ไม่พบผลการค้นหา
ทำไมไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับพม่ากว่า 2,000 กิโลเมตร จะหลีกเลี่ยงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ? คำถามในวันผู้ลี้ภัยสากล 20 มิถุนายน

“คิดอะไรไม่ออก เขาบอกให้กลับไป ก็คงต้องไปอยู่ในป่า ตามซอกลำห้วยที่ปลอดภัยจากเครื่องบินพม่าทิ้งระเบิด อยู่ฝั่งไทยเรารู้สึกปลอดภัยกว่า แต่เจ้าหน้าที่ไทยมาแจ้ง เขาบอกว่าเจ้านายจะมาตรวจ แต่เราก็กลัวว่าหากเรากลับไปแล้ว ครอบครัว ลูกอ่อน จะยังไงกัน” 

หน่อเลบือ แม่บ้านชาวกะเหรี่ยง อุ้มลูกน้อยวัย 3 เดือนของเธอไว้ในอ้อมแขน กระชับให้ลูกกินนมจากอก เมื่อเดือนเมษายน ขณะที่เธอและชาวบ้านอีกกว่า 3,500 คน ที่เป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงของไทย ให้ผู้ลี้ภัยทุกคนออกจากพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นพรมแดนไทยพม่า ทุกคนจำต้องข้ามเรือกลับไปยังแผ่นดินกะเหรี่ยง ในขณะที่เสียงเครื่องบินรบและโดรนลาดตระเวนยังมีให้เห็นและได้ยินอยู่ตลอด 

ลมจากแม่น้ำพัดมาเบาๆ ไม่นานลูกชายตัวน้อยก็หลับไป ผิวอ่อนๆ ของลูกชายคนเล็ก เต็มไปด้วยผื่นแดงเพราะต้องอยู่กลางที่แจ้ง มีเพียงผ้าใบบางๆ คลุมกันแดดฝน เด็กๆ ผู้หนีภัยสงครามอีกจำนวนมากต่างเจ็บป่วย ท้องร่วง ไข้มาลาเรีย ในขณะที่ยาและเวชภัณฑ์แทบไม่มี

ข้าวสาร เสบียง ยา และของจำเป็นต่างๆ ที่มีประชาชนชาวไทยส่งไปบริจาคให้จำนวนมาก กลับตกค้างอยู่ตามองค์กรสาธารณกุศล วัด และโบสถ์ต่างๆ 

การขนส่งไปสู่มือผู้ที่ต้องการ ต้องใช้เส้นทางและวิธีการพิเศษ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องมนุษยธรรมที่เร่งด่วนที่สุด และมีความหมายต่อความเป็นความตาย แต่รัฐไทยกลับเลือกที่จะปิดช่องทางที่เป็นทางการทุกประตู 

การเข้าถึงพื้นที่พรมแดนโดยเฉพาะที่แม่น้ำสาละวินโดยคนนนอกและผู้สื่อข่าวแทบเป็นไปไม่ได้ 

เข้าสู่กลางฤดูฝนแล้วในเวลานี้ หน่อเลบือ และชาวบ้านที่ได้รับจากความไม่สงบในพม่า โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะเรนนี ต้องเผชิญอันตรายจากการประหัตประหารด้วยมือเปล่า รายงานจากในพื้นที่ซึ่งส่งออกมาอย่างยากลำบากมีทั้งภาพผู้หญิง คนแก่ ผู้ป่วย และเด็ก หลบซ่อนการโจมตีของเผด็จการทหารพม่าอยู่ตามซอกเขา ป่า และลำห้วย 

แม้จะเป็นเวลาที่เปิดเทอมที่เด็กๆ ควรได้กลับสู่ห้องเรียน แต่โรงเรียนหลายแห่งถูกโจมตีทั้งโดยเครื่องบินและลูกกระสุน นักเรียนและครูแห่งลุ่มสาละวินกลับต้องนอนหวาดหวั่นได้ยินเสียงปืนใหญ่ของทหารพม่าอยู่แทบทุกคืน และไม่รู้ว่าวันไหนจะได้กลับคืนสู่ห้องเรียน

หน่อปือฮือ แม่ลูกอ่อน ชาวบ้านเลเตอโข่ เธอบอกว่าต้องหนีจากการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพพม่าในรัฐกะเหรี่ยง ที่เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม เขตอุทยานสันติภาพสาละวิน ต้องพาลูกน้อยหลบอยู่ในป่าใกล้ๆ แม่น้ำสาละวิน หากเกิดเหตุรุนแรงใดๆ ข้ามแม่น้ำพรมแดนรัฐชาติไปยังฝั่งไทย อย่างน้อยก็คงมีความปลอดภัยในชีวิต 

received_610007966646786.jpeg

ครูชาวกะเหรี่ยง ที่ทำหน้าที่ส่งครูเคลื่อนที่ไปสอนเด็กๆ ผู้พลัดถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ในรัฐกะเหรี่ยง กล่าวว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ชายแดน พยายามอย่างยิ่งที่จะอยู่ในแผ่นดินมาตุภูมิของตนเองให้ได้ แม้ทหารพม่ามาโจมตีต้องหนี ต้องเป็นผู้พลัดถิ่น แต่ก็ไม่อยากเป็นผู้ลี้ภัยถาวร อยากร้องขอทางการไทยว่าหากเกิดความรุนแรงก็ขอเพียงข้ามไปอาศัยเพื่อความปลอดภัย และในเมื่อถูกผลักดันกลับ ก็ร้องขอเพียงให้เปิดช่องทางส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่ง Karen Peace Support Network ระบุในรายงานล่าสุดว่า การโจมตีของกองทัพเผด็จการทหารพม่าในรัฐกะเหรี่ยง ทำให้บริเวณพื้นที่ใกล้ๆ ชายแดนไทย มีประชาชนชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่นมากถึง 70,000 คน

นับตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 20 มีนาคม เกิดสถานการณ์ตึงเครียด เมื่อมีกองข้าวปริศนา 700 กระสอบ ถูกขนมาวางกองที่ริมแม่น้ำสาละวิน โดยจะส่งไปยังฐานทหารพม่าต่างๆ ที่เข้ามาในรัฐกะเหรี่ยง เนื่องจากหลายเดือนก่อนหน้าที่ทหารพม่าถูกปิดล้อมโดยกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ซึ่งเรียกร้องมาตลอดให้กองทัพพม่าถอนกำลังออกจากรัฐกะเหรี่ยง เนื่องจากที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนนานับประการต่อประชาชนโดยทหารพม่า  

เหล่านี้ทำให้ไม่สามารถลำเลียงข้าว 700 กระสอบและยุทธปัจจัยของกองทัพพม่าได้ 

แต่เมื่อมีข่าวเผยแพร่ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะว่าทหารไทยอำนวยความสะดวกให้ทหารพม่า กองข้าวปริศนาก็ถูกขนกลับหายไป ตามมาด้วยการสู้รบอย่างดุเดือดเมื่อกองกำลัง KNU ยึดฐานทหารพม่า ตามมาด้วยการถล่มหมู่บ้านเดปูโหน่ 

ต้นทางของเรื่องถูกกลบ ต้นทางของปัญหาถูกปิด คำถามต่อมนุษยธรรมถูกพยายามปิดกั้นโดยทหารไทย จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเวทีสากล

แม้ว่าต่อมาผู้นำไทยจะออกมารับรองว่าจะให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบ แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม ชาวบ้านผู้ลี้ภัยที่หนีการโจมตีโดยเครื่องบินมายังแผ่นดินไทยถูกผลักดัน กลับหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการสู้รบรุนแรงเมื่อยึด KNU ฐานทหารพม่าซอแลท่า ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย ได้ ต่อมา KNU เตรียมยึดฐานพม่าดากวิน ตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง ปฏิบัติการทางอากาศของพม่าเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นจนมีลูกระเบิดมาตกยังแผ่นดินไทย และประชาชนไทยต้องหนีเช่นเดียวกัน  

เราพบว่าตลอดเหตุการณ์สามเดือนที่ผ่านมา ผู้อพยพหนีภัยความตาย มิได้รับการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม 

ณ วันนี้ เธอและชาวกะเหรี่ยงในอุทยานสันติภาพสาละวินก็ยังคงต้องหลบอยู่ในป่า ไม่สามารถหนีมายังแผ่นดินไทยเพื่อความปลอดภัย หรือรับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมได้ 

ทำไมจึงไม่มีพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่พักพิงให้แก่ประชาชนเหล่านี้ 

ในวันผู้ลี้ภัยสากล 20 มิถุนายน แต่สิ่งนี้ก็กลับไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง 

รัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ความรุนแรงทั้งในเมืองต่างๆ ของพม่าและตามชายแดนทวีขึ้นเรื่อยๆ ชายแดนประเทศไทยคือพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้หนีภัยจากความรุนแรงมุ่งหา ในรัฐคะเรนนีมีผู้พลัดถิ่นในเดือนที่ผ่านมาถึง100,000 คน และอีกจำนวนมากในพม่าที่หนีภัยความรุนแรงและการเมือง

ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับพม่าถึงกว่า 2,000 กิโลเมตร จะหลีกเลี่ยงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมได้อย่างไร ? 

received_198003072209033.jpeg


เรื่อง : เพียรพร ดีเทศน์ / ภาพ : สำนักข่าวชายขอบ

ที่มา : https://transbordernews.in.th/home/?p=27969