FULL EP. มาตรา 5 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กลับไปเหมือนมาตรา 7
รายการ WakeUp News ประจำวันที่ 7 เมษายน 2560
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แล้ว...แต่เลือกตั้งเมื่อไหร่ ยังไม่รู้....?
ประเด็นสำคัญตามคำแถลงการณ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วานนี้ (6 เมษายน 2560) คือ
- รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 เป็นอันสิ้นสุดลง
- คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะคงอยู่ต่อไป ภายใต้บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย ส่วนสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ก็จะยังอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
- สิทธิเสรีภาพประชาชนจะมีเพิ่มขึ้น แต่ก็อย่าลืมหน้าที่ของปวงชนชาวไทยด้วย จะเรียกร้องสิทธิหรือเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวมิได้
- ภารกิจหลักสำคัญ 2 เรื่อง คือ วางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวและปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ
ถ้าดูเปรียบเทียบเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า เราจะพบว่า มีมาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นำมาใช้อีกครั้งในฉบับใหม่คือมาตรา 5 ดังนี้
มาตรา 5
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ บังคับแก่กรณีใดให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีใดให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อสังเกตสำหรับมาตรา 5 ที่ประกาศใช้นี้ แตกต่างจากฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์อย่างไร ?
ต่างกันตรงที่ มาตรา 5 ฉบับประกาศใช้นี้ ตัดวรรค 3 - 6 ออกไป คงเหลือแค่วรรค 1 และ 2
เนื้อหาที่ตัดออกคือ ? ((ตัดวรรค 3 - 6 ออก))
เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จัดให้มีการประชุมร่วมระหว่าง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระเพื่อวินิจฉัย
ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่
การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ