ไม่พบผลการค้นหา
นับถอยหลังอีกไม่กี่สัปดาห์การต่อสู้ของชาว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี กำลังจะถูกชี้ชะตา เมื่ออายุคดีความยักยอกเงินทำศพ ตั้งแต่ปี 2554-2555 กำลังจะสิ้นสุดลงภายในเดือนธันวาคมนี้

หลังพวกเขาออกมาต่อสู้กรณีการทุจริตเงินช่วยเหลือของคณะกรรมการบริหารสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์กองทุนหมู่บ้าน รวมมูลค่าเสียหายหลายสิบล้านบาท

พื้นที่ อ.สามชุก 7 ตำบล 68 หมู่บ้าน สมาชิกกองทุน 12,000 คน ค่าสมาชิก 200 บาท รวมเงินกว่า 2,400,000 บาท ตามระเบียบ พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 ต้องแบ่งให้สมาชิกเป็นค่าจัดงานศพรายละ 120,000 บาท 

นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา พบการร้องเรียนจากสมาชิกหลายรายได้รับเงินเพียง 45,000-60,000 บาท

คำถามคือ "เงินกว่าครึ่งแสนหายไปไหน ?" 

"สมาชิกเขาอยากรู้ว่าเงินหายไปไหน เอาไปใช้จ่ายอย่างไร อยากให้มันมีการเปิดเผยและตรวจสอบได้" ถ้อยคำของผู้ประสบรายหนึ่งสะท้อนออกมา

118110867_2388824188079004_9062696847261010291_n.jpeg
  • ชาวบ้านร้องขอความเป็นธรรมสภาทนายความฯ

แต่พวกเขาได้เพียงคำชี้แจงที่ไม่สมเหตุสมผล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอธิบายว่า เป็นการหักเงินเข้ากองทุนสำรองในการจัดงานฌาปนกิจศพ ผ่านข้อตกลงของตัวแทน 68 ตำบล ซึ่งชาวบ้านต่างยืนยันว่า “ไม่ใช่การยินยอมของสมาชิก” จนนำไปสู่ผลประโยชน์ที่สูญหายไป

ย้อนไปกว่า 10 ปี ความพยายามที่ผู้เสียหายร้องทุกข์นั้น พวกเขาได้รวมตัวกันยื่นร้องเรียนหลายหน่วยงาน ทั้งช่องทางรัฐสภาและกระบวนการยุติธรรม อาทิ สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม, คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.), ศูนย์ดำรงธรรม จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเอกสารร้องทุกข์มีใจความว่า 

การดำเนินกิจการของคณะกรรมการดังกล่าว มีการเก็บค่าสมัคร เงินบำรุง เงินสงเคราะห์ เป็นการครอบครองเงินของสมาชิก หรือเบียดเบียนเป็นของบุคคลที่สามโดยทุจริต หรือทุจริตหลอกหลวงผู้อื่นนั้น

ชี้ชัดว่าการกระทำของคณะกรรมการในการหักเงินสงเคราะห์และเงินสมาคม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเจตนาทุจริต และโดยคณะกรรมการสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ได้กระทำความผิดหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2559-2561 ซึ่งนายทะเบียนประจำท้องที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ น่าเชื่อถือว่ามีการกระทำความผิดแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการสมาคมฯ ได้หักเงินสงเคราะห์โดยไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 

36422.jpg
  • ร้องถึงผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

แต่ความเงียบงันกำลังปกคลุม ตั้งแต่ปี 2554 รวมแล้วอย่างน้อย 200 คดี ที่การร้องทุกข์ดำเนินคดี กำลังจะหมดอายุในเดือนธันวาคม 2564 

อีกหนึ่งความพยายามที่ร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้รับเรื่องเป็นคดีพิเศษ โดยมีเนื้อหาระบุความว่า เนื่องจากการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สภ.สามชุก ดำเนินการไปอย่างล่าช้า และการสอบสวนไม่ครบถ้วน ไม่ครบประเด็นตามพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงที่ดีเอสไอ ได้ทำการสืบสวนและตรวจพบพยานหลักฐาน อีกทั้งมีการดำเนินคดีไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับผู้กระทำผิด ทั้งที่พฤติกรรมแห่งคดีมีความร้ายแรงและกระทำผิดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน สร้างความเสียหายแก่สมาชิกเป็นจำนวนมาก จึงขอความกรุณาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้โปรดพิจารณารับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดที่พึ่งสุดท้ายของพวกเขากลับได้คำตอบว่า "เรื่องดังกล่าวไม่เข้าเงื่อนไขคดีพิเศษของดีเอสไอ"

หนำซ้ำนอกจากไม่ได้ความเป็นธรรม ชาวบ้านหลายคนยังชะตาตก จากผู้ร้องทุกข์กลายเป็นผู้ต้องหา เมื่อคู่กรณีดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทโดยโฆษณา หลังพวกเขารวมตัวเข้ากรุงฯ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากดีเอสไอ

36420.jpg
  • ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรอผบการสอบสวน

และต้องพบเจอค่าความเสียหายจำนวน 1 ล้านบาท โดยมีผู้ถูกกล่าวหา 22 ราย แม้ว่าคดีจะสิ้นสุดลงด้วยคำสั่งศาลยกฟ้อง เนื่องจากมองว่ากรณีชาวบ้านร้องเรียนนั้นเป็นการปกป้องประโยชน์ของตนและสมาคม ซึ่งเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ แต่จากการถูกฟ้องครั้งนั้นยังสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในการต่อสู้

แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ย้ำว่า "เรากำลังสู้กับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่"

"ทุกคดีที่พวกเราสู้ไม่เคยถึงชั้นศาล ส่วนชาวบ้านเขาต้องโดนถูกเรียกค่าเสียหาย 1 ล้านบาท ตอนนี้ทุกคนกลัวมาก เขาไม่กล้าคุยกับใครเลย" หนึ่งในแหล่งข่าวในพื้นที่กล่าว

“เรารู้ว่าเราเล่นกับใคร คนไหน เป็นใคร เราแค่หวังว่าจะมีคนมาช่วย”

เขาเล่าต่อว่า “ตอนนี้ชาวบ้านต้องการนักกฎหมายเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องคดีความ เพราะชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย”

ความปรารถนาที่จะเข้าถึงความยุติธรรมของชาวบ้านระบุว่า “บัดนี้ทางสมาชิกของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ ได้ติดตามรอฟังผลการพิจารณาจากท่าน เพราะตั้งแต่วันที่พนักงานสอบสวนได้สรุปและส่งสำนวนมายังท่าน จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเนิ่นนานมากแล้ว ดังนั้นข้าพเจ้าพร้อมด้วยสมาชิกสมาคมฯ จึงขอความชัดเจนในการพิจารณาคดีจากท่านอีกครั้งหนึ่ง”

ถ้อยคำตอกย้ำถึงความเงียบงันของความเป็นธรรม เมื่อพวกเขาส่งหนังสือถึงผู้ดำรงความยุติธรรมอย่าง ‘พนักงานอัยการ’ ทว่าสิ่งที่ทวงถามยังไร้ความคืบหน้า

และหากผ่านนาทีสุดท้ายของอายุความ โดยไร้ความเป็นธรรม เขาตอบได้เพียงว่า "ชาวบ้านคงต้องรับสภาพ เพราะพวกเราไม่มีอำนาจ" แหล่งข่าวผู้เสียหายทิ้งท้าย

“ตอนนี้ไม่รู้จะพึ่งใครเพราะพวกเราร้องเรียนมาหมดทุกที่แล้ว อย่างน้อยหวังว่าสิ่งที่พวกเราทำ มันจะทำให้คนพื้นที่รู้ว่าใครดี ไม่ดีจริง”

ปัญหาการยักยอกค่าทำศพนั้น ไม่เพียงเกิดขึ้นที่สามชุกเท่านั้น ยังมีอีกหลายพื้นที่ต้องประสบเหตุคอร์รัปชันบนความตาย ขณะเดียวกันการลุกขึ้นมาต่อสู้ของชาวบ้านนั้น ต้องสุ่มเสี่ยงกับผู้มีอิทธิพลที่ล้วนโยงใยกับกลุ่มอำนาจท้องถิ่น