ไม่พบผลการค้นหา
World Trend - อินเดียเตรียมส่งออก 'ยาแผนโบราณ' ตามหลัง 'โยคะ' - Short Clip
Dec 27, 2018 16:35

โยคะเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก ล่าสุด อินเดียเตรียมส่งยาแผนโบราณและศาสตร์อายุรเวทเป็นสินค้าออก เพื่อสร้างอิทธิพลในเวทีระดับโลกได้สำเร็จ

สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า อินเดียกำลังพยายามทำให้ 'อายุรเวท' หรือ ศาสตร์การแพทย์แผนโบราณที่รู้จักกันมานานกว่า 5,000 ปี เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ หลังจากที่ประสบความสำเร็จกับการทำให้โยคะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยทั้งสองอย่างถือเป็น 'อำนาจอ่อน' หรือ Soft Power ที่จะทำให้อินเดียมีอิทธิพลในเวทีโลก

คำว่า 'อำนาจอ่อน' เป็นแนวคิดที่พัฒนาโดย โจเซฟ นาย จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อใช้เรียกความสามารถในการดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาคมโลก โดยไม่ใช้การบังคับหรือเงินตรา และการมีอยู่ของ 'อำนาจอ่อน' ก็เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงและสร้างอิทธิพลต่อความคิดของสังคมและประชาชนในประเทศอื่น โดยมีเครื่องมือหลัก คือ ทรัพยากรพื้นฐาน 3 อย่าง ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรม , ค่านิยมทางการเมือง , และนโยบายต่างประเทศ

เบื้องต้น รัฐบาลอินเดีย ภายใต้การนำของนายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เตรียมจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านอายุรเวท เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยศาสตร์แขนงนี้เป็นที่นิยมในอินเดียมาเป็นเวลานาน และมีพื้นฐานที่การป้องกันความเจ็บป่วย โดยมีคุณสมบัติด้านการบำบัดและรักษาร่วมด้วย

หนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลอินเดียลงมือทำแล้ว คือ การตั้งกระทรวงใหม่ Ministry of AYUSH ซึ่ง AYUSH ย่อมาจาก Ayurveda, Yoga and Naturopathy, Unani, Siddha and Homoeopathy ครอบคลุมทั้งยาพื้นบ้าน โยคะ ธรรมชาติลบำบัด การแพทย์ยูนานิ การแพทย์สิทธา และโฮมีโอพาธี หรือการรักษาแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง นั่นคือ การใช้สารที่ทำให้เกิดโรคช่วยรักษาโรคนั้น

ปีที่แล้ว นายโมดิทำพิธีเปิดศูนย์อายุรเวท All India Institute for Ayurveda ที่ปัจจุบันรักษาผู้ป่วยด้วยศาสตร์พื้นบ้านราว 1,600 ถึง 2,000 คนต่อวัน โดยที่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับวิจัยด้านนี้โดยเฉพาะอย่างต่อเนื่อง เน้นที่การเพิ่มอายุขัยประชากร และการรักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ได้รับทุนจากรัฐบาลอินเดียอ้างว่า ประสบความสำเร็จในการยืดอายุขัยของแมลงหวี่ จาก 30 วัน เป็น 85 วัน ด้วยตัวยาแผนโบราณ และทางกระทรวงอายุรเวทก็หวังจะขยายผลการศึกษาให้ครอบคลุมไปถึงมนุษย์ในขั้นต่อไป

ปัจจุบัน ตลาดอายุรเวททั่วโลกกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดียคาดว่าภายในปี 2022 หรืออีกไม่ถึง 4 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 326,000 ล้านบาท โดยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ สถิติยังชี้ว่าเมื่อปีที่แล้ว 77% ของครัวเรือนในอินเดีย มีผลิตภัณฑ์อายุรเวทไว้ประจำบ้าน เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีก่อนหน้า ที่อยู่ที่ 69% ขณะที่ มีผู้ประกอบวิชาชีพด้านอายุรเวทและยาแผนโบราณที่ได้รับการรับรองทั้งสิ้นราว 700,000 คน

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการเผยแพร่ศาสตร์ด้านนี้ก็คือ สูตรการปรุงยาที่ซับซ้อนและวัตถุดิบที่มีเฉพาะถิ่น นอกจากนี้ วิธีใช้ ตลอดจนอายุการใช้งานของยาพื้นบ้านและยาแผนโบราณ ยังอาจไม่ยืนยาวเท่ายาแผนปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้ที่ไม่ใช่ชาวอินเดีย หรือไม่คุ้นเคยกับตัวยา ใช้ไม่ถูกนัก เท่ากับว่าการจะส่งออก Soft Power ระลอกใหม่นี้ของอินเดียได้ จำเป็นต้องเพิ่มทั้งบุคลากร และวัตถุดิบพื้นฐานให้ได้เสียก่อน ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจสรรพคุณของตัวยาอย่างถูกต้อง

หนึ่งในผู้ประกอบการด้านอายุรเวทในอินเดียให้ความเห็นว่า การจะยกระดับอายุรเวทให้ไปถึงระดับโลกนั้น ศาสตร์แขนงนี้ต้องกลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งภายในประเทศเสียก่อน และควรมีกฎหมายเข้ามาควบคุมอย่างรัดกุม ตลอดจนต้องสร้างภาพลักษณ์ที่สอดรับกับโลกปัจจุบัน และลบภาพความงมงายล้าหลังออกให้ได้ เพราะการจะสร้าง 'อำนาจอ่อน' ขึ้นมาได้ จะต้องมีมากกว่าศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การนวดไทยและการนวดสวีดิช ที่เป็นเอกลักษณ์โดเด่น แต่ก็ไม่ได้กลายมาเป็น 'อำนาจอ่อน' ของไทยและสวีเดน เป็นต้น เนื่องจากไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog