ไม่พบผลการค้นหา
นพ.สุรพงษ์ ให้ทัศนะ 16 ข้อต่อสถานการณ์โควิด-19 แนะประชาชนและรัฐบาล อย่าสับสน อย่าตื่นกลัว มีสติและรู้เท่าทัน

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข แสดงทัศนะและให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กถึงการเเพร่ระบาดของโควิด-19 โดยระบุ 'รัฐบาลอย่าสับสน ประชาชนอย่าตื่นกลัว'

คำเตือน : เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

1. โควิด-19 อยู่กับมนุษย์มากว่า 16 เดือนแล้ว แม้เรารู้จักโควิดมากขึ้น แต่โควิดมีความคืบหน้าใหม่ๆ ให้ประหลาดใจอย่างไม่หยุดยั้ง

2. มนุษย์ค่อยๆ ลองผิดลองถูก จนถึงวันนี้ ไม่มีใครข้องใจอีกแล้วว่า “การใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง” เป็นกฎพื้นฐานที่ละเมิดไม่ได้

3 แม้วันนี้มีวัคซีนโควิดหลากหลายยี่ห้อ แต่ไม่มียี่ห้อไหนป้องกันโควิดได้ 100% มีแต่บอกได้ว่าทำให้ไม่ป่วยหนักและไม่ตาย

4. ประเทศที่ฉีดวัคซีนมากแล้ว ก็ยังต้องเน้นการป้องกันโรคส่วนบุคคล จึงสามารถควบคุมโรคได้ เช่น อิสราเอล และอังกฤษ

5. ประเทศที่ฉีดวัคซีนมากแล้ว แต่ประมาท ละเลยการป้องกันส่วนบุคคล กลับมีการระบาดใหม่ที่รุนแรงอีกครั้ง เช่น ชิลี

6. ดังนั้น วัคซีนจึงเป็นเพียงอีกตัวช่วยหนึ่งในการกด curve ให้ต่ำลง ไม่ใช่เป็นมาตรการที่ทดแทนกฎพื้นฐานเดิมได้

7. การฉีดวัคซีนจึงไม่ใช่การสิ้นสุด “การใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง” และการไม่ฉีดวัคซีนหรือไม่มีวัคซีนฉีด ก็ไม่ใช่ความสิ้นหวังเหมือนโลกกำลังจะแตกดับ

8. ตรงกันข้าม การฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดความประมาท แพทย์พยาบาลในบางประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ไม่ระมัดระวัง หย่อนวินัยในการป้องกัน กลับติดโควิดมากขึ้น

9. อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงทั้งจากการทำงานดูแลผู้ป่วย การประกอบธุรกิจบริการ และผู้มีโรคประจำตัว ยังต้องเดินหน้าต่อไป ควบคู่กับการกำชับเรื่องการป้องกันส่วนบุคคล

10. ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่มีมากขึ้นทุกวัน ชี้ให้เห็นว่า การจำกัดวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อ เป็นนโยบายที่ผิดพลาด เพราะวัคซีนยี่ห้อต่างๆมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ยิ่งมีการกลายพันธุ์ของโควิด ยิ่งทำให้เราต้องมีทางเลือกมากกว่านี้

11. รัฐมีหน้าที่แสวงหาวัคซีนอย่างสุดความสามารถ การรอคอยให้ผู้ผลิตมาขึ้นทะเบียนก็ดี การขอให้เอกชนทำหน้าที่แทนก็ดี หรือการอ้างว่าวัคซีนขึ้นทะเบียนฉุกเฉินมีข้อจำกัดในการฉีดก็ดี แสดงให้เห็นว่า ผู้รับผิดชอบไม่ได้ติดตามสถานการณ์ของวัคซีนอย่างใกล้ชิด และทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

12.ในขณะเดียวกัน การประโคมข่าวว่า การระบาดระลอก 3 ? อาจรุนแรงขึ้น 170 เท่า เป็นการสร้างความหวาดกลัวเกินจริง ไม่มีหลักฐานใดๆทางระบาดวิทยา

13. นอกจากการบอกประชาชนว่า การระบาดของสายพันธุ์อังกฤษง่ายกว่าเดิม 1.7 เท่าแล้ว ควรบอกด้วยว่า อัตราตายของสายพันธุ์อังกฤษลดลงจากสายพันธุ์เดิมกว่า 4 เท่าด้วย แม้มีข้อมูลว่า อัตราตายสูงขึ้นจาก 6 คนใน 1,000 คน เป็น 9 คนใน 1,000 คน แต่นั่นเป็นในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนคนวัยทำงานจำนวนมากแทบไม่มีอาการ และอัตราตายน้อยลงมาก ดังนั้น จึงควรเตือนให้ระมัดระวังในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ไม่สร้างความตื่นตระหนกเกินจริงในกลุ่มคนทั่วไป

14. มาตรการในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า ไม่ได้หมายความว่า การติดโรคจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า เพราะมาตรการเดิมเป็นการ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” เช่น การปิดเมืองอย่างเหวี่ยงแห ปิดเมืองนานเกินไป ปิดกระทั่งธุรกิจที่ความเสี่ยงต่ำ การประกาศเคอร์ฟิว การประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่มาตรการที่ได้ผลในการควบคุมโรค แต่เป็นมาตรการที่เกิดจาก “ความไม่รู้” และ “การสร้างกระแสความกลัว”

15. ดังนั้น รัฐบาลและผู้รับผิดชอบต้องมีสติ ไม่สับสน รู้ว่ามาตรการไหนได้ผลจริงหรือไม่ได้ผลจริง ขณะเดียวกันก็เตรียมจัดระบบการตรวจหาเชื้อ การรองรับผู้ป่วย และการเร่งหาวัคซีนเพื่อพร้อมรับมือในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แต่ที่สำคัญคือ ต้องไม่สร้างความหวาดกลัวเกินจริงในหมู่ประชาชน

16. ส่วนประชาชนต้องมีสติ พิจารณาเรื่องโควิดอย่างรู้เท่าทัน ไม่ตื่นกลัวแต่ไม่ประมาท และป้องกันส่วนบุคคล ทั้ง “ใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง” อย่างจริงจัง ผมมั่นใจว่า ถึงยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เราก็ป้องกันโควิดได้ 100 % ด้วยตัวเราเอง ดูน้อยลง