ไม่พบผลการค้นหา
World Trend - 'มัสก์' เปิดตัวอุโมงค์ไฮสปีดแก้รถติดใต้ผิวโลก - Short Clip
Dec 24, 2018 16:35

บริษัท The Boring Company ของนายอีลอน มัสก์ เปิดตัวอุโมงค์ไฮสปีด เครื่องมือแก้ไขรถติดใต้ผิวโลก ครั้งแรก ที่นครลอสแองเจลิส และแสดงการทดสอบการใช้งานด้วยระยะทาง 1.83 กิโลเมตร 

บริษัท The Boring Company ของนายอีลอน มัสก์ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับทั่วโลกอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวอุโมงค์สำหรับเดินทางด้วยรถยนต์แบบไฮสปีดครั้งแรก ที่นครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น โดยอุโมงค์นี้จะกลายมาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดที่สำคัญอีกหนทางหนึ่งในอนคต โดยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใต้ผิวโลก

การสาธิตการทดสอบการใช้งานจริงครั้งแรกของอุโมงค์นี้ เป็นการทดสอบเป็นระยะทาง 1.14 ไมล์ หรือ 1.83 กิโลเมตร โดยจุดเริ่มต้นของอุโมงค์อยู่ที่เมืองฮอว์ธอร์น ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนครลอสแองเจลิส ซึ่งเคยเป็นลานจอดรถขนาดใหญ่ที่ทางบริษัทได้ทำการเข้าซื้อก่อนหน้านี้ โดยบริษัท The Boring Company ได้ตั้งชื่อสถานีทดสอบแห่งแรกนี้ว่า โอเลียรีสเตชัน

อุโมงค์รถยนต์ไฮสปีดของนายอีลอน มัสก์ เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อเดือนมกราคมของปี 2017 ซึ่งหลังจากการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 2 ปีเต็มทางบริษัทก็สามารถเริ่มต้นการสาธิตครั้งแรกได้ โดยในการเปิดตัวนี้บริษัท The Boring Compary ได้เชิญสื่อมวลชนจากสำนักข่าวใหญ่ต่าง ๆ มาเพื่อทดลองนั่งไปกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาโมเดลเอ็กซ์ ซึ่งจากคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ออกมาจะเห็นได้ว่าทุกคนที่ได้มีโอกาสลองนั่งในรถยนต์ผ่านเข้าไปยังอุโมงค์รู้สึกตื่นเต้นไปตาม ๆ กัน

ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว CNN เล่าว่า เขาและผู้สื่อข่าวอีกจาก 3 สำนัก รู้สึกตื่นเต้นมากเมื่อเข้าไปในอยู่ภายในรถยนต์เทสลาโมเดลเอ็กซ์ บริเวณจุดรับรถที่โอเลียรีสเตชัน โดยเมื่อมองจากภายนอกจะรู้สึกว่า นี่คือที่จอดรถธรรมดา ๆ เท่านั้น แต่เมื่อการเดินทางเริ่มต้นขึ้น แผ่นเหล็กซึ่งเป็นฐานรองที่จอดรถนั้นก็จะค่อย ๆ พาตัวรถลดระดับลงไปใต้ผิวโลก โดยมีล้อที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นพิเศษประกอบเข้ากับตัวล้อทั้งสี่ของเทสลาโมเดลเอ็กซ์ ซึ่งจะเป็นตัวนำพารถยนต์ให้สามารถวิ่งได้ในอุโมงค์ได้อย่างราบลื่น

ก่อนหน้านี้ ระหว่างขั้นตอนของการคิดค้นนายอีลอน มัสก์ ระบุว่า เมื่อตัวรถยนต์ลงไปถึงชั้นของอุโมงค์แล้วจะมีตัวล้อสเก็ตรองรับตัวรถ และพาขับเคลื่อนไป แต่ความแตกต่างของวิธีการใช้งานปัจจุบันคือ ล้อพิเศษจะเป็นเพียงตัวช่วยควบคุมทิศทาง ในขณะที่ เทสลาโมเดลเอ็กซ์จะเป็นตัวขับเคลื่อนทั้งหมดเอง โดยการเปลี่ยนแปลงนี้มีขึ้นเพื่อให้เกิดความง่ายในการใช้งานมากที่สุด

ภายในอุโมงค์มีการตกแต่งด้วยไฟสีด้านบนของอุโมงค์ตลอดเส้นทาง โดยสีเขียวคือการบอกว่าสามารถเร่งความเร็วไปข้างหน้าได้ สีแดงคือการระบุว่าใกล้ถึงที่หมายและต้องชะลอเพื่อเตรียมจอด ส่วนสีฟ้าระหว่างทางนั้น นายอีลอน มัสก์ กล่าวว่า เป็นการตกแต่งเพื่อให้ได้ความรู้สึกที่ทันสมัยและเป็นการให้ความรู้สึกของความไฮเทคและเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต

ผู้สื่อข่าวของ CNN เล่าว่า ระหว่างการนั่งทดสอบนั้นมีการเร่งความเร็วอยู่ที่ 56.33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ความรู้สึกภายในอุโมงค์นั้นคล้าวกับว่าการขับขี่นั้นเร็วกว่าบนท้องถนนปกติมาก ด้านผู้ดำเนินรายการจากสถานีโทรทัศน์ช่อง CBS ที่นายอีลอน มัสก์ เป็นผู้พาทดลองนั่งด้วยตัวเอง ระบุว่าระหว่างการทดลองของเธอ เธอถามนายมัสก์ว่าการคมนาคมในอุโมงค์นี้สามารถทำความเร็วได้สูงสุดเท่าไร ซึ่งนายมัสก์ตอบว่าสามารถวิ่งได้เร็วถึง 129 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะสามารถทำความเร็วได้ 241 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในอนาคต

การสาธิตการคมนาคมขนส่งด้วยรถยนต์ในอุโมงค์ครั้งนี้ของนายอีลอน มัสก์ เป็นเพียงจุดริ่มต้นของโปรเจ็กต์ยักษ์ของเขาเท่านั้น ซึ่งจะนำไปสู่โครงการหลักของเขา คือการเดินทางใต้ผิวโลกด้วยยานพาหนะอื่นที่รวดเร็วกว่ารถยนต์ ซึ่งมีการเรียกว่า LOOP โดยหลังจากได้รับการอนุมัติจากทางการนครลอสแองเจลิสแล้ว แผนขั้นต่อไปคือการสร้างอุโมงค์เเบบเดินรถทางเดียวจาก Los Angeles Metro ไปยัง Dodger Stadium ระยะทาง 5.8 กิโลเมตร โดยบริเวณดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นมาก และโดยปกติแล้ว แฟนกีฬาเบสบอลจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงในการเดินทาง แต่อุโมงค์นี้จะย่นเวลาลงเหลือเพียง 4 นาทีเท่านั้น

นอกจากนั้น หากดูจากแผนผังทั้งหมดของบริษัท The Boring Company จะเห็นได้ว่านายอีลอน มัสก์ ได้วางแผนที่จะสร้างโครงข่ายอุโมงค์ใต้ดินนี้ให้เชื่อมต่อสถานที่สำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ พิพิธภัณฑ์ และจุดท่องเที่ยวสำคัญของเมือง ซึ่งแน่นอนว่าครอบคลุมพื้นที่ทั้งนครลอสแองเจลิสซึ่ง INRIX บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิจัยเกี่ยวกับการขนส่งระดับโลกรายงานว่า ปัจจุบัน ลอสแองเจลิสคือเมืองที่ต้องเผชิญกับปัญหารถติดรุนแรงที่สุดอันดับที่ 1 ของโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แล้ว


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog