ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มแพทย์จบใหม่ในมาเลเซีย นัดกันหยุดงานประท้วง เรียกร้องรัฐให้ปฏิบัติต่อแพทย์สัญญาจ้างอย่างเท่าเทียม ทั้งการบรรจุเป็นพนักงานของรัฐ รวมถึงค่าตอบแทนและสวัสดิการอื่นๆ ท่ามกลางระบบสาธารณสุขที่รับภาระหนักจากโควิด

มาเลเซียตกอยู่ใต้สภาวะตึงเครียดระดับสูงสุด จากการระบาดของโควิด-19 ที่ยากจะควบคุม จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 10,000 คน และเสียชีวิตกว่า 100 คนทุกวันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 140,000 คน มีผู้ป่วยในแผนกผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) เกือบ 1,000 คน ล่าสุดเมื่อ 25 กรกฎาคม มีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงถึง 17,045คน และผู้เสียชีวิต 92 คน ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ประเภทสัญญาจ้างที่ต้องแบกรับภาระงานอันหนักหน่วง ออกมาหยุดงานประท้วงการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลภายใต้การนำของมุห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรี

สำหรับกลุ่มการนัดหยุดงานประท้วงของแพทย์สัญญาจ้าง (เอชดีเค) มีจุดประสงค์ของการออกมาเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อแพทย์สัญญาจ้างอย่างเท่าเทียม เพราะว่ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เป็นหน้าด่านแรกที่สำคัญกับการรับมือกับการแพร่ระบาด แต่กลับไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม กลุ่มเอชดีเค หรือแพทย์รุ่นใหม่กว่า 20,000 คน ได้ออกมาเคลื่อนไหวในหลายช่องทาง ทั้งการยืนถือป้ายอย่างสงบในบริเวณโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ทั้งการนัดกันหยุดงาน และการประชาสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดีย โดยตอนหนึ่งระบุว่า “ระบบสาธารณสุขของมาเลเซียกำลังส่งสัญญาณถึงการล่มสลาย เพราะแทบไม่เหลือเตียงในโรงพยาบาลแล้ว และในขณะนี้แพทย์ก็ยังทยอยลาออกกันอีกด้วย” 

ก่อนหน้านี้แพทย์กลุ่มนี้เคยทำการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อรัฐบาลมาเลเซีย ในแคมเปญ Black Monday ด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำในทุกวันจันทร์ หลังจากมีแพทย์จบใหม่หลายสิบคนตัดสินใจลาออกโดยแจ้งล่วงหน้าแค่ 24 ชม. เพราะต้องทำการรักษาผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และต้องทำงานเพิ่มอีกหลายชั่วโมงโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ทั้งยังถูกห้ามไม่ให้ไปรับงานที่ศูนย์ฉีดวัคซีนของเอกชนด้วยเช่นกัน 

ถึงแม้ว่าจะมีการออกมาประท้วงเรื่องข้อพิพาทเรื่องค่าจ้างและเงื่อนไขการบรรจุในช่วงเวลานี้ แต่เรื่องนี้เป็นปัญหามาตั้งแต่ปี 2559 โดยระบบสัญญาบุคคลากรการแพทย์ลักษณะนี้พึ่งเริ่มประกาศใช้ในยุครัฐบาลก่อน คือ มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบให้แพทย์จบใหม่จะถูกว่าจ้างในรูปแบบสัญญาจ้างเท่านั้น ไม่ได้ถูกบรรจุเป็นพนักงานของรัฐถาวร และจะต้องเข้าทำงานในระบบสาธารณสุขของรัฐเป็นเวลา 4 ปีครึ่ง จึงจะมีสิทธิ์ไปทำงานให้กับเอกชน อีกทั้งแพทย์จบใหม่จะได้รับโอกาสในการเรียนต่อเฉพาะทางยากขึ้น เพราะรัฐบาลให้ทุนค่าลางานไปศึกษาต่อให้กับพนักงานของรัฐหรือแพทย์ประจำเท่านั้น ซึ่งการทำงานในรูปแบบพนักงานสัญญาจ้างนี้จะได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่ำกว่าการเป็นพนักงานประจำของรัฐ และโอกาสในความก้าวหน้าของชีวิตก็ยังถูกลดลงอีกด้วย

เมื่อเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แพทย์จบใหม่หลายคนจึงไม่สามารถแบกรับไหว และได้ออกจากระบบสาธารณะสุขไป แต่คนที่ยังอยู่ก็แสดงความไม่พอใจอย่างเข้มข้น และกระแสความไม่พอใจนี้นำไปสู่การหยุดงาน ในขณะที่ นพ. นูร์ ฮิชาม อับดุลลาห์ อธิบดีกระทรวงสาธารณสุข ได้เรียกร้องให้พวกเขาไม่เข้าร่วมการประท้วง และยังบอกให้กลุ่มแพทย์พิจารณายึดมั่นคำสาบานของบรรดาแพทย์ว่า “ไม่ทำอันตรายหรือความอยุติธรรมใดต่อผู้ป่วย” และให้ท่องไว้ให้ขึ้นใจ 

“จำไว้ว่าหลายชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตราย และการประท้วงอาจส่งผลต่อชีวิตของพวกเขาและแม้กระทั่งอาชีพของคุณ” ฮิชาม อับดุลลาห์ ระบุบนเฟซบุ๊ก

แม้รัฐบาลจะประกาศยืดสัญญาจ้างออกไปให้อีก 2 ปี ก็ยังดูเหมือนว่านี่เป็นเงื่อนไขไม่เป็นธรรมกับแพทย์สัญญาจ้าง ด้าน ดร.มุสตาฟา คามาล อะซิส โฆษกของ Hartal กล่าวกับอัลจาซีราห์ว่าแพทย์รุ่นเยาว์ทำงานนานถึง 36 ชั่วโมงโดยที่ไม่ได้ค่าจ้างหรือค่าชั่วโมงเพิ่มเติมและยังเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส “ทุกคนต่างหมดไฟและหมดแรงแล้ว” ทางกลุ่มเอชดีเคยังคงรักษาจุดยืนในการออกมาเรียกร้อง และจะไม่หยุดเคลื่อนไหวจนกว่าจะได้รับการแก้ไขที่เป็นธรรม สื่อท้องถิ่นรายงานว่ากลุ่มแพทย์ในชุดดำกำลังกระจายตัวออกไปที่โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลกัวลาลัมเปอร์ (HKL) และโรงพยาบาลสุไหงบูโละห์ เพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์

ที่มา: Aljazeera , Straitstimes