ไม่พบผลการค้นหา
‘ภูมิใจไทย’ ชงแก้ รธน. รื้อยุทธศาสตร์ชาติ หยุด ส.ว.เลือกนายกฯ ดันรัฐต้องดูแลผู้มีรายได้ไม่ถึง 36,000 บาทต่อปี ยังกั๊กโหวตหนุนแก้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

วันที่ 15 มิ.ย. 2564 พรรคภูมิใจไทย แถลงจุดยืนทิศทางและแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยเสนอแก้ไข 3 ประเด็น

ประเด็นแรก เกี่ยวกับเรื่องปากท้องพี่น้องประชาชน จะแก้ไข และเพิ่มเติม 1 มาตรา เรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐ ให้รัฐมีบทบาทหน้าที่เพิ่มขึ้น ในเรื่องของหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าให้กับพี่น้องประชาชน โดยจะพยายามหาเกณฑ์เส้นความยากจน เชื่อว่าคนไทยทุกคนควรที่จะต้องมีหลักประกันรายได้ ที่อยู่เหนือเส้นความยากจน ซึ่งวันนี้ได้มีการทบทวนดูแล้ว เส้นความยากจนอยู่ที่ 36,000 บาทต่อปี เพราะฉะนั้นจะต้องบรรจุ คำนี้ไปไว้ในรัฐธรรมนูญให้เป็นประเด็นที่ 1

ประเด็นที่ 2 เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 65 จะมีการระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่ายุทธศาสตร์ชาติ ควรที่จะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ให้เป็นไปตามสถานการณ์ของประเทศ ให้เป็นไปตามสถานการณ์ของโลกในขณะนั้น

ประเด็นที่ 3 เรื่องการแก้ไขในมาตรา 272 อำนาจของ ส.ว. ที่จะมีอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เราจะแก้ไขในมาตรานี้ ให้ ส.ว.นั้นไม่สามารถที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ภท.jpg

ภราดร กล่าวว่า โดยตามรัฐธรรมนูญ ได้ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียงสมาชิก 1 ใน 5 พรรคภูมิใจไทยมี 60 เสียง เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องหาเสียงเพิ่มเติมจากเพื่อนสมาชิกพรรคอื่น ซึ่งได้มีการพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนาไว้ใน 3 ประเด็นที่ว่าแล้ว เพื่อที่จะไปขอเสียงเพิ่มจากสมาชิกอีก 2 พรรค ให้มาร่วมสนับสนุนทั้ง 3 ร่างของพรรคภูมิใจไทย

ขณะเดียวกัน ส่วนร่างของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยมีความเห็นตรงกันว่า จะช่วยสนับสนุนใน 6 ประเด็น เพื่อให้ทั้ง 2 พรรค สามารถที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา เพื่อได้รับการพิจารณาในสภาต่อไป

เมื่อถามถึง กรณีการแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้งนั้น ภราดร กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ เพราะเรายืนยันใน 3 ประเด็นหลักที่เสนอมา ส่วนเรื่องบัตรเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ประกาศว่าจะมีการแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้ง จาก 1 ใบเป็น 2 ใบ จะเป็นไปตามข้อตกลง พรรคภูมิใจไทยจะร่วมลงชื่อให้กับเพื่อนสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นดังกล่าวด้วย ส่วนจะลงมติหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องมีการพูดคุยหารือเพื่อฟังเหตุผลร่วมกันต่อไป

เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยมีความมั่นใจในการแก้ไขอำนาจ ส.ว.อย่างไร ภราดร กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ตนเชื่อว่าเขาก็มีร่างนี้เหมือนกัน และประเด็นตรงกัน ส่วนพรรคฝ่ายค้านนั้นก็เชื่อว่า เขาก็พยายามแก้ไขประเด็นนี้ โดยมีการพยายามเรียกร้องกันมาพอสมควร

ส่วนจะโหวตผ่านในวาระที่สามหรือไม่ ตนเชื่อว่าสุดท้ายแล้วการลงมติในวาระที่ 3 ต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว.ด้วย ซึ่งตนตอบแทน ส.ว.ไม่ได้ ว่ามีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร เพราะเป็นการลดทอนอำนาจหน้าที่ของฝ่ายวุฒิสภา ซึ่งต้องไปถามฝ่ายวุฒิสภาเองว่ามีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร อย่างไรก็ตามพรรคภูมิใจไทยยืนยันว่าจะแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้

ด้าน ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทย มีนัดกับ 2 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา ในการที่จะนำรายชื่อที่ได้ลงนามกันในวันนี้ไปมอบให้ แล้วเขาก็ลงนามในร่างของเราทั้ง 3 ร่าง และจะนำมามอบให้ โดยคาดว่านำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยื่นต่อประธานรัฐสภาภายในภายในสัปดาห์นี้ และ ภายในภายในสัปดาห์นี้ จะมีความชัดเจนในเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้หวังว่าในที่สุดแล้วเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณา พี่น้องประชาชนจะต้องได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งที่เราได้เสนอเข้าไปอาจจะเป็นสิ่งใหม่ไม่ใช่เป็นเรื่องการเมือง หรือผลประโยชน์ของพรรคการเมือง คือ หลักประกันเรื่องรายได้เป็นแนวคิดที่ในโลกได้มีการคิดกันว่า รัฐควรที่จะมีหน้าที่ดูแลประชาชนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่มีกำลังพอในเรื่องรายได้ เพื่อให้เป็นหลักประกันว่า ต่อไปคนไทยทุกคนที่มีรายได้ไม่ถึง 36,000 บาทต่อปี จะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องมาดูแล บุคคลเหล่านี้ ขอย้ำว่าเป็นคนไทยทุกคน