ไม่พบผลการค้นหา
CLIP BizFeed : จ้างงานผู้สูงอายุ รับสังคมสูงวัยอย่างยั่งยืน
Mar 27, 2017 04:24

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มว่า จะเผชิญกับสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว แม้บางบริษัทอย่าง ซีเอ็ด-บุ๊กส์จะเริ่มประกาศรับสมัครพนักงานที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่มาตรการรับมือสังคมสูงอายุของไทยก็ยังไม่ชัดเจนนัก เราไปดูกันว่าในประเทศอื่นที่ปัญหาสังคมสูงวัยเข้าสู่วิกฤตแล้ว มีการปรับตัวอย่างไรกันบ้าง

 

 

ข้อมูลจาก Global AgeWatch Index ปี 2015 ระบุว่า ไทยมีคนอายุเกิน 60 ปีมากกว่า 10,700,000 คน คิดเป็นร้อยละ 15.8 ของประชากรทั้งหมด แต่คาดการณ์ว่า ในปี 2030 คนอายุ 60 ขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 26.9 และในปี 2050 จะพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 37.1 //ส่วนรายงานของสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติปี 2015 ก็คาดการณ์ว่า ไทยจะติดอันอับ 7 เขตการปกครองที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นมากที่สุดระหว่างปี 2015 - 2030 อยู่ที่ร้อยละ 11.2 รองจากคิวบา เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน คูราเซา และมาเก๊า

 


 

หากมาดูอันดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยของไทยใน Global AgeWatch Index ปี 2015 จะพบว่า ไทยยังอยู่ในโซนสีเขียว แต่ก็อยู่ในอันดับ 34 จากการจัดอันดับประเทศทั้งหมด 96 ประเทศ โดยคุณภาพชีวิตคนสูงวัยจะวัดจากคุณภาพ 4 ด้าน ได้แก่ สีส้ม สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่คนสูงวัย ที่ไทยได้คะแนนสูงถึง 78.5 โดยเฉพาะความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกับสังคมรอบข้าง ส่วนสีเหลือง คือความมั่นคงของรายได้ ได้ 59.3 คะแนน เพราะแม้จะมีเงินบำนาญครอบคลุม แต่ผู้สูงอายุยังมีรายได้ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ขณะที่ สีแดงคือ ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ไทยอยู่ในระดับปานกลาง ที่ 59.1 คะแนน เพราะอายุขัยเฉลี่ยสูงกว่าอายุขัยเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย แต่ในแง่ความสามารถของผู้สูงอายุกลับต่ำมากที่ 25.8 คะแนน เพราะแม้จะมีการจ้างงานผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 71 แต่ระดับการพัฒนาการศึกษาของผู้ใหญ่กลับได้เพียงร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ร้อยละ 30.3

 


 

หากเปรียบเทียบกับประเทศที่เผชิญวิกฤตสังคมผู้สูงอายุแล้วอย่างญี่ปุ่นและ สิงคโปร์จะพบว่าทั้งสองประเทศมีมาตรการพัฒนาความรู้และกฎหมายการทำงานที่มา รองรับสังคมสูงวัยได้อย่างดี เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นเปลี่ยนให้ชาวญี่ปุ่นเกษียณอายุในวัย 65 ปี และต่อไปจะเป็นการต่อสัญญาทุกๆ 1 ปี

นอกจากนี้ รัฐยังกระตุ้นให้บริษัทต่างๆจ้างผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นด้วยการให้เงินช่วย เหลือเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ล้านเยนหรือประมาณ 620,00 บาทของจำนวนเงินที่บริษัทต้องจ่ายเพื่อสร้างงานให้ผู้สูงอายุ หากจ้างคนอายุเกิน 60 ปี 2 คนขึ้นไป หรือคนที่อายุมากกว่า 40 ปี 3 คนขึ้นไป

ส่วนบริษัท ก็จะจัดหางานที่เหมาะสมให้กับพนักงานที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป หรือหากผู้สูงวัยยินยอมจะย้ายไปบริษัทอื่นที่มีงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ กว่านี้ก็ได้ เช่น งานที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูงอย่างการบรรจุหีบห่อสินค้า ซ่อมประตูญี่ปุ่น หรือหากมีทักษะสูงมาก เช่นช่างเทคนิครถยนต์ ก็อาจถูกเชิญให้เป็นครูหรือที่ปรึกษา เพื่อพัฒนาพนักงานรุ่นใหม่ต่อไป ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาสังคมสูงวัยได้แล้ว ยังช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

ด้านสิงคโปร์ก็เพิ่งออกมาตรการใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ให้อายุเกษียณอยู่ที่ 67 ปี และห้ามนายจ้างตัดลดเงินเดือนของผู้สูงอายุจากเดิมที่อนุญาตให้นายจ้างสามารถตัดลดเงินเดือนของผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีได้ร้อยละ 10 แต่รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือแก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุแทน อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ค่อนข้างเข้มงวดเกี่ยวกับการย้ายพนักงานสูงอายุไปทำงานต่างบริษัท เนื่องจากเกรงว่า การย้ายพนักงานไปต่างบริษัทจะทำให้เงื่อนไข สิ่งแวดล้อม และลักษณะของงานใหม่แตกต่างจากเดิมมากเกินไป

หากรัฐบาลไทยไม่มีมาตรการรองรับสังคมสูงวัยอย่างเป็นระบบ ก็อาจเผชิญปัญหาเหมือนเกาหลีใต้ในขณะนี้ ที่มีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 13 ของประชากรทั้งหมด แต่อายุเกษียณเฉลี่ยอยู่ที่ 57 เท่านั้น แม้รัฐบาลเกาหลีใต้จะสนับสนุนให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมา ขณะที่บริษัทยังมองว่าพนักงานสูงวัยมีฐานเงินเดือนสูง แต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเท่าที่ควร การเลิกจ้างคนสูงวัยไปจ้างเด็กจบใหม่จึงประหยัดเงินได้มากกว่า แต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมของเกาหลใต้บีบให้ผู้สูงอายุหลายล้านคนต้องทำงาน ต่อไปมากกว่า 10 ปีหลังเกษียณ ซึ่งล้วนเป็นงานที่มีรายได้น้อย และไม่มีสวัสดิการ อย่างการเก็บขยะรีไซเคิลขาย รปภ. แม่บ้านทำความสะอาด หรือแม้แต่ขายบริการทางเพศ เพื่อประทังชีวิตและซื้อยารักษาโรคยามป่วยไข้

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog