ไม่พบผลการค้นหา
ถอดรหัสอนาคตผ่านทรัมป์-คิมซัมมิท กับ สุรชาติ บำรุงสุข
Jun 13, 2018 08:53

ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ และความมั่นคง ถอดรหัสผลการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเกาหลีเหนือ เชื่อ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ผลักดันจุดเริ่มต้นสันติภาพ และนำโสมแดงสู่การพัฒนาแบบโมเดลจีน ขณะที่เส้นทางปลดอาวุธนิวเคลียร์ และรวมชาติ ยังไม่ใช่เรื่องง่าย 

ศาสตราจารย์ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมถอดรหัสการประชุมสุดยอดผู้นำ 2 ฝ่ายระหว่างนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ณ โรงแรมคาเปลลา บนเกาะเซนโตซา ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวานนี้ 

ศาสตราจารย์ดร.สุรชาติ ระบุว่า การหารือ และผลการหารือนับได้ว่าเป็นความหวังของสันติภาพใหม่ แม้ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ความขัดแย้ง และความตึงเครียดในคาบสมุทรจะร้อนระอุ โดยเฉพาะการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ที่ดำเนินมาจนเกือบถึงช่วงเทศกาลวันคริสมาสต์ แต่แล้วสัญญาณทางการเมืองก็เปลี่ยนไป โดยเห็นได้จากการปรากฎตัวของน้องสาวนายคิม ในเทศกาลโอลิมปิคฤดูหนาว และความร่วมมือด้านกีฬา ขณะที่การเจรจาลับระหว่างผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองของสหรัฐ กับผู้นำเกาหลีเหนือ ก็เกิดขึ้น

ศาสตราจารย์ดร.สุรชาติ ยังเชื่อว่า มหาอำนาจอย่างจีน มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่ทำให้การเจรจาของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้น และมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจกำหนดชะตากรรมของเกาหลีเหนือ ผ่านการให้คำปรึกษาแก่ผู้นำเกาหลีเหนือ เนื่องจากจีนไม่ต้องการให้เกิดความตึงเครียดที่สูงเกินไปในภูมิภาค โดยเฉพาะสงครามนิวเคลียร์ มิเช่นนั้นจีนที่เป็นหนึ่งในรัฐคู่กรณี ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะเข้าร่วมได้ กรณีนี้ไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพของจีน และจีนยังต้องการใช้เกาหลีเหนือเป็นรัฐกันชน 

เมื่อถามว่า ชนวนสุดท้ายของการเลือกเส้นทางเจรจาของผู้นำเกาหลีเหนือคืออะไร /ศาสตราจารย์ดร.สุรชาติ บอกว่า ยากที่ระบุชัดเจนในเวลานี้ แต่เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขของเกาหลีเหนือเองก็จะพบว่า เกาหลีเหนือในวันนี้ ไม่เหมือนบริบทในรุ่นปู่ และพ่อของนายคิม จอง อิล ที่คือการต่อสู้ในสงครามเย็น แต่วันนี้ทุกอยากเปลี่ยนไป คิมมีอำนาจทหาร แต่ไร้เสถียรภาพ และอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นจุดที่ทำให้นายคิม อาจคิดว่า เขาควรเดินหน้าเกาหลีเหนือต่ออย่างไร เช่นเดียวกับปัจจัยของคนรอบข้างอย่างน้องสาว ก็อาจมีส่วนสำคัญ นอกจากนี้นายคิมยังได้ภาพลักษณ์เชิงบวก ซึ่งอาจหมายถึงเส้นทางการถอนการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ และอาจนำไปสู่การลงทุนในเกาหลีเหนือ ประเทศที่พร้อมทั้งแรงงาน ทรัพยากร และโครงสร้างพื้นฐาน แต่เชื่อว่า เกาหลีเหนือคงเดินทางไปในโมเดลแบบจีน 

ศาสตราจารย์ดร.สุรชาติ ยังระบุว่า สหรัฐอเมริกาเองก็ได้ประโยชน์จากการประชุมครั้งนี้เช่นกัน ทั้งการลดภาระการเผชิญหน้าในคาบสมุทรเกาหลี และผลตอบแทนทางการเมืองในอนาคต เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ที่กลายเป็นประเทศที่ได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ครั้งนี้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ดร.สุรชาติ ยืนยันว่า โจทย์การพูดคุยครั้งนี้วาระสำคัญคือการปลดอาวุธนิวเคลียร์ มิใช่การรวมชาติของสองเกาหลี เนื่องจากไม่มีคำประกาศยุติสงครามเกาหลีออกมาเมื่อวานนี้ นั่นเท่ากับว่า สงครามยังดำเนินต่อไป ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์มีเพียงสนธิสัญญาหยุดยิงเท่านั้น การรวมชาติจะเกิดก็ต่อเมื่อยุติสงคราม ซึ่งแตกต่างจากการรวมชาติของเยอรมันตะวันตก และตะวันออก ที่ไม่มีสภาวะสงครามอย่างชัดเจนในเวลานั้น 


ส่วนประเด็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์ /ศาสตราจารย์ดร.สุรชาติมองว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย หากดูตัวแบบจากแอฟริกา ที่มี 6-7 หัวรบ ต้องใช้เวลา 6-7 ปี ขณะที่ตัวเลขจากการประมาณการณ์จากหลายหน่วยงานระบุว่า หัวรบในเกาหลีเหนือนั้นมีตั้งแต่ 20-60 หัวรบ นั่นนำมาสู่คำถามเรื่องระยะเวลา และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การนำหัวรบออกจากขีปนาวุธ และลดความเข้มข้นของสารภายใน ซึ่งรายละเอียดยังเป็นเรื่องท้าทาย 


ศาสตราจารย์ดร.สุรชาติ เชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สถานการณ์ในเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบริบททางภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป แต่เชื่อว่า น้ำหนักจะมาตกอยู่ที่ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้มากยิ่งขึ้น 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog