ไม่พบผลการค้นหา
ก่อนมีโควิด-19 ตัวเลขหนี้ของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกอยู่ที่ 8,297 ล้านล้านบาท นักวิเคราะห์ชี้ผลลัพธ์จะแย่ขึ้น เหตุจากหลายรัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลอุ้มเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วบางแห่งต้องเก็บภาษีเพิ่ม

ช่วงต้นเดือน ม.ค.ก่อนที่หลายประเทศจะต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ธนาคารโลกออกมาเตือนความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตหนี้โลก โดยชี้ว่าปริมาณหนี้โลกที่เริ่มตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา "เพิ่มขึ้นมากที่สุด รวดเร็วที่สุด และครอบคลุมกว้างขวาง" ในรอบ 40 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2513 

ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในครึ่งแรกของปี 2562 โลกมีหนี้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 7.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 244 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ยอดรวมของหนี้สะสมอยู่ที่ 250 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8,134 ล้านล้านบาท 

รายงานชี้ว่า "หากไม่มีสัญญาณการชะลอตัวลง เราคาดว่าจะเห็นหนี้ของโลกทะลุ 255 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8,297 ล้านล้านบาท) ในปี 2562 ซึ่งมาจากสหรัฐฯ และจีนเป็นหลัก"

ทั้งนี้ ตัวเลขทั้งจากธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ คือการประเมินก่อนที่จะมีปัจจัยบั่นทอนเศรษฐกิจจากมาตรการปิดประเทศต่างๆ และล่าสุดไอเอ็มเอฟเองก็ออกมาประเมินภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่โลกเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ นอกจากนี้ 'คริสตาลินา จอร์เจียวา' ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟยังออกมายอมรับแล้วว่า ราวครึ่งหนึ่งของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยื่นขอผ่อนผันการจ่ายหนี้กับไอเอ็มเอฟแล้ว 

ไอเอ็มเอฟ

  • 'คริสตาลินา จอร์เจียวา' ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ

ในรายงาน 'Coronavirus will put government finances under strain' (ไวรัสโคโรนาจะทำให้การเงินของรัฐบาลตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียด) จากหน่วยอินเทลลิเจนซ์ ของนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ ชี้ว่า หลังจากเกิดวิกฤตการเงินในช่วงปี 2551 - 2552 รัฐบาลมีหนี้ต่อสัดส่วนจีดีพีเพิ่มขึ้นสูงมากและพยายามที่จะลดสัดส่วนเหล่านี้ลงมาด้วยการลดการใช้จ่ายภาครัฐ หรือเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้ผลบ้างในประเทศทางตะวันตกของทวีปยุโรป ที่สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลงอยู่ที่ร้อยละ 79 ในปี 2561 จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 85 ในปี 2555

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้รัฐบาลต่างๆ ต้องหันมาใช้นโยบายการคลังอย่างเข้มข้นในการเข้าอุ้มเศรษฐกิจ ซึ่งว่ากันในเม็ดเงินที่มากกว่าสมัยวิกฤตการเงินมาก เพราะปัจจุบันมีช่องว่างให้ธนาคารกลางเข้ามาใช้นโยบายการเงินเพื่อช่วยเศรษฐกิจน้อยแล้ว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศก็ใกล้ศูนย์เข้าไปทุกที แต่การประเมินว่ารัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินเข้าอุ้มเศรษฐกิจของประเทศตัวเองมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการแพร่ระบาดและการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นหลัก 

เรื่องที่แน่ชัดแล้วคือ รัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับกองหนี้มหาศาลหลังการแพร่ระบาดครั้งนี้จบลง ซึ่งปัญหาบางประการที่ตามมา อาทิ ในประเทศพัฒนาแล้ว รายงานสะท้อนว่า การจะควบคุมปริมาณหนี้ให้ลดลงโดยวิธีการเก่าๆ อย่างการลดการใช้จ่ายของรัฐบาลลงดูจะไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป เพราะนั่นหมายถึงการลดเม็ดเงินสนับสนุนฝั่งสาธารณสุขเพื่อควบคุมโรคระบาด

ดังนั้น รายงานชี้ว่าจึงมีความเป็นไปได้ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางแห่งอาจใช้การปรับเพิ่มการจัดเก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐแทน แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าการปรับเพิ่มการจัดเก็บภาษีจะเกิดขึ้นรวดเร็วแค่ไหน

อ้างอิง; The Economist, CNBC