ไม่พบผลการค้นหา
‘กุ้ย’ ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สำนักข่าวประชาไท ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางใส่เข้าที่หลังเมื่อค่ำวันที่ 20 มี.ค. ระหว่างทำข่าวการชุมนุมของกลุ่ม REDEM จากบริเวณสนามหลวงไล่มาถึงราชดำเนิน แยกคอกวัว ถนนข้าวสาร

แทนที่จะหยุดปฏิบัติหน้าที่ เยียวยารักษาแผล เขายัง Live ต่อไป เพราะยังมีผู้ชุมนุมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกปราบ

370 บาทคือค่าหมอและค่ายาหลังจากนั้น และนำมาสู่การฟ้องร้องคดีแพ่งต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ – เขาแหงนหน้ายิ้มเยาะเย้ยธาตุแท้สังคมไทย 

ใช่, ศาลยกฟ้อง สตช. 

“เจ็บมากตอนโดนใหม่ๆ โกรธ ไอ้สัตว์มึงยิงกู อยากบวกแม่ง มันทำกันเกินไป” กุ้ยเปลือยรู้สึกถึงแผลช้ำเลือด

ศรายุธไม่ใช่นักข่าวมากประสบการณ์ในความหมายของสื่ออาชีพที่เริ่มงานตั้งแต่ยุคหนังสือพิมพ์ ก่อนรัฐประหารปี 49 เขาเป็นเอ็นจีโอมาก่อน สลับเลี้ยงวัว ทำเกษตร อยู่ที่มุกดาหาร

“พอรัฐประหารปุ๊บ ผมเห็นกระบวนการทำลายพรรคไทยรักไทย ซึ่งไม่ได้ทำลายแค่ทักษิณ แต่มันทำลายเจตนารมณ์การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ผมอยู่คือภาคอีสาน เขาถูกทำให้เป็นได้ทั้งคนโง่และคนเลว 

“ถ้าเขาทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ของเขา ทำมาหากินของเขาเขาจะกลายคนโง่ น่าสงสาร แต่ถ้าออกมาต้านรัฐประหารเมื่อไหร่ เขาจะถูกคนชั้นกลางพิพากษาว่าพวกนี้เป็นคนเลว”

ทัศนะของศรายุธ เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาเก็บกระเป๋าเข้ามาเป็นนักข่าวประชาไท 

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้คือผลึกอย่างย่อของศรายุธ ในสถานการณ์ที่สื่อและประชาชนกำลังเผชิญหน้ากับเงาทะมึนแห่งอำนาจไม่ต่างกัน

ศรายุทธ_1.jpg

ทำไมคุณถึงฟ้องแพ่งเอาผิดตำรวจที่สลายการชุมนุม

นอกจากผมถูกกระสุนยาง เหตุผลง่ายๆ คือมันเป็นใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับผู้ชุมนุม แล้วยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวด้วย

ตอนที่ตำรวจประกาศแจ้งว่าจะมีการสลายการชุมนุมเนี่ย ก็เป็นการแบบพูดแบบน้ำท่วมทุ่ง ไม่ได้ประกาศชัดว่าจะมีการใช้กำลังแค่ไหน อย่างไร ระหว่างที่พูดก็ยิงน้ำมาแล้ว แล้วตอนยิงแก๊สน้ำตากับกระสุนยาง ก็ยิงใส่ประชาชนมือเปล่า

โอเค มันมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจก็จริง พูดแบบแฟร์ๆ เท่าที่เห็นผู้ชุมนุมก็มีการใช้หนังสติ๊กยิงประทัดยักษ์ เหมือนกัน แต่สัดส่วนการปราบมันรุนแรงมากไป นี่เป็นสิ่งที่รัฐไม่เข้าใจ และความรุนแรงมันก็เลยเถิดมาตลอด

 

การตัดสินใจฟ้องตำรวจ ในแง่หนึ่งคือการเปิดหน้าสู้กับรัฐโดยตรงไหม 

จุดยืนผมอยู่ฝั่งผู้ชุมนุม ผมคิดว่าการเป็นสื่อนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง และจริงๆ ผมไม่เชื่อว่ามีสื่อมวลชนไหนที่มีความเป็นกลางทางการเมือง เพราะความเป็นกลางทางการเมืองไม่มีจริง เพียงแต่ว่าคุณจะแสดงออกหรือไม่ 

พอผมเชื่อว่าสื่อไม่มีความเป็นกลางแล้ว มุมมองก็เปลี่ยน เรามีประเด็นที่โฟกัสกับจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง ดังนั้นแล้วการประกาศตัวต่อสาธารณะว่าเป็นสื่อที่เลือกข้างเป็นสิ่งที่จำเป็น 

คนที่ประกาศว่าตัวเองเป็นเจ้าของสัจธรรม เป็นกลาง ผมว่าไม่แฟร์กับผู้เสพสื่อ คุณควรจะเปลือยตัวเองต่อสาธารณะ 

 

เวลาทำข่าวม็อบ ถ้าเลือกข้างผู้ชุมนุมแล้วคุณยังตั้งคำถามกับผู้ชุมนุมได้ไหม เช่น ทำไมม็อบถึงใช้ความรุนแรง 

ผมมองว่าทุกอย่างมีต้นเหตุมีที่มาที่ไป ผมไม่เชื่อว่าความรุนแรงหรือความป่าเถื่อนของมนุษย์ หรือความโหดร้ายอะไรก็ตามจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ 

ในสถานการณ์ชุมนุม ถ้าเรามองแค่ปรากฏการณ์ เราอาจจะเห็นแต่ขวดแก้ว เห็นประทัดยักษ์ แต่เราควรมองให้เห็นด้วยว่าปฏิกิริยาก้าวร้าวของผู้ชุมนุมมีเหตุผล มีที่มาจากอะไรบ้าง

ผมมองว่าม็อบคนรุ่นใหม่มันคือการตอบโต้ความพยายามเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้เข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่การใช้กำลังทหารเข้ามายึดอำนาจ ใช้กฎหมายต่างๆ ที่ตัวเองเขียนขึ้นทำให้กระบวนการต่างๆ เกิดการบิดเบี้ยวไปหมด นักการเมืองกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตี พรรคการเมืองที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างากับชนชั้นนำก็ถูกทำลายลงด้วยกระบวนการต่างๆ

แล้วคนที่ออกมาตอบโต้-ต่อสู้ มันไม่ได้เริ่มต้นที่ความรุนแรง เขาสู้ตามรัฐธรรมนูญ สู้กันตามระบบมาตลอด แต่ก็ยังเกิดการรัฐประหารซ้ำในรอบสิบปี มันทำให้ความไม่พอใจรุนแรงขึ้น เมื่อรัฐยิ่งกดยิ่งปราบ คนมันก็เลยเดือดดาล ซึ่งลึกๆ ผมมองว่าคนมันโกรธกันน้อยไป โกรธช้าไปด้วยซ้ำ

 

ความเดือดดาลที่เห็นวันนี้ คุณมองว่าเกิดช้าไป ?

ใช่ ม็อบมันมีความพยายามที่จะต่อสู้อย่างสันติมาก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่ปี 49 การต้านรัฐประหารก็เป็นการชุมนุมเริ่มต้นด้วยการปราศรัยธรรมดา กระทั่งเกิดเหตุการณ์สงกรานต์เลือดปี 52 – พฤษภาฯ 53 มันสะท้อนว่ารัฐไม่ฟังเลย

ล่าสุด การเลือกตั้งยุคประยุทธ์ เจอปัญหาเรื่องบัตรเขย่ง ปัญหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อนาคตใหม่เป็นพรรคที่เป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่โดนยุบเละเทะไป ความหวังของคนหนุ่มคนสาวถูกทำลายลง

ผมมองว่ากระบวนการทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของฝั่งประชาธิปไตยทั้งหลาย เป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ   ไอ้ความไม่มีเหตุผลทั้งปวงกลับถูกอ้างว่าเป็นกฎหมาย แล้วสุดท้ายรัฐก็ทำให้คนชั้นกลาง คนเมือง คนที่สนับสนุนผู้มีอำนาจเคยชินกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ศรายุทธ_2.jpg

แต่เวลาสังคมรับไม่ได้กับกลุ่มฮาร์ดคอร์ ในฐานะสื่อคุณอธิบายเรื่องนี้ยังไง

ผมเห็นว่าคนฮาร์ดคอร์มีที่มาที่ไป ไม่มีใครจะฮาร์ดคอร์โดยธรรมชาติ แต่เพราะมันถูกกระทำจนถึงระดับหนึ่งแล้ว มันถูกแย่งชิงสิทธิ์ของมันไป

การเป็นฮาร์ดคอร์ไม่ใช่เรื่องแปลก ปัญหาคือคนที่ไม่ยอมเป็นฮาร์ดคอร์ต่างหาก ผมว่าแปลกมาก เพราะจริงๆ แล้วเราตั้งคำถามใช่ไหมว่าคนที่ถูกกระทำมาตลอดเป็นสิบๆ ปี ทำไมไม่เป็นฮาร์ดคอร์ อะไรทำให้คุณยังทนอยู่ มันเกิดเหี้ยอะไรขึ้น การเป็นฮาร์ดคอร์ต่างหากที่เป็นเรื่องปกติมาก ไม่ใช่พวกฮาร์ดคอร์ผิดปกติ 

เอาอย่างง่ายๆ ม็อบวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ตอนที่ตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกดึงลงมา ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเลย ทำไมถึงยังมีคนไปด่าผู้ชุมนุมที่ดึงตู้คอนเทนเนอร์ว่าเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการปราบ ผมว่าคนพวกนี้แปลก 

ตู้คอนเทนเนอร์ที่ตั้งในที่ไม่ควรตั้ง มันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่ไม่ชอบธรรม คนที่เอะอะก็สันติวิธี มองว่าการดึงตู้คอนเทนเนอร์ลงคือไม่สันติเนี่ย คนพวกนี้กำลังทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรก้าวล่วง ที่สุดแล้วมันก็เกิดใบอนุญาตฆ่าผู้ชุมนุม

 

ตอนที่คุณถูกยิงแล้วได้เผชิญหน้ากับตำรวจระยะประชิด มีสักแว่บไหมที่อยากวางกล้องแล้วขอเคลียร์ก่อน

ถ้าเกิดเดี่ยวๆ ตัวต่อตัวผมเอานะ แต่ตำรวจไม่เดี่ยวกับใครไง ทั้งที่ชุดอุปกรณ์ครบ คุณพร้อมทุกอย่าง มีกฎหมายรองรับการใช้อำนาจ ผมขอเดี่ยวๆ ไม่เกี่ยวกับอายุก็ได้ ขอกูต่อยมึงหมัดเดียวพอ ที่เหลือมึงเอาเลย แต่

แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น มีแต่คนมีอำนาจเหนือกว่า ทั้งที่การขว้างปาข้าวของจากผู้ชุมนุมนี่เป็นเรื่องปกติมากของการตอบโต้

 

การที่คุณตัดสินใจเข้าไปทำข่าวในจุดที่เซนซิทีฟมันช่วยสะท้อนอะไรได้ 

ผมรู้ว่าผมไม่ใช่พระเจ้า ความคิดผมเป็นแบบนี้ ผมถือกล้อง Live อาจจะมีการแสดงความคิดเห็นของตัวเองบ้าง แต่ไม่ได้ชี้นำขนาดว่ามึงต้องฆ่ามันๆ ผมรู้สึกว่าอย่างน้อยกูก็ต้องทำอะไรได้บ้าง ผมไม่ถนัดคิดประเด็นเหมือนนักข่าวเก่งๆ ที่อยู่ในออฟฟิศ ก็ขอทำหน้าที่แทนกล้องวงจรปิดแทนกล้องดัมมี่ของ กทม. ก็ยังดี

ประชาไท เป็นช่องทางเล็กมากในการนำเสนอปัญหาที่ผมอธิบายไปแล้ว แต่ผมคิดว่าที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักส่วนมากอยู่ภายใต้ปีกรัฐบาลทหาร ข้อมูลมันสะท้อนแต่ภาพของผู้มีอำนาจ สื่อทำหน้าที่ไม่ต่างจากกรมประชาสัมพันธ์เท่าไหร่ และก็เป็นมุมมองของคนชั้นกลาง สะท้อนปัญหาไม่รอบด้าน

ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีความรุนแรง การมีสื่อบันทึกภาพ บันทึกเสียง มันจะช่วยลดการใช้ความรุนแรงลงต่อผู้ชุมนุมได้ เพราะผมเห็นว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มือเปล่า อาจจะมีบางคนที่ก้าวร้าวหน่อย ฮาร์ดคอร์หน่อย แต่โดยรวมแล้วไม่ใช่กลุ่มติดอาวุธ ประชาชนไม่มีกลุ่มติดอาวุธที่เป็นรูปธรรมมาตั้งแต่หลัง พคท. ผมคิดว่าการมีสื่อทำหน้าที่ในสนามจะทำให้รัฐมีความยับยั้งชั่งใจที่จะใช้ความรุนแรงลงบ้าง

ผมเชื่อว่าถ้าสื่อลงสนามมากกว่านี้ โดยไม่ได้รายงานข้อมูลจากฝั่งเจ้าหน้าที่อย่างเดียว แต่ได้มีโอกาสคุยกับผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเหลืองหรือฝั่งแดง ไม่ใช่เลือกคุยเฉพาะตัวเซเลป แกนนำ แต่ได้คุยกับชาวบ้านที่หอบเสื่อหอบหมอนมา ผมว่ามุมมองของสื่อจะต่างไป 

ปัญหาของสื่อที่ผ่านมา เพราะมันเกาะอยู่กับผู้มีอำนาจ ชนชั้นนำมากเกินไป แม้แต่การชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อก่อน สื่อก็ดูแค่ว่าจตุพร พรหมพันธุ์ พูดอะไร วีระ มุสิกพงศ์ พูดอะไร ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินมาเมื่อไหร่ ส.ส.พูดอะไรบ้าง แต่ไม่สื่อเคยคุยกับชาวบ้านเลย ติดภาพว่าชาวบ้านมันโง่ ถูกทักษิณหลอก โดนจ้างมา พอสื่อมีทัศนะแบบนี้ แล้วยิ่งไม่ลงในพื้นที่จริง ข่าวมันก็ฉาบฉวย ยิ่งบรรณาธิการที่หากินกับผู้มีอำนาจเป็นหลัก ก็ยิ่งเละไปใหญ่ 

 

กับสมาคมสื่อล่ะ คุณคิดว่าทั้งท่าทีและจุดยืนต่ออำนาจรัฐเป็นอย่างไร

ผมไม่แปลกใจที่เขาประนีประนอมนอบน้อมต่อผู้มีอำนาจ ผมไม่ได้รู้สึกอยากเรียกร้องอะไร รู้สึกดีด้วยซ้ำที่มองข้ามไปได้ คือผมไม่ให้ราคาเลย ไม่รู้จะคาดหวังทำไม ก็เข้าใจเพียงว่าแต่ละคนก็หาเลี้ยงชีพกัน จะให้ผมเรียกร้องผมไม่เอา เสียเวลา 

ศรายุทธ_3.jpg

เวลาได้ยินความคาดหวังต่อสื่อมากๆ ว่าต้องช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงสังคม ลึกๆ คุณรู้สึกยังไง

ผมคิดแทนไม่ได้ แต่รู้สึกว่าผมไม่ใช่วีรบุรุษ ไม่ใช่คนประเภทนักปฏิวัติ เพียงแต่การต่อสู้ครั้งนี้มันเป็นการต่อสู้ของคนหนุ่มคนสาว คนรุ่นใหม่ 

ตัวอย่างง่ายๆ เราเห็นเฌอตาย (สมาพันธ์ ศรีเทพ เยาวชนที่เสียชีวิตจากเหตุสลายชุมนุม 15 พ.ค. 2553) เราเห็นเงาของความหม่นเศร้าที่ครอบครัวเขา 

ตั้งแต่ปี 2553 ผมเห็นความตาย ความแค้น เห็นน้ำตาแม่กมนเกด (อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากเหตุสลายชุมนุม 19 พ.ค. 2553) ผมไม่ใช่คนที่นั่งวิจารณ์การเมือง พอเด็กพลาดก็ถล่มซ้ำ เพราะผมมีลูกและลูกผมออกมาเคลื่อนไหว ผมไม่ต้องการจะเห็นลูกถูกทำร้าย

ผมไม่สามารถหาทางส่งลูกไปเรียนเมืองนอกได้ แล้วปัญหาคือผมไม่ได้อยู่กับลูก เวลาผมเดินไปไหนมาไหนเนี่ย พอเห็นเด็กนักเรียนที่ออกมาชุมนุม ตาผมไม่ค่อยดี มองใครก็เห็นเป็นลูกไปทั้งหมด ถ้าจะต้องมีการตายเกิดกับลูกผม ขอเป็นคิวผมก่อน

 

ทำไมไม่ห้ามลูกไม่ให้ออกมา

ไม่ เด็กที่ออกมาต่อสู้จำนวนมากวันนี้ก็มาจากพ่อแม่ที่เป็นสลิ่มนี่แหละ พ่อแม่ที่คุยแต่การเมืองคุณค่าอุดมการณ์ความดี มากมาย แต่ว่าพอมาเจอข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ก็ต้องเงียบ พอลูกตาสว่างก็ต้องคอยห้าม คอยปิดกั้น คอยบล็อกไม่ให้ลูกออกมา ผมไม่ใช่พ่อแม่แบบนั้นไง

ศรายุทธ_4.jpg

คุณเห็นอะไรในคนรุ่นใหม่ที่ชุมนุมวันนี้ ต่างไปจากม็อบรุ่นก่อนๆ อย่างไร

ถ้าเอาแค่เสื้อแดงปี 52-53 นี่สมัยนั้นข้อเรียกร้องต่ำมาก คือเรียกร้องให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แต่รอบนี้ข้อเรียกร้องสูงมาก มันทำให้เห็นว่าคนอย่างรุ่นพวกผมที่ต่อหน้าก็ชอบอวยเจ้า พอลับหลังกลับชอบซุบซิบ แอบๆ ซ่อนๆ ตีสองหน้า มันกระจอกกว่าเด็กรุ่นนี้ที่กล้าเปิดตรงๆ เรื่องที่คนรุ่นพ่อแม่ชอบกอสซิบ ลูกเอามาเปิดตรงๆ การต่อสู้ของเด็กรุ่นนี้ไม่ได้ตบหน้าแค่ชนชั้นนำ แต่ตบหน้าพ่อแม่เขาด้วย

 

ในฐานะสื่อ พอการชุมนุมยกระดับการวิพากษ์วิจารณ์ วิธีการทำงานคุณยากกว่าเดิมไหม

ผมไม่ได้คิดซับซ้อน และทำใจแล้ว ตอนที่โดนยิงไม่ได้เหนือกว่าความคาดหมายนะ คิดว่าสักวันกูต้องถูกหวยแน่ๆ วันที่ม็อบหน้าราบ 1 (กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์) ตรงวิภาวดี ก็เกือบโดนตำรวจตี ต้องตะโกนบอกว่ากูเป็นสื่อ แล้วก็ไปหลบอยู่กับพวกพยาบาลเลยรอด แต่ครั้งล่าสุดไม่รอด

ศรายุทธ_5.jpg

คุณทำความเข้าใจตำรวจที่ไล่ตีผู้ชุมนุมและขัดขวางการทำงานสื่ออย่างไร

ผมเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่พวกนี้ถูกทำให้เป็นสัตว์สงคราม ความรุนแรงจากการปะทะกันมันมีกลไกในการทำให้เจ้าหน้าเป็นสัตว์สงครามมาก่อน ผมเคยคุยกับทหารที่เข้ามาสลายการชุมนุมแล้วโดนผู้ชุมนุมฟันเมื่อปี 53 เขาเล่าให้ฟังว่าก่อนออกมาทำหน้าที่ มีการกล่อมกันอยู่ในกองพันว่าผู้ชุมนุมคืออริราชศัตรู มีการเปิดภาพคนเสื้อแดงทุบตีเจ้าหน้าที่ทหารบ้าง สร้างผังล้มเจ้าขึ้นมา มารอบนี้ผมก็เดาว่าคงต้องเกิดความรุนแรงอีก 

ปกติแล้วเราเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะตีพวกแนวหน้าที่เข้ามาปะทะ แต่ที่ผมเห็นคือวิ่งเข้าใส่ประชาชนแบบบ้าคลั่งเลย ซึ่งเสี่ยงนะ ถ้าเกิดว่าเจ้าหน้าที่สักคนหลุดไปไกลในฝั่งผู้ชุมนุม เขาก็คงโดนกระทืบเหมือนกัน แปลว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ถูกฝึกมาให้ควบคุมฝูงชนจริงๆ แต่ฝึกมาเพื่อทำลาย

 

สิบกว่าปีที่ผ่านมา บทเรียนของคุณในการเป็นนักข่าวภาคสนามคืออะไร 

ผมรู้สึกว่าผมไม่มีอำนาจพิเศษอะไร ผมทำแค่เท่าที่ผมทำได้ เท่าที่มีพื้นที่ให้ทำ ไม่ได้หวังอะไร ไม่ได้มีบทเรียนใหญ่โตอะไรมากมาย อย่างน้อยการได้ช่วยเซฟชีวิตหรือเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ก็ยังดี เซฟชีวิตเขาไม่ได้ก็เป็นพยานให้เขา ความเสียสละและความตายของคนมันต้องมีคนเห็น ต้องมีคนบันทึกไว้ มันไม่ใช่การตายแบบไร้ร่องรอยไม่มีใครจำเลย

ธิติ มีแต้ม
สื่อมวลชน
27Article
0Video
0Blog