ไม่พบผลการค้นหา
'หนี้สาธารณะ' คือรัฐบาลหรือหน่วยงานเกี่ยวข้องกู้มา ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 54.28% ขณะที่ 'หนี้ครัวเรือนไทย' พุ่งไปแตะขอบฟ้า

‘หนี้’ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน ทั้งยังเป็นธุรกรรมทางการเงินที่พบเห็นได้ทั่วไปตั้งแต่เด็กวัยประถมศึกษาที่ผู้ปกครองให้ค่าขนมไม่เพียงพอกับเสียงท้องร้องตอนกลางวัน ไปจนถึงมนุษย์เงินเดือนวัยผู้ใหญ่และสารพัด "ของมันต้องมี"

แต่เมื่อเปลี่ยนบริบทมาพูดถึงการกู้หนี้ยืมสินมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท แสนล้านบาท หรือกระทั่งล้านล้านบาท ไม่เพียงว่าตัวเลขมหาศาลชวนปวดหัว ตัวละครมากมายที่ปล่อยกู้ ยื่นกู้ อนุมัติกู้ก็ทำให้ประชาชนสับสนได้เช่นเดียว

โดยทั่วไปแล้วหากจะพูดถึงหนี้ในระดับชาติ เราอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ หนี้สาธารณะ และ หนี้ครัวเรือน 


หนี้สาธารณะ ณ 54.28%

แม้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะเยอะขึ้น ซับซ้อนขึ้น และห่างไกลจากหูตาประชาชนมากขึ้น แต่ ‘หนี้สาธารณะ’ ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจาก ‘หนี้’ ที่รัฐบาลไปกู้มาบริการประเทศเพราะมีรายได้ไม่เพียงพอกับสารพัดโครงการพัฒนาชาติหรือถ้าเป็นภาวะปัจจุบันก็คือการประคับประคองประชาชนให้มีชีวิตรอดท่ามกลางโควิด-19 

นั่นจึงหมายความว่า พ.ร.ก.เงินกู้เยียวยาโควิด มูลค่า 1 ล้านล้านบาท หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ‘พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน’ รวมไปถึงที่มีข่าวว่าจะกู้เพิ่มอีก 700,000 ล้านบาท รวมอยู่ในเงินกู้สาธารณะทั้งสิ้น 

จริงๆ แล้วเงินกู้สาธารณะไม่ได้มีแค่ส่วนที่รัฐบาลกู้เองโดยตรง แต่ยังรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจ, หนี้รัฐวิสหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินฯ แล้วรัฐบาลเข้าไปค้ำประกัน, หนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ รวมไปถึงหนี้ต่างๆ ของหน่วยงานรัฐ 

ปัจจุบัน ตามตัวเลข ณ มี.ค.2564 ไทยมียอดหนี้รวม 8.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 54.28% ของจีดีพี เมื่อประมาณค่าจีดีพีราว 15.6 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ สัดส่วนหนี้ที่ภาครัฐกู้เองโดยตรงสูงถึง 7.3 ล้านล้านบาท 

ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 รัฐบาลยังถือว่ามีช่องว่างสำหรับหรือสาธารณะอยู่ เนื่องจากเพดานของกฎหมายปัจจุบันคือ 60% ต่อจีดีพี 

เมื่อลงไปหาความจริงว่ารัฐบาลกู้เงินไปทำอะไร จะพบว่า จากตัวเลข 7.3 ล้านบาทนั้น หมดไปกับ ‘เงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการบริหารหนี้’ ถึง 5.2 ล้านล้านบาท มากกว่ายอดหนี้ที่กู้มาเพื่อเยียวยาโควิด-19 หลายเท่าตัว 


อีกฝั่งของหนี้ = รายได้

เมื่อพูดถึง ‘การขาดดุล’ หรือแปลง่ายๆ ว่า รายรับน้อยกว่ารายจ่าย ‘วอยซ์’ จึงอยากชวนผู้อ่านไปดูระดับรายได้ของประเทศกันบ้าง 

ในปี 2563 ประเทศไทยมีรายได้จากภาษีซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 2.86 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นที่มาจาก กรมสรรพากร ราว 1.83 ล้านล้านบาท ตามมาด้วยกรมสรรพสามิต ที่ตัวเลข 548,000 ล้านบาท และแบ่งเป็นหน่วยงานอื่นๆ กับกรมศุลกากร ที่ 387,502 และ 93,898 ล้านบาท ตามลำดับ 

ย้อนกลับไปอีกในปี 2562 พบว่าไทยมีรายได้ภาษีแตะหลัก 3 ล้านล้านบาท ทว่าสองปีก่อนหน้านั้นในปี 2561 และ 2560 มีรายได้ภาษีที่ 2.9 และ 2.7 ล้านล้านบาท 

คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยถือว่ามีรายได้ภาษีมากเพียงพอหรือยัง จะตอบเช่นนี้ก็ต้องดูว่า โดยปกติแล้วรายได้ภาษีใช้ไปกับการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของคนในชาติ หากอยากมีสวัสดิการที่ดีย่อมหมายความว่าต้องใช้เงินแลกมากับสิ่งนั้น 

รายงานรายได้ภาษีของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2550 - 2561 ของ OECD พบว่า ไทยมีรายได้ภาษีเทียบกับจีดีพี (tax-to-GDP ration) อยู่ในหลักสิบปลายๆ เท่านั้น โดยเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 19.2% ในปี 2556 และต่ำที่สุด 16.2% ในปี 2552

ข้อมูลล่าสุดของปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 17.5% ขณะที่ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเฉลี่ยสูงถึง 34.3% 

‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ ประธานกรรมการบริการสถานบันปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับวอยซ์พร้อมระบุอย่างชัดเจนว่า ระดับรายได้ของไทยในปัจจุบันถือว่าต่ำเกินไป เมื่อเทียบกับระดับความต้องการสวัสดิการพื้นฐานของคนในชาติที่เพิ่มสูงขึ้น 

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นภาษีเพื่อหารายได้เพิ่ม ไม่ใช่การเพิ่มภาระให้กับชนชั้นกลางหรือชนชั้นล่างของประเทศ เพราะรูปแบบภาษีที่ควรพัฒนาไม่ใช่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่เป็นภาษีทรัพย์สินที่เข้าไปเรียกร้องให้ผู้ร่ำรวยของประเทศนี้จ่ายส่วนแบ่งอย่างชอบธรรมคืนให้กับสาธารณะ 

ตัวอย่างภาษีสำคัญที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลคือ ‘ภาษีมรดก’ ที่แม้จะมีผลทางกฎหมายแล้วแต่กลับไม่มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดจริงจัง จนประธานฯ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ใช้คำว่า “ภาษีมรดกไทยทำ แต่ทำเหมือนขอไปที”

การเก็บภาษีทรัพย์สินหรือภาษีมรดกเห็นได้อย่างชัดเจนกับประเทศฝั่งตะวันตกหรือแม้กระทั่งกับเกาหลีใต้ที่เพิ่งมีข่าวว่า ‘ตระกูลอี’ หรือเจ้าของธุรกิจในเครือซัมซุงกรุ๊ป ต้องจ่ายภาษีมรดกในมุลค่ากว่า 12 ล้านล้านวอน หรอประมาณ  3.4 แสนล้านบาท 

เมื่อสรุปสมุดบัญชีรัฐบาลง่ายๆ ให้ประชาชนเข้าใจคือ หากรัฐบาลหาเงินได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ก็จะสามารถนำกำลังทรัพย์ดังกล่าวมาพัฒนาประเทศชาติได้ ซึ่งหนทางก็มีอยู่ แต่จะบังคับใช้ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดหรือไม่ต้องติดตามกันต่อ

ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาลไม่สามารถหาเงินได้มากขึ้น หรือแม้แต่หาได้ในระดับเท่าเดิม เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา ย่อมมีเงินไม่เพียงพอมาเยียวยาประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้ต้องกู้หนี้ยืมสินเป็นธรรมดา 

อย่างไรก็ดี หนี้สาธารณะ ไมใช่เรื่องเลวร้ายไปเสียทุกมิติ เพราะการกู้เงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อหวังต่อยอดและพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ย่อมนำมาซึ่งผลประโยชน์ของชาติเช่นเดียวกัน 


หนี้ครัวเรือน ณ 86.6% 

เมื่อ ‘หนี้สาธารณะ’ คือหนี้ของสาธารณะในฐานะประเทศ ‘หนี้ครัวเรือน’ จึงเป็นหนี้ของแต่ละครัวเรือนในฐานะตัวบุคคล

หนี้ประเภทนี้ส่วนมากเป็นการกู้ยืมด้วย 4 เหตุผลสำคัญ คือ เพื่อการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคทั่วไป, เพื่อซื้อบ้านหรือที่ดิน, เพื่อทำการเกษตร และเพื่อทำธุรกิจ 

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดของประเทศไทย ณ ไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 86.6% ต่อจีดีพี โดยเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากไตรมาส 1/2561 ซึ่งไทยมีสัดส่วยหนี้ครัวเรือนราว 77.7% ต่อจีดีพี 

ถามว่าทำไมคนเป็นหนี้ คำตอบก็คือมีรายได้ไม่เพียงพอ แล้วสิ่งใดทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอ ก็คือเศรษฐกิจที่หดตัวลดลง

โควิด-19 เองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างหนัก เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเศรษฐกิจเดินหน้าไม่ได้ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยก็อาจต้องปิดตัวลง กระทบเป็นทอดๆ ไปสู่ลูกจ้างที่จะสูญเสียรายได้ 

แม้ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจะออกมาตรการเยียวยาทางการเงินผ่านสารพัดโครงการที่ชื่อลงท้ายด้วย “ชนะ” แต่หากจะให้ประชาชนชนะได้จริงๆ ทางออกเดียวคือการกลับไปเปิดประเทศให้เศรษฐกิจกลับไปหมุนตามวงล้อปกติของมัน เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ ลูกจ้างมีงานทำ เงื่อนไขคือยิ่งเปิดเศรษฐกิจได้เร็ว ผลกระทบต่อประชาชนก็จะยิ่งบรรเทาลง 

เมื่อไปดูข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะพบว่า ปัจจุบันครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนราว 26,018 บาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือน ราว 21,329 บาท ทั้งยังมีหนีสินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงถึง 164,055 บาท 

เมื่อเปรียบเทียบระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของประเทศต่างๆ ในโลกนี้ จะพบว่าประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยมีหนี้ครัวเรือนในระดับเกิน 100% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ที่สูงถึง 131% ขณะที่เกาหลีใต้เองก็มีหนี้ครัวเรือนถึง 101% 

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลบนฐานช่วงเวลาไตรมาส 3/2563 จะพบว่า ‘ไทย’ ถือเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่มีระดับหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จากการจัดอันดับของ trading economics โดยระดับหนี้ครัวเรือนของไทยในตอนนั้นที่ 75.5% สูงกว่าทั้งญี่ปุ่น, จีน หรือสิงคโปร์ 

การกลับมาทำความเข้าใจ ‘นิยาม’ พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์อาจไม่ใช่เรื่องน่าบันเทิงใจสักเท่าไหร่ แต่การเข้าใจความหมายอย่างถ่องแท้จะช่วยประชาชนให้เสพข้อมูลได้อย่างเต็มที่ และเข้าใจสภาพเศรษฐกิจของชาติที่ตนเองอาศัยอยู่ได้มากขึ้นอย่างแน่นอน