“สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ 6 ตุลา หลักๆ เลยก็คือชนชั้นปกครองทำอะไรก็ได้ที่เขาจะรักษาอำนาจของเขาได้ เขาจะทำอะไรก็ได้แม้กระทั่งการฆ่าคนกลางเมืองเพื่อรักษาฐานอำนาจของเขา เป็นบทเรียนชิ้นใหญ่ เขาทำอะไรก็ได้จริงๆ เขาไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม เขาไม่คำนึงถึงผู้คน” สิตา กล่าวพร้อมเสริมว่าในปีที่เกิดเหตุนั้น นักศึกษามองกันว่าคงจะเกิดการรัฐประหาร และก็คงจะเคลื่อนไหวต่อต้านได้ แต่ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่โหดเหี้ยมที่ไม่คิดว่าคนไทยจะทำกับคนไทยได้

ประตูสีแดง
  • สิตา การย์เกรียงไกร (ตา เพียรอภิธรรม) อดีตนักศึกษาเดือนตุลา

ในปัจจุบัน สิตานำประสบการณ์ของตัวเองทั้งการเคลื่อนไหวก่อน 6 ตุลา และชีวิตหลังหนีเข้าป่ามาเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กและมีแผนจะรวบรวมเป็นเล่มในภายหลัง เพื่อเป็นบทเรียนให้กับประชาชนไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก


ประวัติศาสตร์รอเรียนรู้ สู่พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา

ขณะนี้ประตูแดง ถูกนำไปจัดเก็บเป็นการชั่วคราวไว้ที่โกดังของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ ในซอยบางกรวย-ไทรน้อย 13/3 รอโอกาสจัดแสดงในอนาคต โดยคาดว่าน่าจะมีการจัดนิทรรศการเป็นระยะๆ ร่วมกับวัตถุอื่นๆ อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. พวงทอง เล่าว่า เป้าหมายสูงสุดที่ฝันไว้คืออยากจะรวบรวมวัตถุและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเป็นหอจดหมายเหตุหรือพิพิธภัณฑ์ถาวร แต่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงมาก ต้องมีผู้ที่มีเจตจำนงสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และต้องคงอยู่นานเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ดู แต่ปัจจุบันยังไม่มีงบประมาณและทรัพยากร จึงทำได้เฉพาะส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ในเว็บไซต์ doct6.com

เก็บประตูแดง.jpg
  • ประตูแดง ถูกเก็บไว้ที่โกดังของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์

“สิ่งที่ประเทศอื่นๆ เขาทำ เวลาเขารวบรวมหลักฐาน ข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ที่เสียชีวิตจากความรุนแรงของรัฐเนี่ย เขาจะเก็บอย่างดีมาก ของเราไม่มีการกระทำแบบนั้นเลย เราไม่ให้ความสนใจกับคนตาย เราจัดรำลึกเกี่ยวกับคนตายทุกปี แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วเราพูดถึงคนตายน้อยมาก แล้วเราแทบจะไม่รู้จักคนตายหรือเหยื่อเลยว่าเขาเป็นยังไง เพราะฉะนั้นเราคิดว่าก็น่าจะเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ แล้วต่อไปมันจะไปลงเอยยังไงก็อาจจะต้องเป็นเรื่องของคนรุ่นหลังที่จะต้องมาสืบต่อไป” พวงทอง กล่าว

ขณะนี้ทางโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เปิดรับบริจาคและรับซื้อเอกสาร ไฟล์เสียง ภาพเคลื่อนไหว สิ่งพิมพ์ ภาพถ่ายและวัตถุพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 รวมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ เพื่อให้เป็นสมบัติสาธารณะและเป็นสื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองสาธารณะ โดยจัดแสดงผ่านนิทรรศการชั่วคราวและพิพิธภัณฑ์ ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา 81 ซอยรัตนาธิเบศร์ 28 ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 Email: 6oct1976museum@gmail.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: