ไม่พบผลการค้นหา
ความห่วงใยของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้แบ่งเป็นสองข้อหลัก : ต้องแก้หนี้สินเพื่อปากท้องคนไทย และอนาคตที่อาจถูก 'โลก' ทิ้งไว้ข้างหลัง

ในวาระครบรอบ 1 ปีเต็ม ของการจัดตั้งกลุ่มแคร์ ที่มีสโลแกนว่า 'CARE คิด เคลื่อน ไทย' Tony Woodsome หรือ ดร.ทักษิณ ชันวิตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรากฎตัวขึ้นอีกครั้ง

แม้ตลอดสองถึงสามเดือนที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนไม่น้อยจะได้รับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ แนะบ้าง เหน็บบ้าง ของอดีตนายกฯ ผู้นี้ ผ่านแอปพลิเคชันคลับเฮ้าส์กันแบบสัปดาห์เว้นสัปดาห์

เนื้อหาสำคัญในการพูดคุยครั้งนี้อยู่ที่ความห่วงใย หรือ "แคร์" กับอนาคตประเทศไทยภายใต้ผู้นำที่ไม่เพียงไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง แต่เมื่อขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งแล้วยังไร้ศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศ และพาประชาชนให้พ้นจากวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้


ความห่วงใยของ 'Tony'
  • 'หนี้นี้' ไทยครอง

เป็นอีกครั้งที่อดีตนายกฯ ผู้เคยแก้วิกฤตหนี้ให้เมืองไทยหยิบเรื่องนี้มาพูด หากว่ากันตามจริง ดร.ทักษิณ แทบจะพูดเรื่องหนี้สินของชาวบ้าน เอกชน รวมไปถึงรัฐบาล ตั้งแต่การเปิดคลับเฮ้าส์ครั้งแรกแล้ว ทั้งยังมีครั้งที่อุทิศทั้งตอนให้กับเรื่องหนี้ครัวเรือน-หนี้สาธารณะอีกด้วย

จากการบริหารวัคซีนที่ผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจจริงของชาติพังครืนลงมา ชนชั้นกลางว่าหนักแล้ว แต่กับผู้มีรายได้น้อยที่หามื้อกินหลายมื้อ สถานการณ์ปัจจุบันของไทยแทบตอกฝาโลงครอบครัวเขาเหล่านั้นหมดแล้ว

"ชาวบ้านไม่มีจะกิน ตลาดทุกตลาดมีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ กลางปีนี้ หนี้สินต่อจีดีพี เราจะขึ้นมาทะลุ 60% ซึ่งเป็นการกำหนดตามวินัยการคลังไว้ก็จะเกิน ทางรัฐบาลก็คงจะแก้เพื่อไม่ให้ผิด แต่ว่าที่ผิดคือ ผิดในเรื่องวินัย เอาไปแก้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเรายังไม่มีวินัยแล้วไปแก้ตัวเลข"

ทักษิณ ชี้ว่า นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง จะสนใจเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนน้อยมากและเข้าใจปัญหาประชาชนน้อยมาก "ใครถามมากก็จะดุเอา"

เพราะขาดการลงพื้นที่อย่างทั่วถึง ดร.ทักษิณ จึงมองว่า กลุ่มแคร์ ที่พยายามทำหน้าที่ ThinkTank หรือการเป็นคลังความคิด ให้กับประเทศ สามารถใช้ช่วงโหว่ของรัฐบาลเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล นอกเหนือจากแค่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครและเร่งสะท้อนแนวนโยบายที่จะตอบโจทย์ทุกคนได้

"บางที รัฐบาลก็อาจจะฟัง แล้วทำเป็นได้ยิน แต่ไม่พูด แล้วเอาไปทำ ก็ยังดี เป็นประโยชน์ เราไม่หวังหน้าตาอยู่แล้ว ขอให้ได้ช่วยแก้ปัญหาให้บ้านเมือง แล้ววันนี้ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหา แต่คิดไม่เป็นหรือคิดไม่ออก เราก็ช่วยกันคิด ช่วยกันสะท้อน"

ดร.ทักษิณ เตือนว่า ถ้ารัฐบาลไม่ปรับวิธีการดูแลประชาชน ไม่ใช่ทำแต่เพียงแจกเงิน พอเงินหมดก็กู้เงินใหม่ "ไม่พอก็กู้ กู้แล้วทะลุเพดาน ก็แก้เพดาน แล้วกู้มาก็ไม่รู้จะคิดยังไง ก็แจกเงิน" ไทยจะจมอยู่กับกับดักหนี้ ทำให้ประเทศลำบาก

"พอไปเปรียบเทียบกับสากล สากลในที่นี้ก็เปรียบเทียบกับเวเนซุเอลา เป็นประเทศที่มีน้ำมัน แต่วันนี้ หนี้ประเทศทะลุไป 100% ต่อจีดีพี แล้วประชาชนก็อดอยากลำบาก เงินเฟ้อสูง เราจะเป็นอย่างนั้นหรือ? เพราะฉะนั้น เราต้องรีบปรับปรุงเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศโดยเร็ว และเปิดโอกาสให้ประชาชนมากๆ"

  • ตามโลกไม่ทัน

อีกหนึ่งความห่วงใยของคนไกลที่เท้าไม่ได้แตะแผ่นดินเกิดมาเป็นเวลานานสะท้อนคือช่องว่างที่ห่างขึ้นเรื่อยๆ ของไทยกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ในเรื่องของการเปิดประเทศ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพิ่งออกมาประกาศแผนเปิดประเทศภายใน 120 วัน

ดร.ทักษิณ ชี้ว่า ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันมากเรื่องการดึงดูดนักท่องเที่ยวไปยังประเทศตนเอง "เขามองว่าทนไม่ไหวแล้ว กับภาวะที่ประชาชนลำบาก ภาวะเศรษฐกิจที่แย่ แล้วภาวะของการที่หยุดชะงักในการเจริญเติบโต การเก็บภาษีของรัฐก็แย่ลง เขาเตรียมเปิดแล้ว" 

"แต่ของเรา(ไทย) ต้องจริงจังได้แล้ว นานกว่านี้ ประชาชนจะลำบาก ไปแจกเงินก็ไม่พอหรอก ไม่พอกินจริง ต้องรีบเตรียมตัว เปิดเศรษฐกิจของประเทศได้แล้ว"

วันนี้ไทยต้องเตรียมตัวว่า ไม่นานโควิดก็จะเหมือนไข้หวัด ที่มียารักษา มีวัคซีน แล้วก็มีภูมิคุ้มกันหมู่ เศรษฐกิจก็ต้องเตรียมตัวเปิดไปพร้อมๆ กัน ถ้ายังไม่เตรียมตัว เปิดมาก็สู้คนอื่นไม่ได้ ดังนั้นวันนี้ ต้องเตรียมตัวแล้ว 

เท่านั้นยังไม่พอ วันนี้โลกยังแข่งขันกันอีกหลายเรื่อง ทั้ง เศรษฐกิจดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยยังไม่มีความพร้อม และไม่เห็นแนวทางในการเตรียมตัวของรัฐบาล

"วันก่อน มีคนมาชวนผม ไปลงทุน เราลงทุนในบริษัที่เกี่ยวกับเรื่อง "ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง" ซึ่งจะไปเชื่อมต่อกับมาสเตอร์การ์ดหรือแอมะซอน ถามว่าตรงนี้กำลังจะมา จะมาแย่งลูกค้า การซื้อจากบ้าน ไปร้านค้าปลีก ก็จะถูกแข่งขันกันหมด คนไทยจะเตรียมตัวยังไง เราจะบอกเขาได้ไหม สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจที่เขาเคยทำมาจนปัจจุบัน จะต้องแก้ไขแล้ว จะต้องทำยังไง"

อดีตนายกฯ ชี้ว่า สิ่งนี้เป็นการบ้านสำคัญให้กับคนเป็นรัฐบาล แต่คนที่เป็นคลังความคิดอย่างกลุ่มแคร์ จะช่วยคิด ช่วยให้รัฐบาล พูดให้รัฐบาลได้ยินหน่อย ถ้าเขาเอากลับไปคิด ไปทำต่อ ก็ได้เป็นประโยชน์ อีกไม่กี่ปี หรือปีกว่าก็จะเลือกตั้งแล้ว

"เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ก็กำลังคิดว่า ประชาชนจะเลือกยังไง แล้วจะเอาใครมาแก้ไขปัญหาให้เขา นั้นก็เป็นสิ่งปกติในระบบการเลือกตั้ง ถึงแม้เราเป็นประชาธิปไตยเพียงเสี้ยวเดียว ไม่เต็มที่ ก็ยังดีกว่าไม่เป็นเลย"

แล้ววันนี้สิ่งที่เคยเป็นแนวคิดและวิชาการได้ผูกรวมกัน รวมกันได้ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นในโลก อย่างรวดเร็วมาก ถ้าไทยยังไม่ตามเรื่องเหล่านี้ ปล่อยให้ประเทศไปแบบนี้ เดินแบบนี้ แล้วถอยไปโบราณแบบนี้ ปัญหาตามมาแน่

"เศรษฐกิจจะพัง คนไทยจะจน กำลังซื้อจะตก ภาษีก็เก็บไม่ได้ เราจะทำให้หนี้สินเราลำบากขึ้น"

ถ้าประเทศยังเป็นอย่างนี้ ไม่คิดทางวิชาการ ไม่คิดจะพัฒนาให้ตัวเองให้ตามทันโลก ก็ไม่สามารถที่จะดูแลประชาชนได้ เพราะว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ในโลกนี้มีผลต่อทุกประเทศ เพราะความเชื่อมโยงไม่เหมือนเมื่อก่อน แล้ววันนี้ไม่ใช่ว่า การมาเป็นรัฐบาล ใครๆ ก็เป็นได้

"การเมืองแบบเดิมๆ เดี๋ยวเอาทหารมา นั้นไม่เพียงพอ สมัยก่อนที่เพียงพอ เพราะระบบราชการแข็งแรง และโลกไม่เชื่อมโยงกันมากขนาดนี้ แต่วันนี้โลกเชื่อมโยงกันมาก"

ขณะเดียวกัน ระบบราชการไทยอ่อนแอลงเยอะ เพราะขาดการพัฒนา แล้วในโลกของทุนนิยม คนต้องการเงินเยอะก็จะไปอยู่ภาคเอกชน คนเรียนหนังสือเก่งๆ ก็ไปไปอยู่ภาคเอกชน ภาคราชการก็จะมีคนที่เรียนเก่งน้อยลง ดังนั้น ความเก่งในระบบราชการล้าหลัง คนที่มาเป็นรัฐบาล ถ้าไม่เอาความรู้ติดตัวมา เอามาแค่คะแนนเสียงนั้นก็ไม่เพียงพอ ต้องเอาความรู้ติดตัวมา ที่จะมาแก้ปัญหาบ้านเมือง

อย่าลูบหน้าปะจมูก เราต้องเดินหน้าด้วย หลักการที่ถูกต้อง แล้วเราถึงจะ นำพาประเทศไทยไปได้

ดร.ทักษิณ ปิดท้ายว่าสิ่งที่กลุ่มแคร์ทำมานั้นก็ถือว่าทำได้ดีมากแล้ว แต่ก็ขอให้เดินหน้าต่อไป ในเชิงของการรับรู้ปัญหาให้ทั่วประเทศ แล้วเสนอทางออก ให้กับรัฐบาล ส่งเสียงดังๆ อย่างน้อยๆ รัฐบาลไม่เอาไป ภาคประชาชนก็จะได้ตื่นตัวว่าข้างหน้าจะเกิดขึ้นนะ โอกาสคืออะไร อะไรคือสิ่งที่จะคุกคาม ความอยู่รอดของธุรกิจตัวเอง จะได้ปรับตัวได้ทัน เพราะถ้าไม่ปรับตัวก็พัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;