ไม่พบผลการค้นหา
'ทนายอานนท์' คือผู้ชนะรางวัลสิทธิมนุษยชนคนที่ 3 จากประเทศไทย - 'ไผ่ จตุภัทร์' ได้รางวัลดังกล่าวในปี 2560 ขณะ 'อังคณา นีละไพจิตร' คือผู้ชนะในปี 2549

คณะกรรมการตัดสินรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประกาศชื่อ 'อานนท์ นำภา' ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนของไทยผู้มีบทบาทสำคัญตลอดการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา ให้เป็นผู้ชนะเลิศได้รับรางวัลดังกล่าวเมื่อ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา 

ในแถลงผลรางวัลนั้น คณะกรรมการชี้ว่าเส้นทางการยกระดับประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ทนายอานนท์ทุ่มเททำมาตลอด เริ่มตั้งแต่ปี 2551 ที่เขาก้าวเข้าสู่สายอาชีพนี้ พร้อมให้ความช่วยเหลือด้วยการว่าความโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับเหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 

ต่อมาหลังการรัฐประหารซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 ทนายอานนท์ ยังคงเดินหน้าว่าความให้กับประชาชนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาภายใต้มาตรา 112 ของพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ซึ่งมีใจความระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีรัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"

คณะกรรมการตัดสินรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุอย่างชัดเจนว่า กฎหมายดังกล่าว ไม่เพียงละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก แต่ยังถูกใช้เป็นอาวุธในการทำร้ายนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงนักวิจารณ์ทางการเมืองผู้เห็นต่าง 

อานนท์ นำภา  สถาบันพระมหากษัตริย์ เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย ชุมนุม แฟลชม็อบ
  • อานนท์ นำภา บนเวทีปราศรัย 'ม็อบแฮรี่ พอตเตอร์'

ผู้พิจารณามอบรางวัลดังกล่าว ยังเอ่ยถึงการปราศรัยเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของประเทศไทยบนเวทีการชุมนุม จนนำไปสู่การยกระดับการเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยคนรุ่นใหม่ของประเทศ โดยทนายอานนท์เองต้องเผชิญหน้ากับการถูกจับกุมตัวและการต่อสู้คดีอยู่หลายครั้งหลายหน ซึ่ง "แม้จะต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงมากมาย แต่เขาก็ไม่หยุดเรียกร้องพร้อมเดินหน้าต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน" 

นอกจากเรื่องราวของทนายอานนท์แล้ว คณะกรรมการตัดสินรางวัลยังประกาศให้ Watchdoc Documentary Maker กลุ่มผู้สร้างสารคดีจากอินโดนีเซียที่ก่อตั้งโดยนักข่าวท้องถิ่นอย่าง 'แอนดีห์ ปันคา เคอร์เนียวัน' และ 'แดนดีห์ ดาวี ลักโซโน' ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 เช่นเดียวกัน

กลุ่มผู้สร้างสารคดีดังกล่าว รังสรรค์ชิ้นงานซีรีส์สารคดีมากกว่า 200 เรื่อง ทั้งยังสร้างซีรีส์โทรทัศน์อีกกว่า 700 ตอน ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน, ประชาธิปไตย, หลันิติบัญญัติ, สิ่งแวดล้อม, สตรี, ชนกลุ่มน้อย ไปจนถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ 

แถลงการณ์ดังกล่าวปิดท้ายว่า "องค์กรรู้สึกซาบซึ้งต่อการกระทำของ อานนท์ นำภา ผู้ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแม้จะถูกคุกคามทางร่างกาย ขณะที่ผลงานของ Watchdoc Documentary Maker ให้แรงบันดาลใจกับพลเมืองทั่วโลก"

ด้วยเหตุผลข้างต้น 'มูลนิธิอนุสรณ์วันที่ 18 พฤษภาคม' ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรตั้งอยู่ในเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ จึงเชื่ออย่างสุดใจว่าผลการตัดสินในครั้งนี้จะเป็นแรงส่งให้ประชาคมโลกได้มาซึ่งความเป็นปึกแผ่นในการต่อสู้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 


อานนท์ไม่ใช่คนแรก

อานนท์ นำภา ไม่ใช่ชาวไทยคนแรกที่ได้รางวัลดังกล่าว ก่อนหน้านี้ในปี 2560 'จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา' หรือ ไผ่ ดาวดิน

ไผ่ ดาวดิน จตุภัทร์ มาตรา 112 1208.jpg
  • 'จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา' หรือ ไผ่ ดาวดิน

แถลงการณ์ของคณะกรรมการในปีนั้นระบุว่า "คณะกรรมการตัดสินรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2560 ประทับใจกับความกล้าหาญและความรักในความยุติธรรม (ของไผ่) ผู้ต่อสู้กับเผด็จการและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความยากลำบากของคุณช่วยจุดไฟแห่งความสนใจทางการเมืองให้กับคนรุ่นใหม่"

อังคณา นีละไพจิตร 200827.jpg
  • 'อังคณา นีละไพจิตร' อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน

หากย้อนกลับไปในปี 2549 อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้เป็นภรรยาของสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่ถูกทำให้หายตัวไป เป็นผู้ชนะจากรางวัลดังกล่าวเช่นเดียวกัน