ไม่พบผลการค้นหา
'ประยุทธ์' เปิดการก่อสร้างไฮสปีดไทยจีน 'กลางดง-ปางอโศก' 3.5 กม.
Dec 21, 2017 11:54

นายกรัฐมนตรี และรองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนา และปฏิรูปแห่งชาติจีน ร่วมพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เฟสแรก กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร โดยคาดว่าทั้งโครงการศจะเปิดให้บริการในปี 2566 และมีจำนวนผู้โดยสารในช่วงแรกอยู่ที่ 5,300 คนต่อวัน และในปี 2594 จะมีผู้ใช้บริการขั้นต่ำ 26,800 คนต่อวัน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการ พัฒนา และปฏิรูปแห่งชาติจีน ร่วมพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ณ มอหลักหินรัชกาลที่ 5 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้แนวคิด "น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยและจีนมีความร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ภายใต้ความสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงนี้ จะเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศต่างๆในภูมิภาค และโครงข่ายคมนาคม One Belt One Road ของรัฐบาลจีน อันจะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้เพื่อการดำเนินโครงการให้ประสานสอดคล้องกับกลไกระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอื่นๆ รัฐบาลได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรสำหรับรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ซึ่งวันนี้ประเทศไทยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานครเขตหนองคายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยเฉพาะ 20 จังหวัดรายได้น้อย จะต้องหาแนวทางพัฒนาประเทศ ถ้าไม่ดูแลก็พัฒนาไม่ได้ ทุกวันนี้ ต้องคิดเป็นโปรเจ็คระยะยาว เป็นแผนแม่บททั้งทาง เรือ บก อากาศ เพราะไม่มีอะไรที่จะสร้างเสร็จในวันเดียวหรือในปีเดียว ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันสร้างความร่วมมือที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพเข้าใจว่าต้องลงทุนมาก แต่ตนก็ไม่ได้คิดจะเอากำไรเพียงแค่คนที่จะขึ้นรถไฟ แต่รวมถึงผลประโยชน์โดยอ้อม ทั้งความสะดวกสบายที่จะเกิดขึ้น เกิดเมืองใหม่ๆเกิดตลอดและธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงการเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่รวดเร็วขึ้น อีกหน่อยการติดต่อการเจรจาธุรกิจก็จะเร็วขึ้น ทั้งนี้จะมีการแก้กฏหมายหลายฉบับ อาทิ กฏหมายผังเมืองและกฎหมายการใช้ผลประโยชน์ที่ดิน 2 ข้างทางรถไฟ จึงต้องใช้เวลา 3 ปี ตั้งแต่ ปี 57และเกิดการก่อสร้างขึ้นในวันนี้

สำหรับรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย จะเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟ ลาว-เวียงจันทร์ และโครงข่ายรถไฟของจีน ได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่จะสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของไทยสู่การค้ากับอีก 64 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 4400 ล้านคน เสริมสร้างโอกาสด้านการค้าการลงทุนของไทย

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินเยี่ยมชม พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการประกอบด้วยโมเดลรถไฟที่จะใช้ในโครงการและการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับรถไฟเช่นประวัติรถไฟไทย ความสำคัญของหลักหิน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการก่อสร้างรถไฟสายนครราชสีมา ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่โดยการเริ่มการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน เส้นทางกรุงเทพ - หนองคาย ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมาระยะทาง 253 กิโลเมตร โดยการก่อสร้างเฟสแรกระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ตั้งแต่สถานีกลางดง-ปางอโศก งบประมาณในการก่อสร้าง 425 ล้านบาท และจะเร่งรัดให้จีนส่งแบบก่อสร้างเฟสที่ 2 - เฟสที่ 4 มาให้ไทยไม่เกินกลางปีหน้า (61) เพื่อเปิดประมูล โดยตั้งเป้าให้เส้นทางดังกล่าวสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2566

ส่วนความาคุ้มค่าของโครงการฯ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนารม ระบุ ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเดิมนั้นภาคนี้ประชาชนมีรายได้ต่ำที่สุดในประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของประเทศด้วย

ส่วนเวลาในการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงไทยจีน จากกรุงเทพ - นครราชสีมา จะใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนกรุงเทพ - หนองคายจะใช้เวลา 3 ชั่วโมง 30 นาที โดยมีค่าแรกเข้า 80 บาท และบวกด้วย อัตรา 1.8 บาทต่อกิโลเมตร โดยคาดจะมีผู้โดยสารใช้บริการในช่วงแรกอยู่ที่ 5,300 คนต่อวัน และในปี 2594 จะมีผู้ใช้บริการขั้นต่ำ 26,800 คนต่อวัน 

ทั้งนี้ เส้นทางนครราชสีมา - หนองคายระยะทาง 355 กิโลเมตร ฝ่ายไทยจะเริ่มขออนุมัติการก่อสร้างจากรัฐบาลในปีหน้า (61) เพื่อเร่งรัดการออกแบบโดยให้จีนเป็นที่ปรึกษา โดยปีหน้าจะมีการหารือกับทางลาวในการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูง โดยมีรัฐบาลทั้ง 3 ฝ่าย ไทย-ลาว และจีน ร่วมกันหารือกันด้วย

ส่วนเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าใช้งบการก่อสร้างสูงกว่ารัฐบาลชุดก่อนนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุต้องดูถึงเรื่องรายละเอียดของมาตรฐานและวิธีการออกแบบในลักษณะอย่างไร