ไม่พบผลการค้นหา
พรรคก้าวไกล เห็นร่วมชัดหวังยกเลิกรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องให้สภาเดินหน้าประชามติจากประชาชน ด้าน "วิษณุ" เผยยื่นแก้ รธน. มาตรา 256 ทำได้ คู่ขนาน พ.ร.บ.ประชามติ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวย้ำจุดยืนยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แล้วร่างใหม่โดย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชนโดยตรง

โดย พิธา กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ จะต้องจัดลำดับความสำคัญนำร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่ค้างอยู่ที่ประชุมอีก 10 มาตราตามวาระปกติให้แล้วเสร็จ แล้วค่อยนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาต่อ เพราะมีความพยายามเบี่ยงเบนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง


ปิดสวิตช์ ส.ว.ยกเลิกอำนาจ

ดังนั้น จุดยืนพรรคก้าวไกล เห็นชอบร่วมกัน ให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยการยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยจะเสนอร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ แต่จะไม่ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร เนื่องจากเห็นว่า จำกัดอำนาจห้ามแก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2 ซึ่งเป็นการสร้างบรรทัดฐานการเมืองที่ผิด ส่งผลเสียต่อระบบประชาธิปไตยในระยะยาว

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกล เสนอการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต 1 ใบ และ เลือกพรรคการเมือง 1 ใบ โดยใช้วิธีคิดคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพื่อทุกคะแนนไม่ตกน้ำตามเจตนารมณ์ของประชาชน

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้มีมติต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้

 (1) พรรคก้าวไกลเห็นว่า หนทางที่ดีที่สุดในการออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ประตูบานแรกที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย คือ การจัดทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น พรรคก้าวไกลขอคัดค้านหากประธานรัฐสภาจะเตะถ่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติที่ค้างอยู่ แล้วนำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขึ้นมาพิจารณาก่อนตามความต้องการของพรรคพลังประชารัฐทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาปลายเดือนนี้ประธานรัฐสภาต้องกำหนดวาระตามปกติ ให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติแล้วเสร็จก่อนเข้าสู่วาระอื่น

(2) พรรคก้าวไกลเห็นว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐในหลายมาตรานั้น เป็นความพยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และยุติกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แล้วดำเนินการ “ต่ออายุ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีก ผ่านการแก้ไขระบบการเลือกตั้งที่ตนเองคิดว่าจะได้เปรียบจากการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุน และผ่านการเปิดช่องให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าไปเบียดบังงบประมาณและแทรกแซงข้าราชการได้ง่ายขึ้น 

(3) การพยายามเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 หลากหลายมาตราตามเกมของพรรคพลังประชารัฐนั้น มีแต่จะทำให้เกิดความสับสน หรือแย่กว่านั้นคือไปช่วยกันตกแต่งให้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ดูดีขึ้น และช่วยกันต่ออายุให้ระบอบประยุทธ์ ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราในสถานการณ์ปัจจุบันควรพุ่งเป้าให้ชัดเจนไปยังการปลดกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

ที่ประชุม ส.ส. ของพรรคก้าวไกลจึงเห็นชอบให้เสนอ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. ดังนั้น ส.ส. พรรคก้าวไกลจะลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นนี้ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วยื่นต่อประธานสภาในวันที่ 16 มิ.ย.นี้

(4) ที่ประชุม ส.ส. พรรคก้าวไกลมีมติไม่ร่วมลงชื่อกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไข มาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เนื่องจากเราไม่เห็นด้วยกับการไปจำกัดอำนาจของ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ  

 “พรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่า การกำหนดห้ามดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว และเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นเสมอว่า สสร. ที่มาจากประชาชนมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด และ สสร. ควรเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้แก่ทุกฝ่าย เคารพอำนาจของประชาชน เพื่อนำไปสู่ฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน”

(5) สำหรับเรื่องระบบการเลือกตั้งนั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่า หากจะมีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ต้องมีเป้าหมายในการสร้างระบบการเลือกตั้งที่ดี ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงแค่การแสวงหาระบบเลือกตั้งที่พรรคการเมืองใหญ่ได้ประโยชน์มากที่สุด

“ระบบการเลือกตั้งที่ดี ต้องทำให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด รวมถึงเป็นระบบที่ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง และสร้างประสิทธิภาพของระบบรัฐสภากับรัฐบาล"

“ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี ขณะที่ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังมีข้อด้อยที่ควรต้องปรับปรุง ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่า ระบบการเลือกตั้งที่ดี ควรเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าวคือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเลือกพรรคการเมืองอีก 1 ใบ โดยนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ และได้สัดส่วน ส.ส. ของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ต้องการต่ออายุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ทุกเสียงต้องถูกนับ”

พรรคก้าวไกลขอย้ำว่า ทางออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบันไม่ใช่การเข้าร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต้องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารและต่ออายุให้ระบอบประยุทธ์ แต่ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คู่ขนานไปกับการทำลายหัวใจในการสืบทอดอำนาจด้วยการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ก่อน การแก้ไขระบบเลือกตั้งหรือประเด็นปลีกย่อยอื่นใดโดยไม่ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ย่อมเป็นการเดินเข้าสู่กับดักและขนมล่อทางการเมืองของระบอบประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งนี้ พิธา ระบุว่า สาเหตุที่ไม่ร่วมลงชื่อในการแก้ไข มาตรา 256 ร่วมกับพรรคเพื่อไทยนั้น ประการแรกคือ ต้องทำตามกระบวนการ เนื่องจากการเสนอญัตตินี้คราวก่อน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติจึงต้องไปดำเนินการตามนั้น อีกประการหนึ่งคือพรรคก้าวไกลเองก็จะร่างแก้ไขมาตรานี้ในแนวทางของพรรค อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้ต้องหลังจากผ่านการประชามติแล้ว ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจึงอยากมุ่งไปที่ มาตรา 272 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปิดสวิตช์ ส.ว.

 “ตามลำดับความสำคัญของกฎหมาย สภาควรจะต้องพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประชามติก่อน การแถลงข่าวในวันนี้จึงเป็นการเรียกร้องไปยังประธานรัฐสภาด้วยว่า จะต้องไม่นำเอาเจตจำนงของพรรคการเมืองไหนมาเหนือประธานรัฐสภา สำหรับที่ถามมาว่าพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบเพราะเสียประโยชน์หรือไม่ เรายืนยัน่าพร้อมต่อสู้ในทุกระบบการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งแบบจำนวนบัตรสองใบเราเห็นด้วย แต่ระบบบัตรสองใบก็มีหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบปี 40 เท่านั้น ซึ่งเราต้องการระบบการเลือกตั้งที่ตอบสนองเจตจำนงของประชาชนที่สุด เสียงต้องไม่ตกน้ำหรือไม่ใช่การเลือกตั้งที่ผลออกมาแล้วไม่เป็นพรรคใหญ่ก็มีแค่พรรคเล็กไปเลย ระบบบัตรสองใบเป็นเรื่องดี เพราะประชาชนสามารถเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบได้ แต่วิธีการคำนวณจัดสรร ส.ส.แบบเขตกับบัญชีรายชื่อมีหลายแบบ ซึ่งระบบ MMP แบบเยอรมันเป็นระบบที่ไม่มีเสียงตกน้ำ เราจึงเชื่อว่าเป็นระบบที่เหมาะสมและตอบสนองเจตจำนงประชาชนมากที่สุด”


"วิษณุ" เผยยื่นแก้ รธน. มาตรา 256 ทำได้ คู่ขนาน พ.ร.บ.ประชามติ

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงฝ่ายค้านจะยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ มาตรา 256 อีกรอบ แต่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ยังค้างอยู่ในที่ประชุมรัฐสภา ว่า สามารถทำได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน และกระบวนการยังอีกยาว การแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ต้องผ่านวาระ 1 วาระ 2 ทิ้งเวลาไว้ 15 วัน ถึงจะลงมติวาระ 3 จึงจะไปถึงขั้นตอนการไปออกเสียงประชามติ เพราะฉะนั้นกฎหมายประชามติก็จะเดินหน้าต่อไปเองอีกทาง เพราะเหลืออีกไม่กี่มาตรา ก็จะแล้วเสร็จในที่ประชุมรัฐสภา จากนั้นก็เป็นการทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย​ ก็คงจะไปเจอกันพอดี

ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีกฎหมายประชามติรองรับ จะมีไม่ปัญหาใช่หรือไม่ เพราะกฎหมาย 2 ฉบับไปเจอกันพอดีวิษณุ ตอบเพียงว่า "ใช่"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง