ไม่พบผลการค้นหา
รวบรวมทุกประเด็นความเคลื่อนไหวในการจัดการระบบดูแลประชาชนที่ติดโควิด รวมถึงสถานการณ์ของยาฟาวิพิราเวียร์-เรมเดซิเวียร์

 เข้าทุกระบบไม่ต้องรอแล็บ RT-PCR แค่ใช้ผล Rapid Test

  • ประชาชนรู้ดีว่า เมื่อติดโควิดแล้ววิ่งหาตรวจ RT-PCR ยากแค่ไหน ไปที่ไหนก็ถูกปฏิเสธ การหาหลักฐานไปยืนยันเพื่อขอเข้ารับการรักษาใน รพ.สนาม Hospital รพ. หรือ Community Isolation (CI) จึงทำไม่ได้ กฎระเบียบเรื่องนี้ได้รับการแก้ไขแล้ว กรมการแพทย์-สปสช.ประกาศว่า 100% ไม่ต้องใช้ผลแลป ใช้เพียงผลตรวจเบื้องต้นจาก Antigen Test Kit หรือ Rapid Test ก็เข้าระบบได้เลยทุกรูปแบบ
  • แต่นักข่าวจะพาดหัวข่าวว่า “ไม่ต้องใช้ RT-PCR แล้ว” ก็ไม่ได้ ถ้าเป็น Home Isolation (HI) เข้าระบบได้เลยก็จริง แต่ถ้าเป็น CI ยังต้องใช้ผลแล็ปยืนยันอีกที เพียงแต่ฝ่ายนโยบายไฟเขียวบอกให้ “รับก่อนเลย” เพื่อดูแลอาการ แต่แยกพื้นที่ออกจากคนที่ป่วยแล้ว เพราะผลจาก Rapid Test อาจเป็น ‘ผลบวกลวง’ ก็ได้ หากให้เข้ามาอยู่ปนกันจากไม่ติดเชื้อก็จะติดเชื้อกันไปหมด จากนั้นให้ตรวจ RT-PCR ควบคู่ไปด้วยเพื่อยืนยันให้มั่นใจ
  • ถามว่าผลบวกลวงมีโอกาสเกิดมากไหม จากการใช้ Rapid Test ของ สปสช.ที่ตรวจให้ประชาชนไปจำนวนมาก พบว่า เมื่อเอาไปเทียบกับผล RT-PCR แล้ว มี ‘ผลบวกลวง’ ราว 3-5% แปลว่า คนคนนั้นไม่ได้ติดเชื้อ แต่แผ่นตรวจแสดงผลว่าติด !
  • ล่าสุด มีข่าวว่าจะยกระดับให้ CI สามารถตรวจ RT-PCR ที่จุดของตนเองได้เลยด้วย เพื่อทำให้ระบบเร็วขึ้น

Home Isolation มีคลินิกร่วมแล้ว 191 แห่งใน กทม.

  • ตรวจเป็นบวกแล้วทำยังไง ความคิดว่า “ติดโควิดต้องอยู่ รพ.เท่านั้น” เป็นคอนเซ็ปท์ที่ทางการย้ำประชาชนอยู่ตลอดในช่วงแรกๆ ของการระบาด แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงในปัจจุบัน และแนวทางของทั่วโลกก็ใช้วิธี Home Isolation (HI) กันทั้งนั้น อาการหนักจึงเข้าระบบ รพ.
  • หลังรู้ว่าติดเชื้อ สิ่งที่ต้องทำคือ เอาตัวเองเข้าสู่ฐานข้อมูลรัฐให้ได้ หน่วยงานใหญ่ที่สุดที่ดูแลประชาชนกว้างที่สุด คือ สปสช. (บัตรทอง) สามารถโทรแจ้งที่ 1330 กด 14 หรือเข้าไปกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ nhso.go.th , หรือโทร 1668 ของกรมการแพทย์, หรือโทร 1669 ของศูนย์เอราวัณ กทม., หรือแอดไลน์ FammedCoCare ของเครือข่ายแพทย์อาสา
  • ทั้ง 3 หน่วยหลักนี้จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องแล้วโทรกลับเพื่อประเมินอาการ หากไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย (สีเขียว) ทุกคนจะเข้าสู่ระบบ HI อัตโนมัติ เพราะตอนนี้เตียงทั้งหมดทั้งใน รพ.สนาม-Hospitel-รพ.ทั่วไป ต้องยกให้สีเหลือง-สีแดง สำหรับคนบ้านไม่พร้อมก็ไปที่ระบบกักตัวชุมชน (Community Isolation – CI) ซึ่ง กทม.เป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการในทุกเขตของ กทม.ตามวัดบ้าง ตามสถานที่ราชการบ้าง
  • จากนั้นจะมีบุคลากรทางการแพทย์จากคลินิกที่ สปสช.จับคู่ให้รับผิดชอบคนไข้ คอยวิดีโอคอลไปสอบถามอาการทุกวัน วันละ 2 ครั้ง มีการส่งอุปกรณ์ที่จำเป็นและยาไปให้ที่บ้าน รวมถึงส่งอาหารให้ 3 มื้อทุกวันตลอดการกักตัว เพื่อให้ไม่ออกจากบ้าน   
  • ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเบาะรองรับชีวิตผู้คนในยามวิกฤตอย่างเห็นได้ชัด สปสช.แบกรักค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดจากระบบ HI โดยบรรดาคลินิกต่างๆ จะเบิกจ่ายทุกสรรพสิ่ง และสปสช.ก็ปรับระบบเบิกจ่ายให้ง่ายขึ้นมาก จากเดิมที่ทำก่อนค่อยเบิกเป็น รับเคสปุ๊บจ่ายให้ก่อน 3,000 บาทต่อเคสต่อสัปดาห์ และจะจ่ายให้หน่วยบริการทุก 15 วันเพื่อให้มีเงินหมุนไปจัดการดูแลคนป่วย
  • ณ วันที่ 27 ก.ค.2564 ยอดตกค้างของคนที่รอเข้าระบบ HI เพื่อให้ สปสช.จับคู่ให้กับคลินิกนั้น มีอยู่ 3,092 คน ส่วนที่จับคู่กับคลินิกสำเร็จแล้ว มี 35,511 คน
  • คลินิกในเครือข่าย สปสช.ที่จะจับคู่ดูแลคนไข้ใน กทม.มีอยู่ 202 แห่ง เริ่มดำเนินการดูแลคนไข้ระยะไกลได้จริงแล้ว 122 แห่ง นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัด กทม.อีก 69 แห่ง
  • ส่วนระดับ รพ.นั้นไม่ว่าสังกัดใด อาจคาดหวังให้มาทำ HI ได้ไม่มากนัก เพราะหน้างานการดูแลคนไข้สีเหลืองเข้ม สีแดง ก็ล้นมือ
  • อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า รพ.เอกชน ดูเหมือนจะส่วนร่วมในการรองรับผู้ป่วยโควิดจากภาครัฐน้อยเกินไป ทั้งที่มีเตียงจำนวนมาก มีศักยภาพจำนวนมาก

IHRI-Fammed จุดรวมอาสาสมัครหมอ-ประชาชน ยังต้องการอีกมาก

  • สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย (Fammed) ร่วมมือกับเอ็นจีโออีกหลายองค์กร เป็นหน่วยหลักที่ช่วยแบ่งเบา สปสช. ในการทำระบบ Home Isolation (HI)
  • IHRI มีสถานะเป็นคลินิกที่จ่ายยาได้ มีพยาบาลคอยดูแลระยะไกล ส่วน Fammed ระดมอาสาสมัครแพทย์-พยาบาลมาช่วย IHRI ขณะที่เอ็นจีโอช่วยทำงานกับชุมชน สร้างความเข้าใจ เตรียมความพร้อมชุมชน และช่วยลงหน้างานตรวจเชิงรุก-จัดส่งยา–อาหาร-อธิบายสิ่งต่างๆ
  • พญ.นิตยา ภาณุภาค ผอ.IHRI กล่าวว่า ดำเนินงานมาตั้งแต่ 4 ก.ค. คัดกรองผู้ป่วยโควิดเข้าระบบของ IHRI แล้วทั้งสิ้น 9,500 คน ในจำนวนนี้คนที่เข้าระบบ HI มีราว 5,700 คน เข้าระบบกักตัวชุมชน หรือ CI ประมาณ 130 คน ที่เหลือแบ่งเป็น 1.ปฏิเสธไม่เข้าระบบ HI จะขอรอเตียงใน รพ. 2.ได้เข้าสู่ระบบของรัฐในช่องทางอื่นแล้ว
  • IHRI รับผู้ป่วยทุกคน ทุกสิทธิ์ แม้แต่แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิ์ที่อยู่ในกทม.และปริมณฑล หากจำแนกสัดส่วนจะพบว่า เป็นผู้อยู่ในสิทธิบัตรทองมีราว 60-70% ที่เหลือคือประกันสังคม และยังมีคนต่างด้าวยอยู่พอสมควร และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมาตรการปิดแคมป์ ปิดโรงงานดำเนินการมาสักพักแล้วพบว่าเริ่มมีคนป่วยในนั้น
  • ชมรมแพทย์ชนบท เข้ามาช่วยเครือข่าย IHRI ตรวจเชิงรุกในชุมชนแล้ว 2 ครั้งครั้งละ 3 วัน และกำลังจะมาอีกในสัปดาห์หน้า ศักยภาพของแพทย์อาสากลุ่มนี้มี 12 ทีม ลงปูพรม 40 กว่าชุมชน รวมการตรวจทั้ง 2 ครั้ง ( 6 วัน) ตรวจประชาชนได้ 51,389 คน พบผลบวก คิดเป็น 13.35% ซึ่งสูงมาก
  • เมื่อเทียบกับ กทม.พบว่า กทม.ยังดำเนินการได้ไม่ดีนัก โดย กทม.มีทีมลุยตรวจชุมชนเช่นกันเรียกว่า CCRT มีทั้งหมด 63 ทีม ผลการปฏิบัติการ 10 วัน ตรวจประชาชนได้ราว 10,000 พบผลบวก 12% ซึ่งสูงมากเช่นกัน
  • นอกจากนี้เมื่อลงตรวจเชิงรุก IHRI ยังวางระบบแบบครบวงจร ไม่ใช่ค้นหาแล้วจบ แต่ให้ผู้ติดเชื้อเข้าระบบ HI/CI และแจกยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับเคสสีเหลือง ณ จุดตรวจเลย  ตอนนี้จุดตรวจของ สปสช.ที่ศูนย์ราชการก็ทำโมเดลจ่ายยา ณ จุดตรวจเลยเช่นกัน แถมมีรถส่งกลับบ้าน
  • นอกเหนือจากนี้ยังมีหมอจากคลินิกเอกชนบางส่วนเริ่มขยับช่วยทำ HI สำหรับผู้ป่วยตกค้างที่ยังเข้าระบบไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง ทำแบบ “ชั่วคราว” ระหว่างรอเข้าระบบ โดยออกค่าใช้จ่ายเอง เน้นการหาอาสามัครเพื่อนหมอด้วยกันมาคอยให้คำปรึกษาระยะไกล จ่ายยาที่จำเป็น บางกลุ่มสนับสนุนอาหาร บางกลุ่มสนับสนุนอุปกรณ์ดูแลตัวเอง แต่ยังไม่มีข้อมูลเป็นที่แน่ชัดว่ามีจำนวนกี่กลุ่ม และระบบมีความเสถียรเพียงใด

"ชุมชน" เข้มแข็ง ช่วยระบบได้มาก สร้างความเข้าใจไม่กลัวเกิน

  • “หัวใจของการควบคุมโรคคือ ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการ” เป็นหลักการที่นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท จากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ได้กล่าวไว้ตั้งแต่การระบาดเพิ่งเริ่มต้น หมอวิรุฬเข้าไปร่วมมือกับอีกหลายองค์กรรับมือการระบาดในชุมชนคลองเตย ชุมชนแออันอันดับ 1 ของ กทม.ซึ่งมีประชากรรวมประชาชนแฝงแสนกว่าคน กลุ่มนี้ทำระบบสนับสนุนอาหาร จุดพักคอย และให้อาสาสมัครในชุมชน ผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล เพราะพวกเขารู้จักชุนชนของตนเองดีที่สุด ระยะต่อมาได้ก่อตั้งเป็นกลุ่ม ThaiCare ใช้แพลตฟอร์มดิจิตัลในการเก็บข้อมูล มีอาสาสมัครแพทย์-พยาบาลมาช่วยให้คำปรึกษาดูแลคนไข้ทางไกล โดยเฉพาะผู้ยากไร้ แรงงานต่างด้าว
  • พญ.นิตยา ภาณุภาค ผอ.IHRI กล่าวว่า อันที่จริงชุมชนมีศักยภาพสูงมากในการช่วยเหลือระบบ เพราะแกนนำชุมชนสามารถช่วยค้นหาผู้ป่วยตกสำรวจ ช่วยสอนวิธีการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วย-คนใกล้ชิดในบ้าน การใช้เครื่องมือ หรือกระทั่งช่วยแพทย์ที่ดูแลระยะไกลในการบันทึกค่าออกซิเจน อุณหภูมิรายวันของผู้ติดเชื้อ
  • ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ การทำความเข้าใจกับชุมชนให้ไม่เกิดความกลัว การรังเกียจผู้ที่ติดเชื้อ จะช่วยลดอุปสรรคต่อการทำ Home Isolation ลงอย่างมาก
  • “ถ้าแกนนำชุมชนเตรียมระบบ เตรียมสร้างความเข้าใจในชุมชน จะทำให้เรื่องง่ายขึ้นมาก คนข้างบ้าน คนอยู่หอเดียวกันจะเข้าใจว่าจะมีกระบวนการตรงนี้เกิดขึ้น ไม่หวาดกลัวจนเกินไป ไม่ไล่คนป่วยออกมาจากหอพัก ไม่ไล่คนป่วยออกจากบ้านของตนเอง”
  • “ตอนแรกที่เพิ่งเกิดระลอกใหม่ คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการเตรียมชุมชนให้พร้อมรับมือ ตื่นเต้นและวางแผนก่อนหมอและพยาบาลคือ ชุมชนเอง เขาเห็นอะไรบางอย่างว่าถ้าไม่เตรียมเละแน่เลย แกนนำก็เริ่มแอคทีฟ อาจเป็นหรือไม่เป็น อสม.เดิมก็ตาม จากนั้นภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกันกับเราก็เริ่มเข้าไปอบรมภาคปฏิบัติว่า ถ้ามีเคสในชุมชนต้องทำอะไร ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะจัดการอย่างไร การหยุดการแพร่ระบาดจำเป็นต้องค้นหาและตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วย ... จากเดิมเราทำงานกับแกนนำ 23 ชุมชน ตอนนี้ขยายเป็นนับ 100 ชุมชน” พญ.นิตยากล่าว
  • การขาดองค์ความรู้เรื่องการระบาดและการป้องกันตัวเอง รวมถึงกาประชาสัมพันธุ์ย้ำๆ จากรัฐทำให้โรคนี้น่ากลัวอย่างยิ่ง จนในด้านกลับก็ทำให้เกิดปัญหาในชุมชน
  • นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนกลุ่มชุมชนโควิด สรุปปัญหาให้ฟังว่า 1.คนเข้าใจว่าเป็นแล้วต้องนอน รพ.เท่านั้น ทำให้จะรอแต่เตียง ไม่เข้าระบบ HI จึงได้รับการดูแลช้า 2. คนบ้านเดียวกันก็กลัวกันเองมากเสียจนไม่สามารถช่วยดูแลกันได้
  • “มีกรณีหนึ่งที่แม่ติดเตียงป่วยโควิด ลูกเอาอาหารไปให้ แล้วก็ไม่กล้าเข้าไปเก็บจานมาล้าง ปล่อยสะสมทุกวันๆ จนมดขึ้นหนอนขึ้นเต็มไปหมด จริงๆ เราสามารถจัดการได้ เพียงใส่หน้ากากสองชั้น แล้วล้างมือตลอด แยกข้าวของเครื่องใช้และการซักผ้า เรื่องพวกนี้ต้องทำความเข้าใจกันอีกมาก” นิมิตร์กล่าว

 อุปกรณ์ขาดแคลนทุกสิ่ง ถังออกซิเจน เครื่องผลิตออกซิเจน

  • “อุปกรณ์เป็นสิ่งที่ขาดมากๆ ขาดแบบที่ต่อให้มีเงินก็หาไม่ได้ เพราะไม่มีของ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน ถังออกซิเจน เครื่องผลิตออกซิเจน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องอาศัยรอตลาดที่อาจต้องปรับตัว ตอนนี้ผู้ผลิตน่าจะรู้แล้วว่าความต้องการสูงมาก ของทุกอย่างที่สั่งไป ผู้ผลิตทุกคนจะบอกว่า สัปดาห์แรกของสิงหาคม ตอนนี้ก็ต้องกลั้นใจ”
  • “แต่สิ่งที่ดีขึ้นคือ ตอนแรกเกณฑ์ในการพิจารณาให้ยา คือต้องให้ออกซิเจนถึงจะให้ยาได้ แต่ตอนนี้เคสเขียว มีอาการเล็กน้อย ก็ให้ยาได้แล้ว ทำให้ไม่เกิดคอขวดแบบก่อนหน้านี้ การได้ยาเร็วจะช่วยป้องกันให้คนป่วยอาการพัฒนาหนักขึ้นได้” พญ.นิตยา ภาณุภาค ผอ.IHRI กล่าว

 ยาฟาวิพิราเวียร์เพียงพอ ปรับแนวทางเริ่มให้ยาเร็ว  

  • ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาต้านเชื้อไวรัสที่ลดอาการปอดอักเสบ ในช่วงแรก สธ.อนุมัติให้กินเฉพาะผู้ที่เป็น สีเหลือง หรือมีไวรัสลงปอดแล้ว แต่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญทุกส่วนยอมรับว่า เพียงมีอาการเล็กน้อยก็กินได้เลย จะให้ผลป้องกันหรือลดอาการปอดอักเสบได้มาก สธ.จึงปรับเปลี่ยนแนวให้จ่ายยาได้ในผู้ป่วยสีเขียวที่มีอาการเล็กน้อย หรือคนแก่เกิน 60 ปี ผู้ป่วยโรคเสี่ยง ซึ่งคลินิกต่างๆ ที่ทำ HI ก็ดำเนินการตามนั้น
  • การกินยาฟาวิฯ ไม่เหมือนการกินพาราเพราะชุดหนึ่งสำหรับคนน้ำหนักปกติต้องแบ่งกินตามสูตรราวๆ 50 เม็ดใน 5 วัน และหากอาการยังไม่ดีขึ้นก็ต้องกินชุดที่สอง
  • ยาฟาวิฯ เป็นยาที่บริษัทญี่ปุ่น ฟูจิฟิล์ม โทยามะ เคมีคอล เป็นเจ้าของสิทธิบัตรในญี่ปุ่น  และเข้ามายื่นขอจดสิทธิบัตรในไทยด้วยในราวเดือน พ.ค. ต่อมากรมทรัพย์สินทางปัญญายกคำขอสิทธิบัตรของฟูจิ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ คือ โมเลกุลยานั้นเป็นยาเก่า และไม่ได้มีเทคโนโลยีใหม่ในการผลิต ขณะนี้บริษัทฟูจิกำลังอุทธรณ์อยู่
  • ขณะเดียวกันก็ต้องชื่นชมองค์การเภสัชกรรมที่ลุยผลิตเองเลย และน่าจะเริ่มส่งให้ รพ.ทั่วประเทศได้ภายในเดือนสิงหาคม 
  • ณ ปัจจุบันองค์การเภสัชยืนยันว่า ยาฟาวิฯ สต๊อกในไทยมีเกือบ 10 ล้านเม็ด เดือนหน้าจะนำเข้ามาอีกรวม 40 ล้านเม็ด เพียงพอต่อการใช้
  • เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุว่า ประเทศไทยเคยสั่งซื้อยาต้นแบบจากญี่ปุ่น (แต่ส่งมาจากอินเดีย) ราคาเม็ดละ 120 บาท แต่ในช่วงหลังได้สั่งซื้อยาชื่อสามัญตัวเดียวกันนี้ที่อินเดียผลิตเอง ราคาถูกลงมาก น่าจะราว 50-70% ของยาต้นแบบ ทั้งนี้ บริษัทฟูจิฯ ก็ได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรในอินเดียเช่นกัน แต่อินเดียไม่อนุมัติ บริษัทจึงยุติไป แต่กับกรณีของไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่อนุมัติ แต่บริษัทกลับยื่นอุทธรณ์ ยังไม่เป็นที่แนชัดว่าทางกรมจะมีคำสั่งเช่นไรและเมื่อไร เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาพิจารณาไว้

 ยาเรมเดซิเวียร์ หมอหน้างานชี้จำเป็น-ราคาแพง-ยังไม่มีแนวให้ใช้

  • แม้เราจะพออุ่นใจได้กับยาฟาวิฯ ว่ามีใช้แน่ๆ แต่ขณะเดียวกันหมอหน้างานก็ระบุว่า ยาอีกตัวที่สำคัญใช้สำหรับคนที่มีอาการหนักชนิดที่ยาฟาวิฯ เอาไม่อยู่คือ เรมเดซิเวียร์ (Redemsivir) ซึ่งเป็นยาฉีด เจ้าของสิทธิบัตรเป็นบริษัท Gilead ในสหรัฐอเมริกา ราคาแพงมาก ขวดละประมาณ 12,000 บาท
  • “ยา remdesivir สามารถลดโอกาสการใส่ท่อช่วยหายใจ และสามารถช่วยลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลรวมถึงระยะเวลาในการนอนไอซียูได้ชัดเจน”
  • “อย่างไรก็ดี แนวทางการดูแลรักษาคนไข้ติดเชื้อ Covid-19 ของกรมการแพทย์ฉบับล่าสุดนั้นแทบไม่ได้กล่าวถึง remdesivir มีแค่ย่อหน้าเดียวที่บอกจะพิจารณาให้ยานี้เฉพาะในคนท้องที่มีปอดอักเสบ หรือคนไข้ที่ไม่สามารถกินยาทางปากได้ โดยเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับแนวทางการรักษาของสหรัฐอเมริกา หรือสิงคโปร์ ต่างก็พบว่ามีการพิจารณาให้ใช้ยา remdesivir ในหลาย ๆ ข้อบ่งชี้ ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลแต่ไม่ได้ใช้ออกซิเจน (หากแต่ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงเช่น อายุมาก, อ้วน, หรือเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี) และคนไข้ที่มีอาการปอดอักเสบและต้องใช้ออกซิเจนร่วมด้วย”

ข้อความที่ นพ. เกริก อัศวเมธา อายุรแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ โพสต์ในเฟสบุ๊คเมื่อ 27 ก.ค. และยังระบุด้วยว่า รพ.จุฬาฯ ใช้ยาตัวนี้แล้วพบว่าในระลอก 4 ตัวเลขการตายอยู่ที่ 0.23% เทียบกับอัตราตายของประเทศไทยที่อยู่ที่ 0.83%

  • เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ข้อมูลว่า ยาตัวนี้ยังวิจัยไม่เสร็จสิ้นและเอาไว้ใช้กับเชื้ออีโบลา แต่มีการนำมาปรับใช้กับโควิดแล้วพบว่าได้ผลดี บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรได้อนุญาตให้ 9 บริษัทในอินเดียผลิตและจำหน่ายได้ในราคาถูก โดยต้องจำหน่วยให้ประเทศต่างๆ ราว 100 ประเทศที่กำหนดในลิสต์เท่านั้น ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย แต่ปัญหาก็คือ อินเดียประสบวิกฤตโควิดหนักจึงจำกัดการส่งออก ยาจึงค่อนข้างขาดแคลนแย่งกันทั่วโลก
  • เฉลิมศักดิ์ระบุว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลไทยต้องเตรียมรับมือ หนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาคือ การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing-CL) เพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศไทยผลิตยาชื่อสามัญใช้เอง ซึ่งคาดว่ามีผู้ประกอบการที่มีความพร้อมอยู่ 1-2 แห่ง
  • “บางประเทศที่จำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้ เช่นรัสเซีย ฮังการี เขามีแต่ยาต้นแบบและยาต้นแบบได้สิทธิบัตรไปแล้วใน 2 ประเทศนี้ อีกทั้งเขาก็ไม่อยู่ในรายชื่อจะซื้อชื่อสามัญได้ เขาจึงประกาศใช้ CL ผลิตเองเลย นี่ก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ ต้องดูความกล้าหาญของรัฐบาลเหมือนกัน ถ้ายานี้จำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์ที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ” เฉลิมศักดิ์กล่าว

 รัฐเตรียมงบประมาณแค่ไหน Home Isolation ต่อหัวหลักหมื่น

  • เรามีเงินกู้จำนวนมาก รวมถึงงบกลาง ในพ.ร.บ.งบประมาณปกติ ที่ถูกกันไว้ในด้านสาธารณสุขเพื่อจัดการกับโควิด แต่ไม่แน่ว่าจะเพียงพอไปนานแค่ไหน เพราะ สปสช.แบกรับการดูแลประชาชนส่วนใหญ่ในทุกระดับการรักษา โดยเฉพาะระบบ Home Isolation ที่มีจำนวนมากและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว
  • หากเราดูต้นทุนของระบบกักตัวที่บ้านหรือ HI จะพบว่าผู้ติดเชื้อ 1 คนที่ต้องกักตัวที่บ้าน 14 วัน มีรายจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 20,000 บาทที่สปสช.ต้องแบกรับ
  • สปสช.กำหนดการจ่ายเงินให้สถานบริการที่ดูแลคนไข้ HI ดังนี้

1. RT-PCR ค่าตรวจแล็ปรวม 2,300 บาท

2. ค่าดูแลให้คำปรึกษา + อาหาร 3 มื้อ 1,000 บาทต่อวัน

3.ค่าปรอทและเครื่องวัดออกซิเจน ไม่เกิน 1,100 บาท

4.ค่ายาตามจริง ไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย

5 ค่ารถส่งต่อตามระยะทางและค่าทำความสะอาด 3,700 บาท

6.ค่าเอ็กซเรย์ปอด 100 ต่อครั้ง

7.กรณีกักตัวในชุมชน มีค่าชุด PPE หรืออื่นๆ ที่ป้องกันการติดเชื้อสำหรับเจ้าหน้าที่ไม่เกิน 740 บาทต่อวัน