ไม่พบผลการค้นหา
87 ปีคืออายุของประเทศไทยที่อยู่ในรูปแบบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ทว่าปีที่ 87 นี้ยังไม่พ้นกับการวนเวียนเข้าสู่วังจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งภายหลังการเลือกต้ังที่ผ่านการรัฐประหาร 'ณัฏฐา มหัทธนา' แกนนำคนอยากเลือกตั้งยังคงไม่ละทิ้งภารกิจภาคประชาชนเพื่อปลดล็อกให้นำไปสู่การแก้ไข รธน. ในรัฐสภา

'โบว์ ณัฐฏา มหัทธนา' เป็นหนึ่งในสมาชิกที่ร่วมรณรงค์ในเครือข่ายแก้รัฐธรรมนูญหลายเครือข่าย และหากจำกันได้ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 โบว์ ณัฏฐา คือ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่เรียกร้องให้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดการเลือกตั้ง

การเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของ 'ณัฏฐา' และเครือข่าย ในช่วงนี้ยังคู่ขนานกับการผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้เสนอ ซึ่งญัตติได้คาอยู่ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้

เนื่องในปีที่ 87 ของวันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม 2562 เป็นวันระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย

'วอยซ์ ออนไลน์' สัมภาษณ์พิเศษ 'ณัฏฐา' ถึงการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ซึ่งเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผลพวงรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันกำลังสร้างความปั่นป่วนอยู่ในสภาฯ ล่าสุดเพราะกติกาออกแบบให้เกิดรัฐบาลผสมถึง 16 พรรคการเมือง และยังมีฝ่ายค้านอิสระ 2 พรรคที่เดิมที่เคยอยู่ร่วมรัฐบาล

'โบว์ ณัฏฐา' อธิบายว่า "รัฐธรรมนูญคือหลักการสูงสุดในการอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายปกครองสูงสุดของประเทศ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับเป็น กติกาของคนร่วมบ้าน แต่เป็นกติกาในกรอบที่ใหญ่สุดก่อนที่เราจะลงไปสร้างกติกาย่อยๆ ร่วมกัน เป็นหลักการสำคัญในการอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน"

"รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาที่หนักมาก การที่เราจะแก้ไปได้ เราก็ต้องแก้ มาตรา 256 (ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) นี้ก่อน เพราะมาตรา 256 มันเหมือนกติกาที่เขียนแล้วบอกว่า เหมือนเรามีบ้านหลังหนึ่งที่เราสร้างมา มันก็มีปัญหาเยอะมาก ในบ้านนี้ มีข้อบกพร่องเยอะแยะเลย แต่มีคนเขียนกฎไว้ว่า ห้ามซ่อม ถามว่าถ้าคุณเป็นคนอยู่ในบ้านนี้ คุณจะอยู่ได้ไหม แล้วไม่รู้ว่ามันจะพังเมื่อไหร่"

โบว์ ณัฎฐา

ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยที่มีรัฐธรรมนูญปกครองประเทศถึง 20 ฉบับ

เวลาที่เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ เกือบทั้งหมด เกิดจากการฉีกรัฐธรรมนูญ ผ่านการยึดอำนาจ รัฐประหาร เพราะฉะนั้นถามว่าทำไมประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเยอะ น่าจะเป็นเพราะมีทหารเข้ามามีบทบาทยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มากเกินกว่าที่หลายๆ ประเทศในโลกเขาเป็นกัน

ทุกประเทศไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบไหน มักจะต้องมีกฎหมายสูงสุดอยู่ เพราะฉะนั้นถ้ามีการฉีกก็จะต้องมีการร่างใหม่ ถ้าฉีกบ่อยก็ร่างใหม่บ่อย

เขาไม่ได้ต้องการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่ยึดอำนาจ เขาต้องการอำนาจปกครองเป็นของตัวเอง ต้องการจะเปลี่ยนจากรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา ให้เอาอำนาจนั้นมาอยู่ในมือของตนเอง มันจึงเกิดการรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญ การมีรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ใช่เป้าหมายของคนยึดอำนาจ การได้อำนาจมาอยู่ในมือ คือ เป้าหมายของคนยึดอำนาจ

ที่ผ่านมาคิดว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับที่ไหนที่ดีที่สุด หรือ เหมาะสมที่สุด กับสังคมไทย?

จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด โดยส่วนตัวโบว์เอง ไม่ได้มีปัญหาว่า "เนื้อหา" ในรัฐธรรมนูญจะมีรายละเอียดอย่างไร ไม่มากเท่ากับว่า "ที่มา" ของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงที่มาของรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมมากที่สุด โดยเฉพาะในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ก็คือ 'รัฐธรรมนูญปี 2540' เพราะว่าเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด เช่นเดียวกับกติกาในทุกๆ ที่ แม้แต่ในบ้านหรือในห้องเรียน กติกาที่จะเป็นที่ยอมรับมากที่สุด ต้องมาจากการที่มีส่วนร่วม ระหว่างผู้ปกครอง กับผู้อยู่ใต้ปกครอง

รัฐธรรมนูญ 2560 สะท้อนให้เห็นอะไรในสังคมไทย?

สะท้อนให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญมีที่มา ที่ไม่ชอบธรรม และไม่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างถูกต้อง ประชามติอย่างเดียวเราไม่นับว่า ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างสมบูรณ์แล้ว พอมีที่มาแบบนี้ เราได้เห็นว่า มีเสียงของคนที่ไม่ยอมรับมากมายอย่างไร อันนี้ยังไม่พูดถึงเนื้อหา มีปัญหาที่ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารบ้านเมืองอย่างไร เพราะฉะนั้นถามว่ารัฐธรรมนูญ 2560

"สิ่งที่มีจุดเริ่มต้นที่ไม่ชอบ ไม่อาจจะนำมาสู่ผลที่ดี เราก็เลยได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ แล้วก็มีประชาชนส่งเสียง ต่อต้าน จำนวนมาก แล้วก็ไม่อาจจะทำให้ประเทศเข้าสู่โหมดที่เรียกว่า ปรองดอง หรือปฏิรูปอะไรได้เลย แม้ว่าจะโหวตในญัตติแต่ละญัตติในสภา ก็มีปัญหา เพราะว่าเรามีรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำเกิดจากอะไร ก็เกิดจากการที่กติกาการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ ถูกออกแบบมา ให้มันไม่เกิดเสียงขาดไปในทางใดทางหนึ่ง การที่เรามีรัฐบาลผสมด้วยพรรคการเมืองถึง 19 พรรค"

โบว์ ณัฎฐา

'โบว์ ณัฏฐา' กล่าวต่อว่า มันไม่ปกติ ไม่มีรัฐบาลในประเทศที่เป็นอารยะ ประชาธิปไตยปกติที่ไหนในโลก จะมีรัฐบาลผสมถึง 19 พรรค การที่กติกาการเลือกตั้ง ออกแบบมาให้มีการกากบาทครั้งเดียว กากบาทเดียวเลือกทั้งคนในเขต และเลือกทั้งพรรค ที่สุดแล้ว บวกกับสูตรการคำนวณที่พิสดาร มันออกมาเป็นผลให้เราเห็นว่า พรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชน ได้ ส.ส. เขต มาก กลับกลายเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเลย ในขณะที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรค คือผู้บริหารของพรรคการเมือง หรือพูดง่ายๆ นักการเมืองแถวหนึ่งของพรรคนั้น การที่คนเหล่านี้ ถูกกีดกันไม่ให้เข้าสภา ด้วยวิธีการออกแบบการเลือกตั้งแบบนี้ มันทำให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ในภาคการเมือง แล้วเราก็จะเห็นว่า พรรคการเมืองบางพรรค มี ส.ส. คนเดียว ที่มาจากเสียงรวมกันทั้งประเทศ ได้สามหมื่นกว่าเสียง แต่เข้าไปในสภาได้ถึง 10 กว่าพรรค มันไม่ปกติ และนั่นก็นำมาสู่การมีรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ เสียงปริ่มน้ำ จะโหวตทีจะทำอะไรที ต้องเจรจาต่อรองกันถึง 19 พรรค มันก็ส่งผลมาถึงประชาชน เพราะรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ ย่อมไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร อย่างเต็มศักยภาพ

คนที่รับเคราะห์กรรมจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ ประชาชน ที่ต้องมีชีวิตอยู่กับการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ เราก็เลยเห็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่มันไม่ได้ถูกแก้ไข แล้วเราก็ต้องอยู่กันแบบนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 หลังจากที่ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการแล้ว รัฐบาล คสช. ในขณะนั้นก็จัดให้มีการทำประชามติ โดยรัฐธรรมนูญถูกยกร่างขึ้นโดย 'คณะกรรมการรร่างรัฐธรรมนูญ' (กรธ.) มีประธาน คือ 'มีชัย ฤชุพันธุ์' ซึ่ง กรธ. ทั้งหมดนี้ถูก "แต่งตั้ง" ขึ้นโดย คสช.

แน่นอนว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ผ่านการทำประชามติมาแล้ว แต่หากใครยังจำได้ ประชามติในครั้งนั้นยังเป็นที่เคลือบแคลงใจต่อประชาชน และผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การจับกุม และดำเนินคดีกับนักกิจกรรม และสื่อมวลชน .

"การประชามติครั้งนั้น ไม่อาจถูกเรียกว่าเป็นประชามติที่ชอบธรรม" ณัฏฐา ระบุ

แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เล่าว่า ในช่วงของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. 2559 ก่อนจะถึงวันประชามติ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หนึ่ง บ้านเมืองอยู่ภายใต้ การบริหารของรัฐบาล คสช. หัวหน้า คสช. มีอำนาจ ตามมาตรา 44 ที่จะออกคำสั่งอะไรเป็นกฎหมายก็ได้ แล้วส่วนหนึ่งในคำสั่งที่ออกมาก็คือ คำสั่งที่สกัดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพประชาชน อย่างเช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กำหนดให้ ห้ามชุมนุมทางการเมือง เกิน 5 คน คำสั่งควบคุมสื่อ ให้ กสทช. มีอำนาจปิดสื่อได้ต่างๆ

สอง ก่อนการประชามติ มีการออกว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว มีบางมาตราที่เขียนอย่างกำกวมว่า ซึ่งมีการตีความโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ออกมาว่า ห้ามรณรงค์ไม่ให้คนโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ คือ ห้ามรณรงค์โหวตโน ทำให้เกิดการจับกุมนักศึกษา ประชาชน แม้แต่นักการเมือง ก็มีโดน คนที่ออกมารณรงค์โหวตโน ถูกจับไปขัง ถูกจับปรับทัศนคติก็มี ถูกจับตั้งข้อหาประชามติก็มี เป็นผลให้การรณรงค์ครั้งนั้นเป็นการณรงค์ฝ่ายเดียว

รัฐบาลในตอนนั้น ส่งครู ที่เขาเรียกครู ก ข ค ส่งทหาร ออกไป จำนวนเป็นแสนๆ คน ลงพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ มันดีงามอย่างไร ทำไมจึงควรโหวตรับ ในขณะที่มีนักศึกษา นักกิจกรรม ประชาชน หรือแม้แต่สื่อมวลชน ที่พูดถึงในเชิงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกสกัดกั้นแบบนี้ ทำให้ "การประชามติครั้งนั้น ไม่อาจถูกเรียกว่าเป็นประชามติที่ชอบธรรม"

ประชามติ-ค้านลงประชามติ

ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 มีเยอะมาก ส่วนตัวคิดว่าปัญหาสำคัญ ที่ควรจะได้รับการแก้ไขที่สุด คืออะไร

เรื่องของกติกาในการเลือกตั้ง มันต้องเป็นกติกาที่ หนึ่ง สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่พอเอาไปคำนวณแล้ว มันผิดจากผลการเลือกตั้งที่แท้จริง สอง คือ ที่มา และบทบาทของ ส.ว. การมี ส.ว. 250 คน จากการแต่งตั้งโดยคนๆ เดียว หรือคนคณะเดียว คือ หัวหน้า คสช. แต่งตั้ง ส.ว. 250 คนนี้ แต่ ส.ว. 250 คนนี้ กลับมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. 500 คน จากการเลือกตั้งของประชาชน นั่นหมายความว่า คนหนึ่งคน มีอำนาจถึง 1 ใน 3 ของสภา เหนือคนทั้งประเทศ

อย่างที่เราเห็นในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.เขาก็โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คนเดียว อันนี้เป็นปัญหาหนักแน่นอน เพราะว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการของประชาธิปไตยโดยตรง หลักประชาธิปไตย คือ 1 คน 1 เสียง เพราะฉะนั้นส่วนนี้ต้องแก้ไข

นอกจากนั้นยังมีกลไกของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ ยุทธศาสตร์นี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เพราะว่ามีการไปเขียนข้อกำหนดไว้ว่า ถ้าเกิดว่า รัฐบาลไหน คณะรัฐมนตรีไหน บริหารงานขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็จะถูกดำเนินคดีอาญา แล้วจะต้องพ้นจากตำแหน่งไป อันนี้หมายความว่า มันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการกลั้นแกล้งทางการเมืองได้โดยง่าย

สุดท้ายรัฐธรรมนูญนี้ มีการเขียนไว้ในมาตรา 256 ทำให้ที่คนพูดกันว่า แก้ไม่ได้ เพราะว่ามาตรานี้มีการล็อคไว้ว่า ถ้าคุณจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องมีเสียง ส.ว. ถึง 84 เสียง คือ 1 ใน 3 ถ้า ส.ว. มาเห็นด้วยไม่ถึง 84 เสียง คุณไม่สามารถแก้ได้ แล้วอย่าลืมที่มาของ ส.ว. มาจากไหน

สอง คือ พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเห็นด้วย ที่โบว์บอกทุกพรรคต้องเห็นด้วย คือมีการเขียนว่า มันต้องมีเสียงจากทุกพรรค อย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ถ้าพรรคไหนเขามี ส.ส. คนเดียวอยู่ในสภา 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 100 เปอร์เซ็นต์ มันก็คือคนเดียวนั่นแหละ คนๆ เดียวสามารถสกัดขัดขวาง การแก้รัฐธรรมนูญได้เลย ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนใน 10 กว่าพรรคนั้น

ซึ่งอันนี้คือ ไม่ปกติละ เพราะว่าคนทั้งสภาเกิดเห็นด้วย แต่มีหนึ่งคนที่มาจากหนึ่งพรรค ที่มีเสียงเดียวบอกว่า ไม่เอาไม่ให้แก้ เท่ากับทั้งประเทศนี้ต้องอยู่กับ รัฐธรรมนูญที่คนส่วนใหญ่อยากแก้ แต่มีคนเดียวบอกไม่ให้แก้ แล้วมันเป็นไปได้

โบว์ ณัฏฐา  คนอยากเลือกตั้ง 20180522_Sek_42.jpg

ในฐานะนักกิจกรรมจะทำบทบาทตรงนี้อย่างไร ประชาชนสามารถทำอะไรได้บ้าง ถ้ารู้สึกไม่อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้?

ตอนนี้ในภาคประชาชนความพยายามที่เราเห็นเกิดขึ้น แล้วโบว์เองก็มีส่วนร่วมด้วย ก็คือการรณรงค์ ไม่ว่าจะผ่านเวทีเสวนา เพื่อที่จะอธิบาย ถกเถียง พูดคุย ให้ทุกๆ คน ฟังว่า มันมีปัญหาอย่างไร แล้วทำไมการแก้จึงดีกว่า การไม่แก้ มีบางเครือข่ายก็ทำการเข้าชื่อ กระบวนการเข้าชื่อ ก็คือ ตามกฎหมายให้ประชาชนลงชื่อได้ 50,000 ชื่อ เพื่อจะเสนอต่อสภา เพื่อจะเสนอการแก้ไขได้ มีการทำเพจต่างๆ ให้ข้อมูลความรู้ หรือในเครือข่ายที่โบว์มีส่วนร่วมด้วย

อย่างภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ก็มีแผนที่จะเสนอสภาให้เปิดเวทีถกแถลง กระจายออกไปทั่วประเทศ ที่จะรวบรวมความคิดต่างๆ เอามานำเสนอ สู่สภาในการแก้ไขอีกที แล้วถ้าประชาชนอยากจะมีส่วนร่วม หนึ่ง คือ แชร์ข้อมูลข่าวสาร ที่มาจากเครือข่ายเหล่านี้ สอง คือ เข้าร่วมเวทีต่างๆ เมื่อมี โอกาสที่เราจะไปรับฟัง หรือแสดงความคิดเห็น สาม ถ้าใครอยากจะร่วมเข้าชื่อ เครือข่ายไหนเปิดรับการเข้าชื่อ ก็ไปร่วมลงชื่อได้ ที่สุดแล้วมันคือ การที่สร้างบทสนทนา และทำให้บทสนทนานี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพื่อที่เราจะเปลี่ยนสังคมนี้ ไปด้วยกัน เสร็จแล้วเมื่อถึงเวลา เพราะว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ปัจจัยหนึ่งคือ จะมีการประชามติ คือประชาชนจะได้ออกความเห็นอีกครั้งหนึ่ง ว่าอยากจะแก้ หรือไม่อยากจะแก้ ก็ไปใช้สิทธิ นั่นก็คือสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้

รณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ

เมื่อทางเลือกมีเพียง 2 ทาง "อยู่แบบเดิม" หรือ "เดินหน้าต่อ"

คิดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จไหม?

กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ได้รับคำปรามาส หรือบางทีก็ไม่ใช่การปรามาส แต่เป็นการพูดด้วยความหมดหวัง ว่าไม่มีทาง ยังไงก็แก้ไม่ได้ เพราะเขาเห็นล็อคที่ล็อคเอาไว้แล้ว ส.ว. 84 คน คุณจะไปหามาจากไหน เสียงจากพรรคการเมืองทุกพรรค แม้แต่พรรคที่มี 1 คน คุณจะทำอย่างไรให้มันได้ครบ ทุกคนก็เลยบอกว่า แก้ไม่ได้

"แต่เราก็ยัง เดินไปด้วยความคิดว่า มันไม่มีทางอื่น คุณมีทางเลือกสองทาง หนึ่ง คือ อยู่กับรัฐธรรมนูญแบบนี้ และได้รัฐบาลด้วยวิธีแบบนี้ ต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ว่ามาตราไหนในสองร้อยกว่ามาตรา คุณอยากจะแก้ คุณไม่สามารถทำได้เลย คุณอยากจะอยู่แบบนี้ไหม สอง คือ รณรงค์ ช่วยกัน จนกระทั่งเกิดความรู้สึกร่วมกันมากๆ ในสังคม แล้วมันสามารถไปกดดัน คนที่ดำรงตำแหน่งการเมืองได้ ว่าเนี่ย คือเสียงประชาชน ฟังไหม เรามีทางเลือกแค่สองทาง เพราะฉะนั้น เราก็เลือกทางที่จะเดินไปข้างหน้า เราไม่เลือกทางที่นั่งอยู่เฉยๆ"

เพราะต้องบอกทุกคนว่า "กติกา" ที่มีปัญหาในรัฐธรรมนูญ มันไม่ใช่ข้อหลักๆ ที่เราพูดเท่านั้นนะ สิ่งที่เกี่ยวกับประชาชนโดยตรง อย่างเช่น การศึกษา ที่เขาบอกว่า การศึกษาภาคบังคับ 12 ปี แล้วมันไปจบแค่ ม.3 ถ้าเกิดคุณอยากให้มันยืดถึง ม.6 หรือถึงปริญญาตรี คุณก็ทำไม่ได้ ถ้าเกิดคุณไม่เริ่มต้น ที่จะเปิดประตูของการแก้ไข เพราะฉะนั้น เรื่องนี้สำคัญ อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม

มงคลกิตติ์-สมศักดิ์ สภา


โบว์ ณัฎฐา

ตอนนี้มีหลายเครือข่ายออกมารณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ คิดอย่างไรบ้างที่มีบางคนบอกว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเก่าแล้ว ไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้พูดแล้ว หรือบอกว่ามองไปทางไหนก็ดูมีแต่ทางตัน

คนที่บอกว่ามันไม่มีอะไรใหม่แล้ว แปลว่าเขาอาจจะติดตามมาพอสมควร และเขามีความรู้ที่คิดว่าพอแล้ว คือเหมือนกับว่า รู้แล้วแหละว่าควรแก้ แล้วไงจะพูดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เหรอ เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้โบว์ไม่ถือว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรคอะไร จริงๆ เขาควรมีบทบาทในการพูดต่อได้ การที่คนรู้สึกว่าไม่มีอะไรใหม่แล้ว อันนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะแปลว่าเข้าใจพอสมควรแล้ว ส่วนความรู้สึก "สิ้นหวัง" หรือรู้สึกว่า "เป็นไปไม่ได้" ก็อยากจะบอกว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญในเมืองไทย น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ยากที่สุดในโลกนี้ เรื่องที่อยากที่สุด ยากกว่านี้ มนุษย์เราเคยทำมาหมดแล้ว แม้แต่การไปดวงจันทร์ ก็เคยไปมาแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าอยู่กับความรู้สึกของความเป็นคนขี้แพ้ คือแบบยกธงตั้งแต่ยังไม่เริ่มเดิน อะไรอย่างนี้

การแก้รัฐธรรมนูญได้จะต้องไปดีลกับพรรคการเมืองไหนเป็นพิเศษไหมเพื่อให้พรรคการเมืองนั้นมีบทบาทไปคุยกับ นายกรัฐมนตรี หรือ ส.ว.?

จริงๆ แล้ว เรามุ่งหวังว่า ทุกพรรคการเมือง และนักการเมืองที่เข้ามาเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ย่อมควรจะต้องการที่จะมีรัฐธรรมนูญที่มาด้วยวิถีประชาธิปไตย ดังนั้น ทุกพรรคค่ะ ไม่ได้เฉพาะพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพิิเศษ ที่จะต้องผลักดันเรื่องนี้ และเช่นกัน ไม่รังเกียจพรรคการเมืองไหนเลย ที่จะมาร่วมผลักดันในเรื่องนี้

รัฐธรรมนูญฉับับนี้แก้ไขยาก แต่หากแก้ไขสำเร็จแล้ว คิดว่า วิธีการไหนที่จะป้องกันไม่ให้คณะรัฐประหารมาฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อีก?

โบว์คิดว่า มีสามอย่าง ที่จะพูดในประเด็นนี้ หนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถ้าเราแก้ได้จริง ถ้าเราร่างใหม่ได้จริง ด้วยกระบวนการผ่านรัฐสภา แล้วก็การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่จะทำให้ทุกคนในประเทศนี้มีส่วนร่วม ในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ได้จริง โบว์คิดว่าครั้งทุกคนจะรู้สึกหวงแหน ทุกคนจะรู้สึกหวงแหน เพราะว่า เขามีส่วนร่วม เมื่อมีความรู้สึกหวงแหนมากพอ

ขั้นที่สอง ถ้ามีใครออกมาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ในครั้งต่อไป ประชาชนที่รู้สึกหวงแหนเหล่านี้ จะไม่ยอมอยู่บ้านเฉยๆ ณ วันที่มีประกาศยึดอำนาจ ทุกคนจะรู้ว่า เราจะออกไปเจอกันที่ไหน แล้วประชาชนมืดฟ้ามัวดินจะอยู่ด้วยกันที่ตรงนั้น โบว์คิดว่า สิ่งนี้สกัดกั้นการยึดอำนาจไม่ให้ประสบความสำเร็จได้ ไม่ให้ฉีกรัฐธรรมนูญได้อีก

ขั้นที่สาม คือ ต้องไม่มีคนรับรองการยึดอำนาจ ถ้าไม่มีการรับรองให้การยึดอำนาจเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย ถ้าสถาบันต่างๆ รวมทั้งสถาบันตุลาการ ไม่อ่อนน้อมต่ออำนาจแบบนี้ การยึดอำนาจไม่มีทางทำได้สำเร็จ แล้วรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมครั้งนี้จะไม่มีวันถูกฉีกอีก

คนอยากเลือกตั้ง โบว์ ณัฏฐา 0180522_Sek_43.jpg

บทบาทแกนนำ จากคนอยากเลือกตั้ง สู่ แนวร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หากใครติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดในยุค คสช. น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักบทบาทของ 'โบว์ ณัฏฐา' ในการออกหน้าสู้ เคลื่อนไหวททางการเมืองให้มีการเลือกตั้ง และเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่า ชื่อของ 'ณัฏฐา มหัทธนา' ก็ปรากฏขึ้นอีกครั้งในการเป็นทั้งแนวหน้า และแนวร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเครือข่ายต่างๆ

'โบว์ ณัฏฐา' กล่าวว่า สำหรับคนที่ยังมีกำลังใจ แล้วก็อยากจะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อยากจะบอกไว้ล่วงหน้านิดนึงว่า หนทางนี้ยาว แล้วก็จะเหมือนวิ่งมาราธอน เพราะฉะนั้นมันจะมีช่วงที่เราเหนื่อย มันจะมีช่วงที่เราอาจจะท้อ หรือรู้สึกว่า เป็นไปไม่ได้แล้ว แต่จริงๆ แล้วมันเหมือนการวิ่งมาราธอน ที่แบบระยะเวลามันนาน โบว์มองว่า อย่างสั้นที่สุดก็คือสองปี เพราะฉะนั้นถ้าตอนนี้เรายังไม่มีแรง ไม่เป็นไร เราไปหนุนคนที่มีแรงอยู่ มันจะไปด้วยกันเหมือนการวิ่งมาราธอน ต้องมีการทั้ง ออมกำลัง รักษาระยะได้ รู้จังหวะ แล้วก็รักษากำลังใจ

โบว์ ณัฏฐา คนอยากเลือกตั้ง 20180522_Sek_45.jpg

เราเห็นบทบาทของคุณโบว์มาตั้งแต่การเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้ง จนมารณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ และดูเหมือนจะต้องรณรงค์ต่อไปอีกระยะยาว มีช่วงไหนที่รู้สึกท้อหรือไม่

ณ วันนี้ยังไม่ท้อ เราก็ยังอยู่ในช่วงวัยที่มันยังมีแรง แต่แน่นอน เราไม่ได้จินตนาการว่า จะทำแบบนี้ไปจนแก่เฒ่า เราอยากให้มันจบเร็วที่สุด คือการที่บทบาทนักกิจกรรมของเราจบเร็วเท่าไหน นั่นแปลว่า บ้านเมืองของเราเป็นปกติ เร็วเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็คือตอนนี้ที่ยังมีแรง ก็ทำเต็มที่ แล้วก็คิดว่า ยิ่งถ้ามีคนที่มาลงแรงกันเยอะเท่าไหร่ เราจะไปถึงปลายทางเร็วขึ้นเท่านั้น

'ณัฏฐา' ยังทิ้งท้ายด้วยการชวนทุกคนมา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ หรือถ้ายังไม่พร้อม อาจจะร่วมทำความเข้าใจ อาจจะมีจุดเริ่มต้น ที่โบว์ก็มีส่วนร่วมเองก็คือ เข้ามากดไลค์แฟนเพจ ชื่อว่า ปลดล็อก รธน. อาจจะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาก็ได้ว่าคุณคิดว่าอะไรมันแย่อยู่ในตอนนี้ แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีส่วนทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง