ไม่พบผลการค้นหา
หน้าหนึ่งของสิ่งพิมพ์ทุกฉบับเช้านี้ อุทิศพื้นที่ให้กับการแสดงความเห็นของ “หม่อมอุ๋ย” การประกาศถึง “8 เหตุผลที่ผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีก” ถือเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ปล่อยออกมาก่อนการเลือกตั้ง ไปยังขบวนรถไฟสายสืบทอดอำนาจ กระแทกไปที่ความไม่โปร่งใสในการบริหารแผ่นดิน โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ ไปจนถึงวุฒิภาวะของคนเป็นผู้นำประเทศ

หม่อมอุ๋ยระบุในบทความว่า “ผมเห็นการกระทำที่เอาเปรียบคู่ต่อสู้อย่างไม่ละอายเช่นนี้แล้ว ก็ต้องการที่จะลดความได้เปรียบของฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ลง เพื่อให้มีการแข่งขันในการหาเสียงที่เป็นธรรมขึ้น” เรียกได้ว่าสำเร็จตามเป้าหมายทุกประการ เมื่อพาดหัวสิ่งพิมพ์ทุกหัวเช้านี้ ต่างอุทิศพื้นที่ให้กับคำวิจารณ์ของหม่อมอุ๋ย และคำโต้กลับจาก “พล.อ.ประวิตร-โฆษกรัฐบาล”

คมชัดลึก : บิ๊กป้อม ยัวะ กล่าวหา บิ๊กตู่ เผยเกาเหลา หลังถูกปรับพ้น ครม. ฉะอุ๋ยพูดส่งเดช

มติชน : ป้อมโต้แทนบิ๊กตู่-ปัดตั้งบรรษัทน้ำมัน ฉะอุ๋ยพูดส่งเดช

ไทยโพสต์ : อุ๋ย ทิ้งบอมบ์ บิ๊กตู่

ไทยรัฐ (กรอบเล็ก) : รบ.โต้หม่อมอุ๋ยสกัดทอดอำนาจ

ขณะที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2561 ลงบทความของหม่อมอุ๋ย “8 เหตุผลที่ผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี” เต็มหน้า

ดูเหมือนแผนการสืบทอดอำนาจที่วางไว้อย่าง “อ่านง่าย” จะทำให้ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเครือข่าย มั่นใจมากว่า จะสามารถผลักดันให้เกิดการตั้งรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จนได้

มั่นใจขนาดที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวปราศรัยย้ำว่า

“การเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา เราจะต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆเหล่านี้ เป้าหมายทุกคะแนนมีความสำคัญ ฉะนั้นตัวบุคคลในแต่ละเขตแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนให้ได้ เพราะทุกคะแนนมีความสำคัญ”

“การเลือกพรรคพลังประชารัฐ ก็คือการสนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัย แม้วันนี้พรรคพลังประชารัฐ​ยังมีคนรักไม่มากอย่างพรรคการเมืองเก่า แต่เราขอเป็นทางเลือกที่สำคัญในการยกระดับความมั่นคง การกินดีอยู่ดีของชาวบ้าน”

เป็นความมั่นใจในระดับที่ว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะมาเป็นที่ 1 ในการเลือกตั้ง ก็จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะกติกาออกแบบมาแล้ว เปิดช่อง สว.เลือกนายกรัฐมนตรี เปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัย แต่ดูเหมือนว่า ระเบิดจากหม่อมอุ๋ยไปยังขบวนรถไฟสายสืบทอดอำนาจ ที่มีหัวขบวน “ตู่-ป้อม-เฮียกวง” บัญชาการอยู่ จะทำให้เกมส์การเมืองที่วางไว้ ไม่ง่ายเสียแล้ว เพราะระเบิดลูกนี้ จะปลุกระเบิดอีกหลายลูกในทางการเมือง จะทำให้พรรคพลังประชารัฐเจอกระแสข่าวลบลบ ไปจนถึงวันเลือกตั้ง นี่แหล่ะคือสนามการเมืองของจริงที่นับวันบรรดาบิ๊กทหารยิ่งควบคุมไม่ได้

ขณะเดียวกันระเบิดจากหม่อมอุ๋ย ยังกระแทก-ยิงตรงไปที่สองเรื่องสำคัญ คือ (1)ความไม่โปร่งใส่ในการบริหารแผ่นดิน โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ (2)วุฒิภาวะของคนเป็นผู้นำประเทศ เสียงของคนระดับหม่อมอุ๋ยย่อมถูกรับฟัง-กระจายออกไปทั่วทิศ เพราะเป็นเสียงจากคนเคยเป็นอดีตผู้ว่าการแบงค์ชาติ เสียงของคนเคยเป็น รองนายก-รัฐมนตรี หลายสมัย และเป็นเสียงของอดีตรัฐมนตรีที่เคยร่วมรัฐบาลประยุทธ์มาก่อน มิพักต้องย้ำว่า เป็นเสียงที่ชนชั้นกลางไทยให้การยอมรับ-ยกย่อง ถึงความซื่อสัตย์ สุจริต และความเก่งกาจในการบริหารงานอยู่ไม่น้อย

ความไม่โปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน เอื้อทุนใหญ่-ทูนผูกขาด

“ท่านผู้อ่านอาจจะแย้งว่า การจะมีวินัยการคลังหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ผมมีประสบการณ์จริงมาแล้ว พลเอกประยุทธ์ เป็นคนที่เมื่อต้องการสิ่งใด ก็จะใช้กลเม็ดต่างๆ ให้ได้ตามใจต้องการ ถ้ารัฐมนตรีคลังต่อต้านก็จะเปลี่ยนรัฐมนตรี และหาคนที่ โอนอ่อนผ่อนตามเข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลัง

ในระหว่างหนึ่งปีที่ผมทำงานกับพลเอกประยุทธ์ ได้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์ สนิทสนม และใกล้ชิดกับนายทุนที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่บางราย เริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งบุคคลที่สนิทสนมกับกลุ่มธุรกิจปลอดภาษีเป็นประธานของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ตามมา ด้วยการแต่งตั้งให้บุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจใหญ่กลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เข้าไปนั่งเป็น กรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งช่วยให้สามารถได้รู้ข้อมูลด้านการลงทุนที่ยังไม่เปิดเผยก่อนผู้อื่น และรู้แง่มุมของการวางนโยบายที่เป็นเรื่องไม่พึงเปิดเผยด้วย และยังเคยเชิญ นักธุรกิจคนหนึ่งให้เข้าไปร่วมแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย ซึ่งก็เป็นความเห็นที่ เป็นประโยชน์แก่นักธุรกิจผู้นั้นโดยเฉพาะและยังมีตัวอย่างอื่นอีกหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักธุรกิจรายใหญ่บางคนโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังเคยเอ่ยปากให้ผมจัดให้กลุ่มธุรกิจกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน โดยไม่ต้องมีการประมูล เคยเอ่ยปากให้ผมจัดให้กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินในเขตทหารบริเวณกาญจนบุรี ให้เอกชนรายหนึ่งเช่าโดยให้คิดค่าเช่าในราคาถูก

ความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ ไม่เคยเข้าใจนัยสำคัญของเรื่องนี้

วุฒิภาวะของคนเป็นผู้นำประเทศ-ผู้นำทางการเมือง

ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ท่านไม่เคยทำให้ประชาชนไม่พอใจทหารเลย ในทางตรงข้ามท่านทำให้ประชาชนเห็นว่าทหารเป็นที่พึ่งของ ประชาชนที่สามารถพึ่งได้ในยามคับขัน และความรู้สึกที่ดีนี้ก็มีตลอดมาจนถึงปี 2557 แต่ในวันนี้ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อทหารได้เปลี่ยนไปแล้ว ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ เพราะเกิดจากการ กระทำของทหารเพียงกลุ่มเดียวที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ความคิดของทหารส่วนใหญ่ หากพลเอก ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่งไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก และหาก คสช.ยุติบทบาท ปล่อยให้เป็นเรื่องของระบอบประชาธิปไตย และไม่พยายามแฝงตัวเพื่อมีอำนาจในการบริหารประเทศนอกระบอบประชาธิปไตย ทำหน้าที่ดูแลประเทศชาติอย่างที่เคยทำมาในช่วงก่อน พฤษภาคม 2557 ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อทหารก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และเปลี่ยนจากความไม่พอใจความมีอภิสิทธิ์ของทหารมาเป็นความสบายใจที่มีทหารเป็นที่พึ่งในยามคับขันต่อไป”

พลเอกประยุทธ์ เป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องเพราะกลัวเสียคะแนนนิยม รัฐมนตรีที่เคยร่วมงานในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ สามารถเป็นพยานได้ว่า เมื่อมีเรื่องใดที่รัฐบาล ต้องอนุมัติเพื่อแก้ปัญหาหรือเพื่อปฏิรูป หากมีผู้ออกความเห็นคัดค้านใน Social Media บ่อยๆ พลเอกประยุทธ์ ก็สั่งให้ถอยเสมอ ด้วยความกลัวว่าตนเองจะเสียคะแนนนิยม แม้ว่าความเห็นใน Social Media จะไม่มีเหตุผลเพียงพอหรือตรงข้ามกับข้อเท็จจริง แต่ถ้านำลงใน Social Media ให้มากรายและหลายๆ ครั้ง ก็จะทำให้พลเอก ประยุทธ์ กลัวเสียคะแนนนิยมจนสั่งถอนเรื่องเสมอ

เรื่องที่ต้องถอนออกจากที่ประชุมหรือให้รอไปก่อนยังมีอีกมากมาย รัฐมนตรีที่เข้าร่วม ประชุม ครม.รู้ดี เพราะนายกรัฐมนตรีมักจะอ่านข้อความใน Social Media ที่ค้านมาตรการ หรือนโยบายของกระทรวงต่าง ๆ อ่านถึงเรื่องใดนายกรัฐมนตรีก็ออกปากให้หยุดหรือรอเรื่องนั้นไว้ก่อนเป็นประจำ

บุคคลที่ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวว่าจะเสียคะแนนนิยมเช่นนี้ หากได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก การปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ที่เตรียมกันไว้ก็จะเดินหน้าต่อไปได้ยาก เพราะมาตรการเพื่อ การปฏิรูปทุกเรื่องย่อมจะมีผลกระทบประชาชนบางกลุ่มอย่างแน่นอน ถ้าขาดความกล้าที่จะยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง การปฏิรูปก็จะไม่เกิดขึ้น”

“หากพลเอกประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปีหน้า ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ประธานของที่ประชุมผู้นำ ASEAN ด้วย ก็มีโอกาสที่คนไทยจะต้องอับอายขายหน้าอีกครั้ง เพราะพลเอกประยุทธ์ เป็นคนที่ไม่มีวุฒิภาวะในการควบคุมอารมณ์ และเมื่ออารมณ์เสียแล้วก็จะบุ่มบ่ามและมุทะลุ นอกจากนี้ ยังเป็นคนที่ต้องการแสดงออกให้คนรู้ว่าตนเองเก่งและรอบรู้ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้น ภายในที่มักจะทำให้เกิดการแสดงออกที่พลาดท่าได้

ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา นักข่าวก็มีโอกาสได้ฟังนายกแถลงข่าวทุกวันประชุม ครม. และนำบทแถลงข่าวและบทให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ ออกให้คนชมทางโทรทัศน์เป็นประจำ ทุกคนได้เห็นถึงการพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว มีลักษณะที่ก้าวร้าวและบางครั้งก็ใช้คำหยาบคายที่ไม่มีใครคาดคิดว่า จะออกมาจากปากของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ ซึ่งอาจกลายเป็นตัวอย่างที่เยาวชนจะทำตาม

มีผู้ช่วยแก้ต่างให้พลเอกประยุทธ์ว่า ที่พูดจาลักษณะนี้เพราะเป็นทหาร ผมคิดว่าเราไม่ควรกล่าวหาทหารเช่นนั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็พูดจาไพเราะเสนาะหู ไม่เคยพูดก้าวร้าว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็พูดจาดีและนุ่มนวล เพื่อนของผมที่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคน ก็พูดจาดี สุภาพ ไม่หยาบคาย และผมก็ทราบว่า กองทัพบกมีหลักสูตรสำหรับฝึกการพูดให้แก่ผู้ที่จะเป็นนายทหารระดับสูง ให้มีความเป็นสุภาพชนที่เหมาะสม คงมีพลเอกประยุทธ์ นี่แหละที่ทำได้ไม่ดีเท่านายทหารคนอื่น

ระเบิดจากหม่อมอุ๋ยไม่เพียงยิงตรงไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง แต่ยังยิงตรงไปยังเครือข่ายที่แวดล้อมอยู่ โดยเฉพาะต่อ “พล.อ.ประวิตร-รองนายกสมคิด-พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนใหญ่-ทุนผูกขาดอย่างแนบแน่น เฉพาะประเด็นนี้ยังมีบาดแผลอีกมากรอการขุดคุ้ย ดูตัวอย่างได้จากบรรดาโปรเจคประชารัฐที่ถูกตั้งคำถามถึงการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่มากไปกว่าช่วยเหลือ-สงเคราะห์คนจน

วันนี้หม่อมอุ๋ย ไม่ได้อยู่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แล้ว แต่ผู้ที่ขึ้นกุมบังเหียนแทนหม่อมอุ๋ย เมื่อ 20 สิงหาคม 2558 ในตำแหน่งเดียวกัน คือเป็นรองนายกรัฐมนตรีคุมเศรษฐกิจ  คือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” พี่ใหญ่แห่งกลุ่มสามมิตร คีย์แมนคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ กระแสข่าวในเวลานั้นคือทั้งคู่ขัดกัน เป็นที่มาให้ ทหารเคาะเลือกสมคิด และขับหม่อมอุ๋ยออกไปจากรัฐบาล เฉพาะจากบทความของหม่อมอุ๋ย ทำให้เห็นว่า ตัวเขาเองกับผู้มีอำนาจ ขัดกันในหลายเรื่อง-หลายฉาก ถ้าเช่นนั้น เมื่อไม่มีหม่อมอุ๋ยร่วมรัฐบาลอยู่คอยเตือนสติ-เห็นต่าง-ขัดผู้มีอำนาจแล้วแต่แทนที่ด้วยคนที่พร้อมเห็นดี-เห็นงาม สภาพการดำเนินนโยบายต่างๆ จะเป็นอย่างไร ? จะเอื้อนายทุนใหญ่-นายทุนผูกขาด มากเพียงใด ?

เมื่อวันที่ปลดหม่อมอุ๋ยออกไป มีกระแสข่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะตั้งหม่อมอุ๋ย เป็น “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” แต่หม่อมอุ๋ยปฏิเสธรับตำแหน่งทันที ด้วยเหตุผลไม่ชอบหลักการแบ่งแยกแล้วปกครอง มีคน “นั่งตามจับผิดตลอดเวลา”​ ซึ่งบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ อธิบายถึงสภาพความขัดแย้ง ระหว่างทีมเศรษฐกิจ ครม. ที่นำทีมโดย หม่อมอุ๋ย กับ ทีมเศรษฐกิจ คสช. ที่นำทีมโดย สมคิด ได้ดี

“ก็ผมโดนมาแล้วไง ผมทำงานก็โดนนั่งตามจับผิดตลอดเวลา คนทำงานมันหมดแรง จึงไม่อยากให้นายสมคิดหมดแรง ให้เขาทำเต็มที่ สนับสนุนเต็มที่ ถ้าคนหนึ่งทำ คนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาคอยตามจับอันไหนถูกอันไหนผิด ผมเคยโดนมาแล้วรู้สึก ก็ให้นายสมคิดได้ทำเต็มที่เลย ไม่ใช่ให้ผมมาเป็นที่ปรึกษาคอยตามงาน คนทำงานไม่มีความสุขหรอก หนังสือพิมพ์ตามงานก็เหนื่อยพออยู่แล้ว เข้าใจไหม เพราะฉะนั้นไม่ควรมีที่ปรึกษาเข้าไปตามจ้องจับเขา ต้องให้เขาทำเต็มที่ ผมสนับสนุนเต็มที่แน่นอน อะไรไม่ดีแอบเตือนกันได้ วิธีการที่คอยมาตามงาน แล้วจี้คอยบอกว่าผิดหรือถูก มันน่ารำคาญ อันนี้เป็นอุปสรรคในการทำงาน อย่าไปหาใครมาคอยคานอำนาจ หรือหาใครมาคอยตามผลงาน จะให้ใครทำงานต้องให้เขามีความสุข อย่าไปใช้หลักแบ่งแยกแล้วปกครอง เข้าใจนะเรียนหนังสือมารึเปล่าหลักรัฐศาสตร์”

ในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งของ “ปลื้ม-ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล” ในช่วงเวลาที่มีกระแสของการปลดหม่อมอุ๋ยพ้นรัฐบาลประยุทธ์ “การจะอยู่ใน ครม.หรือไม่อยู่ ไม่ใช่ประเด็น แต่เรื่องนี้มีการโยนบาปให้คนคนหนึ่งรับไป แต่ส่วนตัวก็ไม่อยากให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  ถูกปรับออก เพราะหนึ่ง หน้าที่สำคัญที่คอยสอดส่องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตที่ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน อีกด้านหนึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ทำงานไม่เคยกลัวโดนด่าหากเป็นเรื่องที่ถูกต้องและกล้าทำจริง”

คำถามก็คือ เมื่อคนทำงานที่คอยสอดส่องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตถูกปรับออกจากขบวนรถไฟแล้ว --  รถไฟขบวนนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างไร ? และยิ่งเป็นขบวนรถไฟสายสืบทอดอำนาจ ที่มีแต่คนเห็นดีเห็นงามพร้อมตามใจกัน ก็ยิ่งพังไปใหญ่ รถไฟสายนี้เลยออกแนวเป๋ๆ โดยเฉพาะการอ้างว่าถูกทำต้องตามกฎหมายอยู่เสมอ โดยไม่ตระเรื่องสำนึกและความสง่างามทางการเมือง  เห็นได้จากที่หม่อมอุ๋ยเขียนไว้ เช่น

“ใช้การประชุม ครม. เป็นที่แฝงตัวในการหาเสียงทั่วประเทศ”

“เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีในสังกัดที่เป็นผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่แฝงตัวในการหาเสียงก่อนพรรคการเมือง”

“การใช้งบประมาณแผ่นดินในการสร้างความนิยมให้แก่ตนเองและพรรคการเมืองฝ่ายตน ...​โดยไม่รู้สึกละอายว่านำเงินของประชาชนไปใช้หาเสียง อีกทั้งยังปฏิเสธอย่างหน้าไม่อายว่าโครงการนั้นไม่ใช่โครงการประชานิยม”

ระเบิดอีกหลายลูกจะกระแทกไปยังขบวนรถไฟสายสืบทอดอำนาจ โดยไม่มี ม.44 คอยคุ้มกัน และโดยที่มีคำเตือนสำคัญมาถึงระบอบเผด็จการทหารชุดนี้แล้วว่า “ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นเรื่องสำนึก”



วยาส
24Article
0Video
63Blog