ไม่พบผลการค้นหา
World Trend - นักวิจัยแนะใช้โซเชียลมีเดียวันละ 30 นาที - Short Clip
Nov 13, 2018 16:30

หลายครั้งที่งานวิจัยเชิงสังคมกล่าวถึงข้อเสียของโซเชียลมีเดียในฐานะเครื่องมือที่ทำให้ผู้ใช้เครียดหรือจิตตก ล่าสุดมีงานวิจัยที่ชี้ว่า พฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขลักษณะในโซเชียลฯ อาจทำให้ผู้ใช้กลายเป็นคนหลงตัวเอง ขณะที่ อีกงานวิจัยก็แนะนำให้ใช้โซเชียลฯ ดังเพียงวันละครึ่งชั่วโมง

ปัจจุบัน ผู้คนเลือกที่จะใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารและเปิดรับข่าวสาร จนการใช้งานหลาย ๆ ชั่วโมงต่อวันกลายเป็นเรื่องปกติ และความนิยมในโซเชียลฯ ประเภทที่มีภาพเป็นคอนเทนต์หลัก เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือสแนปแชต ก็ทำให้ผู้ใช้โฟกัสที่การถ่ายภาพใช้น่าดูหรือเป็นที่ยอมรับจากผู้ติดตามมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยสวอนซี ในอังกฤษ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแห่งมิลาน ในอิตาลี ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Open Psychology ชี้ว่า การใช้โซเชียลฯ ที่เน้นรูปภาพอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่เป็นปัญหาและจะนำไปสู่ภาวะการหลงใหลตัวเอง หรือ Narcissism

งานวิจัยดังกล่าวพยายามหาคำตอบว่า อะไรเป็นเหตุและผลกันแน่ ระหว่าง "พฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือการใช้โซเชียลแบบไม่ถูกสุขลักษณะ ที่เรียกว่า Problematic Internet Use หรือ PIU นำไปสู่การหลงใหลตัวเอง" หรือจะเป็น "การหลงใหลตัวเองนำไปสู่ PIU" ซึ่งก็ได้คำตอบว่าเป็น "พฤติกรรม" ที่เป็นตัวเหตุ นำไปสู่ภาวะหลงตัวเองในที่สุด และโซเชียลฯ ที่มีรูปภาพเป็นส่วนประกอบหลัก ก็ทำให้ภาวะหลงตัวเองนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยกลุ่มตัวอย่างคือ อาสาสมัครที่มีอายุ 18 ถึง 34 ปี 74 คน ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 เป็นผู้ชาย

หลังจากการศึกษาเป็นเวลา 4 เดือน พบว่า การใช้โซเชียลฯ รูปภาพอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยส่วนใหญ่เป็นการโพสต์เซลฟี่รูปตัวเองนั้น ทำให้กลุ่มตัวอย่าง "หลงตัวเอง" ขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อพิจารณาจากแบบสำรวจเชิงจิตวิทยา ขณะที่ โซเชียลฯ ที่เน้นข้อความอย่าง ทวิตเตอร์ และเรดดิต กลับไม่ได้ส่งผลเสียในลักษณะเดียวกัน

อีกงานวิจัยหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Social and Clinical Psychology ฉบับเดือนธันวาคมปีนี้ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในสหรัฐฯ นำโดย เมลิสซา จี. ฮันต์ ระบุว่า การใช้โซเชียลมีเดียให้ไม่กระทบต่อจิตใจและเหมาะสมที่สุดคือวันละ 30 นาที โดยศึกษาจะนักศึกษา 143 คน กลุ่มหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ อีกกลุ่มในฤดูใบไม้ร่วง แต่ละคนมีบัญชีผู้ใช้ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และสแนปแชต โดยใช้ไอโฟนเป็นตัวชี้วัดระยะเวลาการเล่นโซเชียลฯ

จากนั้น ทีมวิจัยเริ่มประเมินนักศึกษาเป็นรายสัปดาห์ ด้วยเกณฑ์ชี้วัด 7 ประเภท คือ การสนับสนุนทางสังคม , ความกลัวคุยกับผู้อื่นไม่รู้เรื่อง (กลัวตกข่าว) , ความเหงา , การใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาใคร , ความกังวล , ความซึมเศร้า และความนับถือตัวเอง หลังจากนั้นจึงแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มที่ใช้โซเชียลฯ ต่อเนื่อง และกลุ่มที่ถูกจำกัดให้เล่นวันละ 10 นาที ต่อแพลตฟอร์ม รวม 30 นาที พบว่านักศึกษาที่เล่นโซเชียลฯ น้อยลงมี "ความซึมเศร้า" และ "ความเหงา" ลดลง

ฮันต์ ชี้ว่า การที่ทีมวิจัยเลือกที่จะให้กลุ่มตัวอย่างหนึ่ง "จำกัด" การเล่น โดยไม่ใช้เลิกเด็ดขาดไปเลย เพราะเป็นทางเลือกที่ทำได้จริงมากกว่า และในปัจจุบันเป็นการยากที่ผู้ใช้โซเชียลฯ จะหยุดเล่นทุกอย่างไปเลย และตัดขาดจากสังคม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลังการปรับลดเวลาเช่นนี้ คือ การสนับสนุนทางสังคม ความนับถือตัวเอง และการใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาใคร เท่ากับว่าการลดการใช้โซเชียลฯ ไม่ได้เสริมสร้างลักษณะนิสัยเชิงบวกที่ตรงกันข้ามกับความซึมเศร้าหรือความกังวลใจอื่น ๆ

ทั้งนี้ การเก็บข้อมูลดังกล่าวยังมีช่องโหว่อยู่บ้าง ส่วนหนึ่งคือการออกแบบโครงสร้างงานวิจัยที่ไม่ลงลึกหรือชี้เฉพาะเพียงพอ และการชี้วัดด้วยไอโฟนไม่ครอบคลุมถึงการใช้โซเชียลฯ ด้วยเดสก์ท็อปหรือช่องทางอื่น เท่ากับว่า นักวิจัยจะตรวจวัดไม่ได้หากกลุ่มตัวอย่างแอบไปเล่นโซเชียลฯ โดยไม่ใช้ไอโฟน นอกจากนี้ ผลการศึกษายังไม่ครอบคลุมถึงโซเชียลฯ ดังอย่างทวิตเตอร์อีกด้วย

อย่างหนึ่งที่น่าสนใจจาก 2 วิจัยนี้ก็คือ ปัจจัย "ความยอมรับนับถือตัวเอง" หรือ Self-esteem ที่งานวิจัยฉบับที่สองระบุว่า ไม่ได้เพิ่มหรือลดจากเดิม เมื่อปรับลดเวลาการเล่นโซเชียลฯ ในขณะเดียวกัน งานวิจัยแรกก็ระบุว่า การใช้เล่นต่อเนื่องสามารถนำไปสู่ภาวะนับถือตัวเองมากเกินไป หรือก็คือ ความหลงภาพลักษณ์ตัวเองในที่สุด ซึ่งอาจเป็นได้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ รอบตัวผู้ใช้งานประกอบกันไปด้วย และสุดท้ายแล้ว การลดเวลาการใช้ หรือการหันไปใส่ใจกิจกรรมอื่น ก็น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตในโลกที่ทุกอย่างเชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ตเช่นนี้

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog