ไม่พบผลการค้นหา
Wake Up News - ละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องที่คสช.ไม่ยอมรับ - Short Clip
Apr 24, 2018 02:17

คสช.ระบุ รายงานละเมิดสิทธิมนุษยชนของสหรัฐเป็นเรื่องในอดีต ยันคสช.เชิญตัวคนเห็นต่างมาทำความเข้าใจพูดคุยเท่านั้น ลั่นไม่มีทำร้าย-ไม่ใช้ความรุนแรง ระบุตอนนี้ก็ไม่ได้มีการเชิญตัวแล้ว

พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยนของสหรัฐอเมริกา ตำหนิรัฐบาล คสช.ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเชิญตัว "คนคิดต่าง" เข้าค่ายทหารนั้น ว่า ปกติการเชิญตัวคนคิดต่างนั้น เราแค่เชิญไปพูดคุยทำความเข้าใจ ซึ่งไม่ได้ไปทำร้าย หรือใช้ความรุนแรงอะไร ที่สำคัญหากพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบันจะพบว่าคสช.และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างในการเชิญมาพูดคุยอย่างนุ่มนวลเป็นการทำความเข้าใจเท่านั้น

"การล็อคคอ จับตัวผู้เห็นต่างมาอาจจะเคยเกิดขึ้นในอดีตช่วงแรกๆ ที่ คสช.เข้ามาเท่านั้น ที่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดความสงบ แต่ก็ไม่เคยไปทำร้ายใคร และตอนนี้ คสช.ก็ไม่ได้ทำแล้ว อีกทั้งมุมมองเรื่องสิทธิมนุษยชนยังขึ้นอยู่กับคำที่ใช้เรียก และช่วงเวลาที่ประเมิน ทั้งนี้ ที่มีการประเมินออกมาดังกล่าวน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะในปัจจุบัน คสช.ไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิ์แบบนั้น เราใช้การเชิญมาพูดคุย ทำความเข้าใจ และในระยะหลังๆ นี้ จะเห็นได้ว่า คสช.ก็ไม่ได้กระทำการในลักษณะนั้น ไม่ค่อยมีการเชิญมาปรับทัศนคติแล้ว" ผบ.ทสส.กล่าว

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา แถลงรายงานการปฏิบัติ ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ 200 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2560 โดยรายงานส่วนของประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลปี 2559-2560 พบว่ายังมีการจำกัดเสรีภาพพลเมืองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่พบหลายปัญหา เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ จับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพทางสื่อออนไลน์ ว่า เป็นเรื่องขององค์กรแต่ละประเทศที่จะคิดอย่างไร

ซึ่งเราห้ามไม่ได้ แต่รัฐบาลยืนยันว่าสิ่งที่เราทำในปัจจุบันนี้ ทำตามข้อกฎหมาย กรณีที่ระบุว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่นการเคลื่อนไหวหรืออะไรก็ตามคงต้องไปดูในรายละเอียดว่า บุคคลที่เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตามกฎหมายนั้น เป็นผู้ที่กระทำผิดตามกฎหมาย ดังนั้น ต้องแยกแยะออกจากกันระหว่างสิทธิเสรีภาพกับการทำผิดกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าใครจะทำอะไรก็ได้ ที่เป็นสิทธิและเสรีภาพ แต่ต้องคำนึงด้วยว่าสิ่งที่ทำแล้วบอกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพขัดหลักกฎหมายหรือไม่ เพราะถ้าขัดกับหลักกฎหมาย ก็ทำไม่ได้ แล้วไม่ใช่ว่ากฎกติกานี้จะใช้ที่ประเทศไทยประเทศเดียว แต่ใช้ทุกประเทศในโลก

รัฐบาลยืนยันว่าสิ่งที่ดำเนินการไป เป็นการดำเนินการตามข้อกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลและ คสช. ไม่เคยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการดำเนินคดีกับใคร ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วนำเข้าสู่กฎหมายปกติเป็นผู้พิจารณาว่าถูกหรือผิด ถ้าผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่ผิดก็คือไม่ผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลไทยควรทำหนังสือชี้แจงหรือทักท้วงอย่างไรหรือไม่ โฆษก รบ.กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าทางกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่โดยปกติ กต.จะมีวิธีการปฏิบัติของ กต.อยู่แล้ว แต่โดยหลักพื้นฐานอย่างที่ตนบอกแล้วว่ารัฐบาลไม่ได้ ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันเราพยายามที่จะปรับปรุงเรื่องราวเหล่านี้ด้วยซ้ำไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ถูกระบุว่ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อออนไลน์ พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อออนไลน์ตรงไหนหรือ ทั้งหมดเป็นข้อกฎหมายทั้งนั้น คนที่ถูกดำเนินคดีคือคนที่ปล่อยข้อมูลอันเป็นเท็จ เข้าไปในโลกโซเชียล เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นคนนั้นคนนี้ ซึ่งก็อยู่ในหลักการกฎหมายเช่นกัน หากเกิดข้อมูลอันเป็นเท็จแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินคดี ก็จะไม่เกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมืองอย่างนั้นหรือ อะไรจริงอะไรใส่ร้ายป้ายสี ใส่ความเท็จกันไปเรื่อย เป็นการปล่อยข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์ ซึ่งบ้านเราก็มีการออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กันมาแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายควบคุมคอมพิวเตอร์ อเมริกาก็มีไม่ใช่หรือ ทุกประเทศเขาก็มีเหมือนกัน

เมื่อถามถึงกรณี คสช.จับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง ตามที่ถูกกล่าวอ้างข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ระบุ เดือนสิงหาคม 2560 มีจำนาน 135 ราย พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ในเวลานี้ ประเทศไทยมีข้อกฎหมายอยู่ เพราะประเทศเราได้ผ่านวิกฤตของความขัดแย้งทางการเมืองมาเมื่อปี 57 และขณะนี้อยู่ในโรดแมป สิ่งที่ คสช.ออกมาคือกฎหมายและไม่ได้เป็นอย่างนี้ตลอดชาติ แต่มีตารางเวลาของมันอยู่แล้วอย่างชัดเจน ว่าภายในไม่เกินกุมภาพันธ์ 62 ก็จะมีการเลือกตั้ง และประมาณมิถุนายน 61 หรืออาจเร็วกว่านั้น ซึ่งถ้าประสานงานกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองได้ เพื่อหารือว่าจะกำหนดกรอบการเลือกตั้งอย่างไร หรือมีข้อสังเกต ข้อห่วงใยอะไรบ้างจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล คสช. พรรคการเมือง ที่จะคุยหารือกัน ซึ่งเมื่อกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างจะค่อยๆ คลาย ซึ่งเรื่องนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับได้อยู่แล้ว ส่วนจะกำหนดวันไหนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองลองย้อนกลับไปดูว่าแต่ละคน เป็นคนหน้าเดิมและมีนัยยะอยู่ด้วยทั้งสิ้น เรื่องแบบนี้ไม่ต้องเล่าก็รู้ใช่หรือไม่ เมื่อถามว่า แสดงว่าถึงขณะนี้รัฐบาลและ คสช. ยังต้องจับตาดูกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่ใช่หรือไม่ พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น ไม่ได้เป๊ะขนาดนั้น ปัจจุบันนี้ขอให้ย้อนตรวจสอบดูว่าพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเขาก็ทำกิจกรรมของเขากันอยู่เพียงแต่อย่าให้ประเจิดประเจ้อจนเกินไป มีการไปร่วมกิจกรรมอะไรกันก็สุดจะแล้วแต่ ก็ต้องถามว่าเขาไม่คุยเรื่องการเมืองกันบ้างหรือ คุยกันแต่เรื่องสนุกสนานกินข้าวกันอย่างเดียวอย่างนั้นหรือ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันอยู่ แต่ คสช. หรือรัฐบาลไม่ได้ไปกำหนดกฎกติกาที่หยุมหยิมมากเกินไป


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog