ไม่พบผลการค้นหา
เปิดทุกก้าวเดินที่จะทำให้ไทยผ่านหายนะ - 1 ม.ค.2565 ให้ไทยเปิดประเทศได้อีกครั้ง - ระยะแรก 1-3 เดือน และระยะต่อจากนั้นต้องทำอย่างไร

คล้อยหลังเพียงหนึ่งวัน หลังวันเกิดครบรอบ 72 ปี ‘Tony Woodsome’ หรือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ลุกขึ้นมาใช้พื้นที่ออนไลน์อย่างคลับเฮาส์ของกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย เพื่อสื่อสารประเด็นสำคัญที่สุด ณ เวลานี้ อย่างการวางแผนสู่ความปกติใหม่ (new normal) หลัง “มหาวิกฤต” แห่งยุคสมัย


ทำความเข้าใจ New Normal

ในประเด็นแรกเริ่ม ดร.ทักษิณ เริ่มจากการอยากทำให้สาธารณชนไปจนถึงรัฐบาลทำความเข้าใจเงื่อนไขของคำว่าความปกติใหม่หรือ New Normal ว่าคือการที่ประชาชนสามารถอยู่กับโควิด-19 โดยมองว่าเป็นโรคประเภทหนึ่ง คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีทั้งยารักษาและวัคซีนป้องกัน

ทว่าในความพร้อมนั้น ไม่ได้หมายความว่าโรคไข้หวัดใหญ่จะไม่คร่าชีวิตของผู้คน เพียงแต่สังคมสามารถลดจำนวนของผู้ที่ต้องจากไปให้เหลือน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

"ถามว่าไข้หวัดใหญ่ยังเป็นเหตุให้คนตายอยู่ไหม ก็ต้องบอกว่ายังมีการตายอยู่ แน่นอนว่าโควิดก็จะยังฆ่าคนได้ แต่ประชาชนจะอยู่ได้แบบไม่ต้องหวาดกลัว ขณะที่สังคมไทยที่เป็นอยู่นี้ ทั้งวัคซีนไม่เพียงพอ สถานพยาบาลล้นเกิน สิ่งที่เป็นอยู่ไม่ใช่ความปกติใหม่ New Normal อย่่างที่ไทยเป็นอยู่คือ New Disaster (หายนะครั้งใหม่)"


ไทม์ไลน์กู้ชีพประเทศไทย
  • 1-3 เดือนแรก

ดร.ทักษิณ ย้ำว่า วิกฤตที่ประเทศไทยเผชิญอยู่นั้นต้องการรัฐบาลที่วิ่งนำหน้าปัญหาไม่ใช่วิ่งตามหลังแต่ปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ โดยจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาตอนนี้นั้นหนีไม่พ้นต้องกับไปที่มหากพาย์วัคซีนและองค์ประกอบเกี่ยวข้อง

อันดับแรก รัฐบาลต้องกลับไปที่การสั่งวัคซีนที่เพียงพอมากขึ้น และพุ่งเป้าไปที่วัคซีนซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพเพียงพอในการจะต่อสู้กับการกลายพันธุ์ของไวรัส

เพื่อตอบสนองการได้มาซึ่งวัคซีนนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องหยิบกลยุทธ์การเจรจากับรัฐบาลของประเทศอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีนที่อาจจะใกล้หมดอายุของที่อื่นมาใช้กับไทยก่อน และค่อยส่งมอบวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อคืนให้กับประเทศเหล่านั้น อาทิ ในกรณีของอิสราเอลและเกาหลีใต้

อันดับที่สอง เมื่อได้มาซึ่งวัคซีนที่เพียงพอแล้ว รัฐบาลต้องเร่งสร้างศักยภาพในการฉีดวัคซีนให้มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างเท่าตัว ไทยต้องฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 700,000 - 1,000,000 โดส/วัน เพื่อทำให้ระบบสาธารณสุขกลับคืนมาภายในระยะเวลาสามเดือนถัดจากนี้ ทั้งนี้ ดร.ทักษิณ ย้ำว่า เมื่อได้วัคซีนมาต้องเน้นแจกจ่ายให้กับผู้เปราะบางและบุคลากรทางสาธารณสุขให้ทั่วถึงด้วย

"เขาเป็นนักรบด่านหน้า จะให้เขาตายเหรอ หมอต้องรักษาตัวเองด้วย รักษาคนไข้ด้วย"

อันดับที่สาม ในช่วงเวลาเดียวกันกับการกระจายวัคซีน รัฐบาลต้องนำเข้ามาซึ่ง Rapid Antigen Test ให้มากในระดับอย่างต่ำ 60 - 70 ล้านชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป ดร.ทักษิณ ย้ำว่า การแจกจ่ายในเงื่อนไขว่าต้องอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมและไม่แพงเกินไป จะช่วยเหลือประชาชนให้เลิกอยู่ในความกังวลได้

หลังจากแจกจ่าย Rapid Antigen Test แล้ว รัฐบาลต้องไม่ลืมบริหารจัดการกระบวนการหากประชาชนตรวจพบว่าได้ผลเป็นบวกว่า ต้องมีการตรวจย้ำอีกครั้งผ่าน RT-PCR Test เพื่อแยกผู้ที่อาจไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 และเป็นการบริหารพื้นที่รับรองผู้ติดเชื้อให้เปิดประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.ทักษิณ ย้ำอีกครั้งว่า ทั้งวัคซีนทางเลือก ทั้งเครื่องตรวจการติดเชื้อไวรัส รัฐบาลต้องตั้งใจให้ถึงที่สุดที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างถูกที่สุดหรือฟรีเพราะ "ประชาชนไม่เคยจนขนาดนี้มาก่อน"

อันดับที่สี่ ในช่วงเวลาเดียวกันกับกระบวนการข้างต้น รัฐบาลต้องพัฒนาระบบการ Tracking ตัวบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที

ข้อแนะนำทั้งสี่ข้างต้น นับเป็นหนทางสู่ความปกติใหม่ในระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ เพื่อปูทางให้ชาวไทยได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุข

  • ระยะกลางและต่อจากนี้

ในระยะถัดมา หรือราว 4 เดือนต่อจากนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมคืนชีวิตที่ปกติให้กับประชาชนโกยไม่ลืมที่จะส่งเสริมความเข้าใจว่าโควิด-19 จะอยู่กับมนุษยชาติต่อไป

อันดับแรก รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมตัวเรื่องระบบสาธารณุสขทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาชีวิตผู้ป่วย ไปจนถึงยารักษาแบบเม็ดและแบบฉีดที่บริษัทต่างประเทศกำลังพัฒนาอยู่ รัฐบาลต้องเร่งเข้าไปจองยาเหล่านี้เพื่อทำให้มั่นใจว่าต่อไปประชาชนชาวไทยจะเข้าถึงยารักษาโควิด-19

อันดับที่สอง รัฐบาลต้องปรับปรุงพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่อย่างพื้นที่ว่างในกองทัพต่างๆ มาเป็นสถานที่ดูแลผู้ติดเชื้อเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลทั่วไปที่รองรับผู้ติดเชื้อไม่ไหวแล้ว

"จากนี้ไปถึงสิ้นปี ประเทศไทยต้องพร้อมกลับไปสู่ความปกติใหม่ ไม่งั้นพังนะเพราะเยียวยาท่านทำได้ไม่ทั่วถึง"

อันดับที่สาม เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องกลับมาให้ความสำคัญกับฝั่งเศรษฐกิจ ผ่านการเยียวยาให้ทั่วถึงตามศักยภาพที่ประเทศมี ไปพร้อมๆ กับการเปิดประเทศเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาลืมตาอ้าปากได้

"หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ นักรบทางเศรษฐกิจของท่านจะง่อยเปลี้ยเสียขา หนี้ต่อจีดีพีจะสูงไปอีก ตายกันหมดนะ ภาษีเก็บไม่ได้แน่นอน"

ดร.ทักษิณ ยังไม่ลืมที่จะช่วยอธิบายว่าเหตุใดการเยียวยาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงไม่เคยเพียงพอ เป็นเพราะความเข้าใจความทุกข์ยากของประชาชนนั้นอาจอยู่ในระดับต่ำของรัฐบาลนี้ และประการที่สองเป็นเพราะประเทศไทยไม่มีเงินเทียบเท่าประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่จะสามารถเยียวยาได้เพียงพอ ทว่าท้ายที่สุดนั้น "เยียวยาเท่าที่มีปัญญาทำ มากน้อยต้องทำ" และหันไปปูทางสู่การเปิดประเทศ

โดยสรุปสำหรับแนวทางการฟื้นประเทศในระยะกลางนั้น หัวใจสำคัญที่อยู่การเตรียมพร้อมอุปกรณ์และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในการพาทั้งประเทศกลับไปยืนอย่างมั่นคง หากทำได้ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ณ วันที่ 1 ม.ค.2565 ประเทศไทยจะกลับมาเป็นประเทศที่ก้าวผ่านหายนะครั้งนี้ได้


คำแนะนำพิเศษจากพี่โทนี่ถึงน้องประยุทธ์

นอกจากจะมีแผนดำเนินการฝั่งกลยุทธ์การบริหารประเทศ ดร.ทักษิณ ยังแนะนำตรงในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีและรุ่นพี่ผู้มีประสบการณ์ว่า ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลองใส่ชุดพีพีอีไปยังโรงพยาบาบสนามและสถานที่ฉีดวัคซีน เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ เห็นภาพที่แท้จริงว่าสังคมเผชิญหน้ากับอะไรอยู่จะได้บริหารจัดการถูกต้อง

"ท่านใส่พีพีอีไปโรงพยาบาลสนาม ให้ท่านได้เห็นจริงๆ 'หมอหนู' ก็จะวิ่งตามเลย ท่านจะได้จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ท่านอย่าทำงานจากบ้าน แต่งพีพีอีลงสนามเลย...ท่านลองไปสักสองที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ที่หนึ่ง แล้วแวะไปดูคิวฉีดวัคซีนที่บางซื่ออีกสักที่นึง...ลองไปดูสองที่นี้ ท่านอย่างกลัว ใส่พีพีอีไปเหอะ อย่าไปกลัว...รับรองว่าท่านเห็นของจริงแล้วท่านจะรู้"