การปรับตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มทุนรายใหญ่ระดับประเทศ ที่ใช้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นช่องทางการระดมทุน การเทกโอเวอร์ รวมทั้งการสะสมเงินทุนและที่ดิน ในการขยายธุรกิจปี 2558
เริ่มจากกลุ่มภิรมย์ภักดี หรือเบียร์สิงห์ ที่เข้าเทกโอเวอร์บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สิงห์ เอสเตท นับเป็นการนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดหุ้นเป็นครั้งแรก และเป็นสัญญาณว่า กลุ่มภิรมย์ภักดี จะรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ในทุกรูปแบบ ทั้งที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศ และภูมิภาค AEC โดยจะมีที่ดิน 3 แปลงใหญ่ ทั้งที่ดินที่อโศก 11 ไร่ ที่ดินสิงห์เฮาส์ อโศก 2 ไร่ และที่ดินบริเวณเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา 30 ไร่ รวมมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ ที่อโศก อีกด้วย
แต่ที่เรียกว่าเป็นการกลับคืนสังเวียนตลาดอสังหาริมทรัพย์ คือ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ของคีรี กาญจนพาสน์ หลังจากปลูกปั้นธุรกิจรถไฟฟ้า BTS มานานนับ 10 ปี และพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม Abstracts และธนายงซิตี้ แต่คราวนี้ บีทีเอส กลับเลือกที่จะเทกโอเวอร์ กลุ่มแนเชอรัล ปาร์ค มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ทั้งโรงแรม ออฟฟิศ อพาร์ตเมนต์ รวมทั้งธุรกิจโรงแรมเดิมของบีทีเอส
และการจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ กลุ่มแสนสิริ พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า โดยอาศัยจุดแข็งของบีทีเอส ที่มีระบบรถไฟฟ้า สื่อโฆษณากลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของไทย อย่างวีจีไอ โกลบอล มีเดีย และบัตรแรบบิท ซึ่งเป็นระบบตั๋วร่วมคมนาคมขนส่ง / ส่วนแสนสิริ มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทั้งบีทีเอส และแสนสิริ ยอมรับว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต จะต้องร่วมมือกัน และเป็นการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น
ทั้งนี้ บีทีเอส และแสนสิริ จะเริ่มต้นโครงการแรก เป็นคอนโดมิเนียมบนพื้นที่ 5 ไร่ใกล้สถานีบีทีเอสหมอชิต 900 ยูนิต มูลค่าโครงการ 5,500 ล้านบาท คาดเริ่มเปิดขายไตรมาสแรกของปี 2558
นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหว ทั้งกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ของนายชายนิด อรรถญาณสกุล ที่ลงทุนเกือบ 5 พันล้านบาท แลกหุ้นกับกลุ่มไทย พร็อพเพอร์ตี้ และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ซึ่งเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมและโรงแรมย่ายสุขุมวิท เพื่อเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 4 จากปัจจุบันอยู่อันดับ 8
กลุ่มสิริวัฒนภักดี เจ้าของกลุ่มทีซีซีแลนด์ รวมทั้งยูนิเวนเจอร์ และ แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ได้เข้าซื้อบริษัท กรุงเทพบ้านและที่ดิน หรือเคแลนด์ ซึ่งเป็นของกลุ่มเอฟแอนด์เอ็น ที่ไทยเบฟเวอเรจได้เข้าซื้อกิจการก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้สามารถจับตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ครบวงจร
รวมทั้งโครงกา��ไอคอนสยาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญนคร ของกลุ่มแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี กับ กลุ่มสยามพิวรรธน์ ที่ลงทุนมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทั้งคอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า และโครงการอื่นๆแบบครบวงจร สร้างความคึกคักการลงทุนโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีคึกคักตาม และยังไม่นับรวมกลุ่มเอพี ไทยแลนด์ ที่ร่วมมือกับ มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป ในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมแล้ว 4 แห่ง
สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย กำลังเข้าสู่ยุคของรายใหญ่ ที่มีความแข็งแกร่งทั้งที่ดิน เงินทุน สภาพคล่อง และ บุคลากรมืออาชีพ โดยเป็นลักษณะของการควบรวมกิจการ เทกโอเวอร์ หรือ ความร่วมมือ ซึ่งเชื่อว่า จะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพราะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ก็เป็นอีกสาเหตุที่จะมีกลุ่มทุนต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
ดังนั้นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายกลางและรายเล็ก ควรต้องปรับตัวและติดตามความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่การแข่งขันจะรุนแรงจากผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความถนัดของผู้ประกอบการ รวมทั้งความพร้อมด้านเงินทุนและสายป่านทางธุรกิจ เพราะผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะรายเล็ก หรือ รายใหญ่ สิ่งสำคัญคือทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญ และปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์นั่นเอง