Culture Corner ประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2557
ในยุคปัจจุบัน การทรมานเพื่อรีดข้อมูลจากนักโทษ เป็นวิธีที่ถูกประณามจากทั่วโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าความเชื่อที่ว่านี้เพิ่งตกผลึกและกลายเป็นบรรทัดฐานที่นานาชาติยอมรับเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน หรือ UN Convention Against Torture เพิ่งได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปี 1984 แต่ก่อนหน้านั้น สืบย้อนไปได้นับพันๆปี การทรมานเป็นเครื่องมือที่อยู่คู่กับกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก ในฐานะวิธีการทำให้จำเลยรับสารภาพ และให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ทางการ หรือแม้แต่เป็นวิธีการลงโทษสำหรับอาชญากรรมร้ายแรง
การทรมานดูเหมือนจะอยู่คู่กับกระบวนการยุติธรรมมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มอารยธรรมมนุษย์ นับตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ ก็มีบันทึกหลักฐานการทรมานนักโทษด้วยวิธีทารุณต่างๆ โดยเฉพาะการจับนักโทษตากแดดให้ตายในทะเลทราย ส่วนชาวอัสซีเรียนก็มักใช้วิธีประหารเชลยสงครามด้วยการถลกหนังทั้งเป็น ชาวยิวใช้การปาหิน ส่วนชาวโรมันใช้การตรึงไม้กางเขน โดยเหยื่อการตรึงกางเขนที่ทั่วโลกรู้จักดีก็คือพระเยซูคริสต์นั่นเอง
โลกยุคโบราณมักใช้การทรมานเป็นวิธีการลงโทษ แต่การทรมานในฐานะเครื่องมือสืบสวนสอบสวน เพิ่งจะเริ่มอย่างเป็นระบบในยุคกลาง ซึ่งมีการตั้งศาลศาสนา ไต่สวนพวกนอกรีต หรือผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคริสตจักรอย่างโหดร้ายทารุณ ยุคนี้เป็นยุคที่มีการคิดค้นวิธีการทรมาน และการใช้เครื่องทรมานมากที่สุด และได้ชื่อว่ามีการทรมานเกิดขึ้นเป็นล่ำเป็นสันที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยอ้างพระนามของพระผู้เป็นเจ้า กดขี่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
การทรมานถูกห้ามในยุคปฏิวัติวิทยาศาตร์ ที่มีการยกย่องเชิดชูศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อีกครั้ง แต่หลายรัฐก็ยังคงวิธีการทรมานไว้ในฐานเครื่องมือที่จำเป็นในการปกป้องคนส่วนใหญ่ของสังคม โดยเชื่อว่าการทรมานจะทำให้ผู้ร้ายเข็ดหลาบ หรือการทรมานผู้ต้องหาเพื่อรีดข้อมูล ถือว่ามีความชอบธรรม เพราะเป็นการเสียสละ "คนชั่ว" เพื่อแลกกับประโยชน์ของประชาชนผู้บริสุทธิ์
หลักคิดนี้ยังตกค้างมาถึงยุคปัจจุบัน ที่แม้จะไม่มีใครยอมรับการทรมานนักโทษโดยรัฐ แต่ในมุมมืดของกระบวนการยุติธรรมก็ยังมีการทรมานนักโทษเกิดขึ้นเสมอ รวมถึงการทรมานในแวดวงสืบราชการลับ ซึ่งเชื่อกันว่าการทรมานเป็นวิธีชั่วร้ายที่จำเป็น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะนำมาปกป้องคนบริสุทธิ์อีกนับพันนับหมื่น แม้จะมีหลายทฤษฎี หลายหลักฐานที่พิสูจน์ว่าการทรมานนักโทษ ไม่ได้ทำให้ผู้ต้องหายอมสารภาพความจริงเสมอไป และยังก่อให้เกิดความแค้นสั่งสม นำมาซึ่งปัญหาในระยะยาวก็ตาม
จะว่าไปแล้ว ข้ออ้างในการทรมานนักโทษของ CIA และรัฐบาลทั่วโลก ก็ไม่ต่างจากในยุคกลาง ในอดีต การทรมานทำในนามของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อธำรงความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา ส่วนในปัจจุบัน การทรมานทำในนามของรัฐ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ แต่หากคิดในอีกมุมหนึ่ง รัฐและศาสนา ล้วนเป็นสิ่งสมมติที่ถูกสังคมรังสรรค์ขึ้น แต่สถาบันที่ยืนยงและเที่ยงแท้ที่สุด ก็คือมนุษย์ ในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
ด้วยเหตุนี้ การทรมานประชาชนเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ จึงเท่ากับการเสียสละสิทธิการมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของมนุษย์เพื่อสิ่งที่มนุษย์เองสถาปนาขึ้น ซึ่งการแลกเปลี่ยนนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับว่าคุณให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากเพียงใด