ไม่พบผลการค้นหา
“ประเด็นแรกต้องบอกก่อนเลยว่าประเทศไทยเราไม่มี ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ คำว่า ‘indigenous people’ ประเทศไทยเราไม่มี

เรามีแต่คนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยเท่านั้น ต่างกับหลายๆ ประเทศที่มีชนเผ่าพื้นเมืองนะครับ เพราะว่าต้องอย่าสับสนกับหลายๆ องค์กรที่ใช้คำว่า ‘เผ่าพื้นเมือง’ บ้างอะไรบ้าง

“ประเทศไทยผมยืนยันว่าเราไม่มีนะครับ เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว เราไม่มีชนเผ่า เราไม่มีอะไรทั้งนั้น แต่ปัจจุบันเรามีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งพอมาอยู่ในประเทศไทยแล้ว ตัวผมเองก็เป็นชาติพันธุ์เหมือนกัน ทุกคนที่มาอยู่ในประเทศล้วนแล้วแต่มีกลุ่ม มีเบื้องหลัง ความเป็นมา มาจากแต่ละที่แต่ละทาง ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทยกันทั้งนั้น ดังนั้นจึงไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกัน”

‘วราวุธ ศิลปอาชา' รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ผ่านเพจ greennews หลังไทยได้รับเลือกให้ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ได้ 2 วัน (ที่มา: https://bit.ly/3j1aa20)


วิธีคิดราชการไทย

ทัศนะของรัฐมนตรีสอดคล้องกับที่ ‘เตือนใจ ดีเทศน์’ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน วาระปี 2560 เคยกล่าวกับ ‘วอยซ์’ ไว้ว่า “รากลึกของปัญหาคนกับป่า คือเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานด้านอนุรักษ์ป่า มองการอนุรักษ์ป่าว่าควรเอาคนออกจากป่า แล้วให้รัฐเป็นคนดูแลเพียงฝ่ายเดียว

“เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่ได้ใช้หลักการคนอยู่กับป่า ที่มองว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ สัตว์ป่าและมนุษย์ก็อยู่ร่วมกันได้”

เตือนใจ บอกว่า ชาวกะเหรี่ยงมีส่วนในการอนุรักษ์ป่าในแบบวิถีกะเหรี่ยง ที่ไหนมีกะเหรี่ยงในป่า ป่าบริเวณนั้นจะอุดมสมบูรณ์มาก บางพื้นที่อุดมสมบูรณ์จนกระทั่งถูกประกาศเป็นเขตอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้วยซ้ำ เพราะชาวกะเหรี่ยงผูกพันกับป่าและธรรมชาติที่เหนือธรรมชาติ ใช้จิตวิญญาณในการดูแลรักษา

“ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยมีภาษิตสอนต่อกันมารุ่นต่อรุ่นว่า ได้กินจากป่าต้องรักษาป่า ได้กินจากน้ำต้องอนุรักษ์น้ำ เคารพบูชาในข้าว ข้าวคือปัจจัยสำคัญของชีวิต” เตือนใจ ให้ภาพที่ราชการไทยไม่นับรวม

แลกด้วยเลือด
222579733_10161998497909848_7070393302173352843_n.jpg

"มันเหมือนเป็นมรดกโลกของเผด็จการ"

แบงค์-พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ลูกหลานปู่คออี้ หรือ คออิ มีมิ ผู้นำจิตวิญญานกะเหรี่ยงบางกลอย ได้นิยามภาพปรีดาของผู้มีอำนาจต่อการขึ้นทะเบียน 'ป่าแก่งกระจาน'

ก่อนสำทับว่าการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) สมัยสามัญครั้งที่ 44 ขององค์กรยูเนสโก (UNESCO) มันคือเกมการเมืองบนเวทีโลกมีการล็อบบี้กันเพื่อผลประโยชน์ โดยไม่ใยดีต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในพื้นที่

ตอกย้ำว่ารัฐไทยมองกลุ่มชาติพันธุ์เป็น 'คนนอก' ด้วยความชื่นมื่น แม้จะอยู่ท่ามกลางสายตาของชาวโลกก็ตาม

"ผมว่ามันคือความภาคภูมิใจ ที่แลกมาด้วยเลือด ด้วยชีวิตและคราบน้ำตาของคนในผืนป่าแห่งนี้" หนุ่มบางกลอยเปลือยห้วงรู้สึก

พร้อมตั้งคำถามว่า "ทำไมเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องที่ดินทำกิน กลับไม่ถูกผลักดันให้เร็วแบบนี้" สะท้อนข้อกังขาและตัดพ้อของผู้เผชิญกับการอพยพจากแผ่นดินแม่โดยไม่สมัครใจ

รุกไล่ตีตรา-ด้วยชาตินิยม

ย้อนไปปี 2539 ปฐมบทการอพยพชาวบ้านบางกลอยบน หรือ 'ใจแผ่นดิน' ด้วยคำมั่นของผู้พิทักษ์ป่าไม้ วาดภาพชวนฝันเตรียมที่ดินให้ครอบครัวละ 7 ไร่ ทว่า ผลลัพท์กลับไม่เป็นดั่งคำชวนเชื่อ พวกเขาจึงต้องเดินทางกลับสู่ใจแผ่นดิน

กระทั่งปี 2554 'ยุทธการตะนาวศรี' ภายใต้การนำของ 'ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร' หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (ขณะนั้น) ได้นำกำลังไล่ต้อน พร้อมเผาบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้านบางกลอยกว่า 98 หลัง ทีมเจ้าหน้าที่มือเพลิงอ้างเหตุในปฏิบัติการครั้งนี้ว่า "พวกเขาคือคนอื่นหาใช่คนไทย"

140031861_10221908260327940_708326447231473503_n.jpg
  • ภาพเหตุเพลิงไหม้ยุ้งฉาง

แม้จะมีหลักฐานยืนยันจากแผนที่ทางการทหารว่า ชาวบ้านบางกลอยคือกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยบนพื้นที่จิตวิญญานมานับร้อยปี แต่ก็ต้องถูกตีตราด้วยคำผลักไสจากผู้ปกครอง

จนปัจจุบันต่อกรณีการผลักดันผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก หลานปู่คออี้ ยอมรับกับความผิดหวังและวิตกอยู่ในน้ำเสียง เมื่อไม่อาจคาดเดาได้ว่า ชาวบ้านจะถูกกวาดต้อนพ้นผืนป่าวันนี้หรือวันไหน เพราะเสียงที่พวกเขามีค่าเท่ากับศูนย์เมื่อต้องยืนเผชิญหน้าอำนาจรัฐ

"พวกผมคือส่วนหนึ่งของผืนป่า เราไม่เคยทำลายป่า หนำซ้ำชาวบ้านยังช่วยกันอนุรักษ์ ทำไมเสียงของชาวบ้านไม่เคยมีความหมายเลย

"เขาเคยเชิญผู้นำเราไปครั้งหนึ่ง เหมือนให้เราเข้าไปอยู่ในภาพเพื่อให้ครบองค์ประกอบ"

"ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าจะเป็นยังไงต่อ แต่ก็เชื่อว่ายังมีคนไทยอีกหลายคนที่ไม่ยอมทนเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นนี้"

เสียงของเมล็ดพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอญอ เปล่งออกมา พร้อมคำถามทิ้งท้ายในห้วงปรีดาของภาครัฐ


การต่อสู้อันยาวนาน

ชัยชนะบนพื้นป่า 2.5 ล้านไร่ หรือ 4089 ตร.กม.ของรัฐไทย ไม่เพียงถูกตั้งคำถามจากคนพื้นที่ แต่การรุกคืบของอำนาจรัฐ ก็อยู่ภายใต้สายตาภาคประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "ภาคี SAVEบางกลอย"

"มันเป็นความภาคภูมิใจจอมปลอมของคนบางกลุ่ม ที่ไปโกหกบนเวทีโลก"

กอล์ฟ-พชร คำชำนาญ หนึ่งในแกนหลักที่ออกมาต่อสู้เพื่อคนบางกลอย มองว่าการกระทำของรัฐคือการด้อยค่าความเป็นมนุษย์กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแก่งกระจาน

ภาคีsaveบางกลอย
  • กลุ่มภาคีเซฟบางกลอย

เขาพาย้อนไปถึงไทม์ไลน์การกระทำของรัฐ โดยมองว่าเสมือนเรื่องบังเอิญที่จงใจ นับตั้งแต่การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างการเสนอป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2558 ในยุคเรืองอำนาจของคณะรัฐประหาร ที่อ้างการปกครองด้วยกฎหมาย

"แนวคิดของรัฐราชการไทยไม่เคยมองเรื่องคนอยู่กับป่าได้ และยังมองชาวบ้าน (บางกลอย) เป็นศัตรู ไม่เคยเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นแสดงความคิดเห็น"

เขาเล่าอีกว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามผลักดันป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกมาแล้วหลายครั้ง แต่ถูกเลื่อนการพิจารณาออกไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นบนผืนป่าแห่งนี้ ได้สังเวยชีวิต 'บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ' และ 'ทัศกมล โอบอ้อม' หรือ 'อาจารย์ป๊อด' นักสู้เพื่อสิทธิชุมชนสองรายจากอำนาจมืด เป็นเหตุให้อารยประเทศไม่ยอมรับ

ทว่าการผลักดันของรัฐไทยก็เป็นผลสำเร็จในปี 2564 หลังที่ประชุมยูเนสโก โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ ทำให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

'พชร' ตั้งข้อสังเกตุผ่านการติดตามการประชุมว่า "มีการกีดกันประเด็นสิทธิมนุษยชน" ด้วยการจัดวางลำดับให้เป็นประเด็นสุดท้ายในการพิจารณา สะท้อนถึงความลักลั่นและลดทอนคุณค่าของชาติพันธุ์ในพื้นที่

"แนวโน้มความรุนแรงในพื้นที่อาจสูงขึ้น แม้ว่าจะมีแนวทางจัดการ 3 ข้อ โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วม"

เขามองว่าที่ผ่านมา แม้ทางการไทยได้ลงนามเรื่องสิทธิมนุษยชนหลายกรณี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นไปได้ยากภายใต้การปกครองโดยระบอบเผด็จการ

"สิ่งที่น่าโกรธคือท่าทีของ 'วราวุธ ศิลปอาชา' (รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เพราะเขาไม่ได้มีศักยภาพเลย ในการจัดการปัญหาเรื่องคนอยู่กับป่า"

เขาวิจารณ์ท่าทีของรัฐมนตรีเป็นเพียงการแสดงออกแบบจอมปลอมภายใต้ผลประโยชน์เพื่อคนบางกลุ่ม

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

ขณะที่ตัวละครสำคyญอย่าง ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กลับให้ภาพในมุมกลับที่ชวนติดตามว่า "กลุ่มชาติพันธุ์น่าจะดีใจที่สุด ที่ผ่านมาไปร้องเรียนยูเอ็นหรือไปที่ต่างๆ วันนี้ยูเนสโก้เขาประกาศให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลก คุณจะร้องเรียนอะไรกับใคร คุณทำได้เต็มที่เลย เพราะว่ามันมีคนต่างชาติเข้ามาดูคุณแล้ว

“ผมว่าคนที่น่าจะดีใจที่สุดคือกลุ่มชาติพันธุ์หรือชาวบ้านบางกลอย ที่อยู่ในพื้นที่ป่า ควรจะดีใจมากกว่าผม ผมรักษาป่าเพราะมันไม่มีพื้นที่ป่า หากพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ถ้ามันไม่มีป่า มรดกโลกก็ไม่มีค่า" (ที่มา: https://bit.ly/3BKN1cy)

อย่างไรก็ตาม ในมุมของ "ภาคี SAVEบางกลอย" การต่อสู้ของพวกเขาและชาวบ้านบางกลอยจะยังดำเนินต่อไป โดยการเดินหน้ากดดันรัฐบาล เพื่อเรียกร้องสิทธิพึงได้รับ และจะมีการยกระดับเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงระดับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ป่าแก่งกระจานในวันที่กลายเป็นมรดกโลก คล้ายมหากาพย์สังเวียนเลือด ยาวนาน ทรงพลัง เป็นประวัติศาสตร์ทะมึน กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ยากลบเลือน