ไม่พบผลการค้นหา
ภาคเอกชน ยังห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว เร่งรัฐกระตุ้นท่องเที่ยว-ผ่อนปรนการเข้าถึงซอฟต์โลนของเอสเอ็มอี ชี้หากไตรมาส 2-3 ไม่มีความต่อเนื่อง ทำคนตกงานเพิ่มอีกนับล้านคน หวั่นปัญหาหนี้นอกระบบซ้ำ จับตา ครม.เศรษฐกิจ 10 ก.ค. นายกฯ ต้องประกาศความชัดเจนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือน มิ.ย.2563 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 31.5 จุด จากที่ในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 31.3 เป็นผลมาจากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 และ 4 ต่อเนื่อง รวมทั้งมีการยกเลิกเคอร์ฟิว เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ที่ปิดไปสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ รวมถึงการดำเนินมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 แม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยแต่ดัชนียังอยู่ต่ำกว่า 33.3 จุด ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ ในส่วนของสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัด ประจำเดือน มิ.ย.2563 ในประเด็นเศรษฐกิจของจังหวัดโดยรวม การบริโภคภายใน การลงทุนของภาคเอกชน การท่องเที่ยว ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า ภาคบริการ และการจ้างงาน ยกเว้นการค้าชายแดน ทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า ภาคเอกชนส่วนใหญ่มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลง สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลและไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจ 

นายธนวรรธน์ ระบุว่า ในช่วงรอยต่อไตรมาสที่ 2 ไปไตรมาสที่ 3 เป็น เป็นช่วงที่มีความน่ากังวลมากที่สุด ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถอัดฉีดเงินลงในระบบได้เร็ว โดยเฉพาะดำเนินมาตรการให้ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการทางด้านการท่องเที่ยวผ่าน Travel Bubble อาจจะทำให้คนตกงานอีกกว่า 1 ล้านคน เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระบุว่า อยู่ได้ไม่เกิน 3-6 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นห่วงว่าจะเกิดการกลับมาของหนี้นอกระบบ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะยังอยู่ในกรอบติดลบร้อยละ 8-10 แต่หากรัฐบาลสามารถดำเนินการมาตรการต่างๆ ได้ต่อเนื่อง ทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว การดำเนินการ Travel Bubble การอัดฉีดเงินลงระบบทั้งจาก พ.ร.ก.กู้เงิน และเงินงบประมาณปี 2563 และปี 2564 อาจทำให้เศรษฐกิจปีนี้ติดลบน้อยลง หรืออยู่ในรอบติดลบร้อยละ 5-6 

ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 ก.ค. สิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นมากที่สุดจากนายกรัฐมนตรี การประกาศมาตรการด้านเศรษฐกิจว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะการเร่งใช้เงินงบประมาณ และการจัดสรร พ.ร.บ.กู้เงินส่วนกระตุ้นเศรษกิจ 4 แสนล้านบาท เพื่อชะลอไม่ให้คนตกงานเพิ่มเติม ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีแนวทางอย่างไรในเฟส 2 ซึ่งควรที่จะมีกรอบแนวคิดว่าจะมีโครงการอะไรบ้าง หรือจะใช้เงินอย่างไร ในส่วนนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะต้องเตรียมให้พร้อม นอกจากนี้ในส่วนของนโยบายการเงิน อยากได้ยินการที่จะทำให้นโยบายการเงิน หรือ ซอฟต์โลน 5 แสนล้านจะถูกอัดฉีดเข้าระบบได้อย่าง รวมถึงความคืบหน้า Travel Bubble ด้วย

ส่วนประเด็นการประกาศลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษาฯ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และไม่มีผลต่อการทรุดตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากยังไม่ได้เป็นการลาออกจากคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามอาจจะเกิดความกังวลทางด้านจิตวิทยาเล็กน้อยในประเด็นการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีใหม่