บริษัทเฟซบุ๊กและธุรกิจการขายโฆษณาของบริษัทกูเกิลยังคงทำกำไรต่อเนื่อง แม้จะถูกตั้งคำถามจากหน่วยงานของรัฐและประชาชนถึงมาตรการดูแลข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานทั่วโลก และเผชิญข่าวฉาวมากมายในปี 2018
แม้ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา บรรดาบริษัทไอทีรายใหญ่ของโลกจะต้องเผชิญกับข่าวฉาวมากมาย โดยเฉพาะกรณีการรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน แต่ดูเหมือนว่าประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากสังคมจะไม่ส่งผลต่อกำไรของบริษัทมากเท่าที่คิด
สำนักข่าว CNN รายงานอ้างอิงการเปิดเผยผลประกอบการล่าสุดของบริษัทอัลฟาเบต บริษัทแม่ของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างกูเกิล ระบุว่า กูเกิลสามารถโกยรายได้ไปมากถึง 39,300 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.22 ล้านล้านบาท ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 22 %
ยอดขายครั้งนี้ของกูเกิลถือว่าสูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความสำเร็จของธุรกิจด้านการให้บริการโฆษณาออนไลน์ของบริษัท ที่สามารถทำรายได้ไป 32,600 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 1.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ถึง 20 % ซึ่งปีนั้นทำเงินไป 27,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 850,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทอัลฟาเบตและกูเกิลสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจโฆษณา หมายความว่าบริษัทต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการมากขึ้นเช่นเดียวกัน เพื่อจ้างบริษัทรายย่อยให้ทำหน้าที่ควบคุมการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมหรือกลไกต่าง ๆ ของการให้บริการ โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2017 ที่เคยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 65,000 ล้านดอลลาร์ ก็เพิ่มมาเป็น 74,000 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2018
ขณะที่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทเฟซบุ๊กแถลงผลดำเนินงานล่าสุด พบว่าทำสถิติที่ 6,900 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 215,000 ล้านบาทในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 ถือเป็นการดีดตัวสูงขึ้นถึง 61 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และยังทะลุเป้าการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดหุ้นอีกด้วย
รายรับของเฟซบุ๊กในไตรมาสที่ 4 ของปี 2018 เพิ่มสูงขึ้น 30 % มาแตะที่ 16,900 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 528,000 ล้านบาท ขณะที่ ตัวเลขผู้ใช้งานเฟซบุ๊กก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน โดยตอนนี้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 1,520 ล้านคนทั่วโลก ที่เข้าใช้งานเฟซบุ๊กทุกวัน และประมาณ 2,320 ล้านคน เข้าใช้งานเฟซบุ๊กเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งตัวเลขผู้ใช้งานทั้งสองประเภทเพิ่มสูงขึ้น 9 % เมื่อเทียบกับปี 2017
พื้นที่โซเชียลอื่น ๆ ที่เฟซบุ๊กเป็นเจ้าของก็ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน โดยเฟซบุ๊กประมาณการตัวเลขผู้ใช้งาน อินสตาแกรม วอตส์แอปป์ และเมสเซนเจอร์ ไว้ที่ 2,700 ล้านคนต่อเดือน นั่นหมายความว่าประชากร 2,000 ล้านคนทั่วโลก ใช้งานแอปพลิเคชันใดแอปพลิเคชันหนึ่งเป็นประจำทุกวัน
ผลประกอบการที่น่าประทับใจนี้ ปิดภาพความวุ่นวายจากข่าวฉาวของเฟซบุ๊กตลอดทั้งปี 2018 ได้อย่างแยบยล แม้ข่าวฉาวที่มีออกมาไม่หยุดหย่อนจะสร้างความกังวลใจให้กับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กไม่น้อย แต่ผลประกอบการชี้ให้เห็นว่าความกังวลอาจจะหายไปแล้ว ซึ่ง เดบรา อาโฮ วิลเลียมสัน ผู้อำนวยการนักวิเคราะห์ที่ eMarketer กล่าวถึงกรณีนี้ไว้ว่า ด้วยผลประกอบการนี้ เฟซบุ๊กแสดงให้เห็นชัดเจนว่า อุปสรรคในปี 2018 ไม่ได้มีผลยั่งยืนจนมากระทบรายได้และยอดผู้ใช้งานแต่อย่างใด
ด้านมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ก กล่าวว่า นับจากนี้ไปยังมีอีกหลายสิ่งที่เฟซบุ๊กจะต้องทำ แต่เท่าที่ผ่านมา เขารู้สึกภูมิใจอย่างมากกับผลงานที่บริษัททำ ซึ่งสามารถเอาชนะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
สำหรับอนาคตนั้น ดูเหมือนว่าเฟซบุ๊กกำลังวางแผนจะ "สร้างหนทางใหม่ ๆ" ออกมา โดยมาร์กกล่าวว่า เขามีความคิดในการเพิ่มกิจกรรมทางการค้าบนอินสตาแกรม ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญบนแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ และยังมีโครงการที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันอื่น ๆ ภายใต้เฟซบุ๊กอย่าง "สตอรี" ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ผลประกอบการจะเป็นที่น่าพอใจ แต่ข่าวฉาวก็ยังไม่ได้หายไปไหนเสียทีเดียว โดยก่อนที่จะมีการประกาศผลกำไรเพียง 1 วัน เฟซบุ๊กก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้งานแอปพลิเคชันด้านข้อมูลทางการตลาด ที่มีความคลุมเครือในการได้มาซึ่งข้อมูลการใช้สมาร์ตโฟนของประชาชนทั่วไป จึงเท่ากับว่า ผู้ใช้งานอาจต้องจับตาดูการแก้สถานการณ์และความโปร่งใสตรวจสอบได้ของบริษัทในระยะยาวด้วย