รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand ชี้ ข้อถกเถียง “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ปมแก้รัฐธรรมนูญ ที่ยังเห็นต่างปมดับสวิตช์ ส.ว. ก็อยู่บนหลักการประชาธิปไตย ขอกองหนุนดีเบตกันด้วยข้อมูล
และหากแฟนคลับ “เพื่อไทย” ไม่โอเค ถ้ามีเลือกตั้ง ก็มีสิทธิ์เลือกพรรคก้าวไกล หรือพรรคอื่นในฝั่งประชาธิปไตย เราก็ไม่ว่ากัน
ไม่ร่วมลงชื่อในญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับอำนาจสมาชิกวุฒิสภา ในมาตรา 269-272 โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาแทบทุกหมวด รวมทั้งบทเฉพาะกาล แม้แต่ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาฯ เกือบทุกพรรค ก็เห็นสอดคล้องกัน / และพรรคฯ ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้
การแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่ง ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือหลายประเด็น ไม่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน จึงเห็นว่า การจะก้าวข้ามได้ คือ การสร้างกลไกให้ประชาชนเป็นผู้ร่างและให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต้องทำทั้งฉบับ การให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่สิ่งนี้จะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และส.ว.อย่างน้อย 84 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 พรรคเพื่อไทยจึงได้ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร.
ร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 กำหนดว่าจะไม่แก้ไขในหมวด 1 และ 2 เพื่อไม่ให้เป็นการแก้ไขทั้งฉบับ เพราะพรรคเพื่อไทยเคยได้รับบทเรียนมาแล้ว ด้วยการถูกกล่าวหา และดำเนินคดีฐานล้มล้างการปกครอง ทั้งนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดเห็นพ้องต้องกัน และเบื้องต้นควรเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพียงประเด็นเดียวก่อน และยื่นญัตติต่อประธานสภาฯ แต่ก่อนยื่นญัตติ ส.ส.พรรคก้าวไกล 21 คน ขอถอนชื่อออก โดยให้เหตุผลว่าร่างแก้ไขมาตรา 256 มีการสงวนไม่แก้ในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ไว้ ทั้งที่ผู้เข้าร่วมประชุมของพรรคก้าวไกล ได้เห็นชอบในร่างดังกล่าว
นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ย้ำว่า (เหมือนที่พูดในรายการ) กรณีที่พรรคเพื่อไทยไม่ร่วมลงชื่อในญัตติของพรรคก้าวไกล เพราะไม่อยากร่วมปิดสวิตซ์ ส.ว. นั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และพรรคเห็นว่า การคงไว้ซึ่งอำนาจ ส.ว. ไม่เป็นประชาธิปไตย และถ้าคงไว้ก็จะมีผลกระทบ และย้ำอีกว่า พรรคเห็นด้วยกับหลักการ แต่เห็นต่างในรายละเอียดคือการแก้ไขอำนาจของ ส.ว. จะให้ใครเป็นผู้แก้ และจะแก้เมื่อไหร่ ซึ่งพรรคเห็นว่า ควรให้ ส.ส.ร. แก้ เพราะ ส.ส.ร. เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และการที่พรรคไม่ยื่นญัตติแก้ไข ส.ว. ในขณะนี้ ประเมินแล้วว่า ส.ว. จะร่วมโหวตให้ผ่านนั้นเป็นไปได้ยาก จึงเลือกยื่นญัตติแก้ไขในมาตรา 256 ก่อน
นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ด้านนโยบายและแผนงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุม ส.ส. ของพรรค ยังไม่อยากไปร่วมลงชื่อในประเด็นอื่น นอกจากการตั้ง ส.ส.ร. เพราะอยากให้เรื่อง ส.ส.ร. เดินหน้าก่อน จากนั้นจะเพิ่มเติมส่วนอื่น ซึ่งจะหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้งถึงความเหมาะสม เพราะถ้าเดินหน้าแก้ไปพร้อมกัน กังวลว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. จะไม่สบายใจ และหวาดระแวง ว่าฝ่ายค้านต้องการอะไรกันแน่
อย่างไรก็ดี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวทิ้งท้ายว่าต้องเคลียร์กับก้าวไกลอีกที โดยรอเวลาที่เหมาะสม แต่ยังไม่มีวันที่กำหนด
นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1.ต้องมี ส.ส.ร.มาร่างใหม่ทั้งฉบับ ต้องไม่จำกัดว่าห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง ทำใหม่ทั้งฉบับ ภายใต้กรอบการเป็นรัฐเดี่ยว ภายใต้หลักการและราชอาณาจักรตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2. ระหว่างทางที่รอการพิจารณาในสภาฯ ว่าจะได้ส.ส.ร.เมื่อไหร่ สามารถเสนอเข้าไปคู่ขนานได้คือ การเสนอญัตติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272 ซึ่งเป็นการปิดสวิตช์ส.ว.รวมทั้งยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองประกาศ การกระทำของคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้ ซึ่งเหตุที่ต้องเสนอคู่ขนานเพราะกว่าจะมีส.ส.ร. กว่าจะแก้ไขจนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจใช้เวลา 1-2 ปี หากเกิดอุบัติเหตุการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภาฯ การยุบสภาฯ จะไม่เกิดความหมายอะไร ถ้ายังมี 250 ส.ว.ที่มีอำนาจเลือกนายกฯ จึงเสนอให้มีการปิดสวิตช์ส.ว.ไปก่อน
หากยังประสงค์จะมีส.ว.อีกก็ค่อยให้เข้ากลับมาตามช่องทางปกติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 พล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกฯ อย่างสง่างาม ไม่มีคำครหา ทั้งนี้ ส.ว.หลายคนยอมยกเลิกอำนาจตัวเองตามมาตรา272 แต่บางคนก็ไปไกล ยอมถึงขั้นให้ยกเลิก 250 ส.ว.ไปเลย ทำให้สถานการณ์ชุมนุมผ่อนคลาย คลี่คลายลง
ดังนั้น ลองนึกสภาพว่า ถ้าสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนองแม้แต่เรื่องเดียว พวกเขาอาจยกระดับการชุมนุม เราคาดเดาไม่ออกว่า ท้ายที่สุดจะออกมาเป็นแบบใด เรื่องใดที่พอจะผ่อนคลายสถานการณ์ลงได้ก็ควรรีบทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยมองว่าแนวทางของพรรคก้าวไกลเป็นไปได้ยากที่ส.ว.จะปิดสวิตช์ตัวเอง และการชุมนุมอาจไม่สามารถกดดันส.ว.ได้ นายปิยบุตรกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จำเป็นต้องได้รับเสียงโหวต1ใน3จากส.ว. ไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องใดที่ไปกระทบประโยชน์คสช.หรือส.ว.ย่อมแก้ยากทุกเรื่อง เชื่อว่าพี่น้องประชาชน หรือแม้กระทั่งส.ส.ต่างตระหนักในเรื่องนี้ การจะแก้ได้หรือไม่ได้อยู่ที่การกดดันนอกสภาฯ การกดดันนอกสภาฯ ที่ทำมาตลอด1เดือนที่ผ่านมาเป็นเหตุผลหลักที่ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ทำให้รัฐบาลยอมขยับ เชื่อว่าถ้านอกสภาฯ ยังกดดันให้ยกเลิกส.ว. ก็เป็นไปได้ที่ ส.ว.จะยอมเปลี่ยนใจ แต่หากปล่อยไปเรื่อยๆ ก็จะอ่อนแรงลง คราวนี้แม้แต่ส.ส.ร.ก็จะไม่ได้ หรือแม้แต่การแก้ไขในสภาฯ ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า เขาอาจยอมในวาระแรก แต่อาจไปเบี้ยวในวาระ 3 ก็ได้
ส่วนความเห็นที่ต่างกับพรรคเพื่อไทยอาจเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคฝ่ายค้านด้วยกันเองหรือไม่นั้น นายปิยบุตรกล่าวว่า ตอนนี้เป็นคนนอกแล้ว จึงไม่ทราบว่าเขาประชุมอะไรกัน หรือมีความขัดแย้งอะไรกัน ซึ่งในฐานะคนนอกที่มองเข้าไปนั้นเชื่อว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีอิสระต่อกัน มีความคิดแตกต่างหลากหลาย หากคิดเหมือนกันหมดคงเป็นพรรคเดียวกันไปแล้ว เมื่อเป็นคนละพรรคย่อมคิดแตกต่างกัน จึงมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการขับเคลื่อนแตกต่างกัน ที่ผ่านมาคิดว่า บุคคล กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไร ยังทำงานในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่สำหรับคนที่สนับสนุนนั้น บางคนอาจสนับสนุนพรรคเพื่อไทย บางคนสนับสนุนพรรคก้าวไกล ก็มีการถกเถียงกันบ้างทางโลกโซเชียล ซึ่งเป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตย