ผลการศึกษาจากญี่ปุ่นชี้ว่า การนอนหลับในสถานที่ที่มีแสงส่องแม้เพียงเล็กน้อย อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย
วารสารระบาดวิทยาของอเมริกา หรือ American Journal of Epidemiology ตีพิมพ์ผลการศึกษาของอาจารย์ประจำคณะอนามัยชุมชนและระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งเมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเผยว่า อาการของโรคซึมเศร้าในผู้สูงวัยมีความเชื่อมโยงกับการนอนในห้องที่มีแสงส่อง แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม
โดยเคนจิ โอบายาชิ หนึ่งในคณะค้นคว้าให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ว่า การนอนในห้องที่มืดสนิทตอนกลางคืน นอกจากจะส่งผลดีกับร่างกายแล้ว ยังอาจช่วยทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันโรคซึมเศร้าได้
การศึกษานี้ทำการทดลองกับผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นรวม 863 คน โดยได้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณแสงไว้บนเพดานห้องนอนให้ตรงกับตำแหน่งศีรษะของผู้ร่วมทดลองเป็นเวลาสองคืน พร้อมให้แต่ละคนจดบันทึกการนอนและทำแบบสำรวจอาการซึมเศร้าตลอดระยะเวลาสองปี
นักวิจัยพบว่า ผู้สูงวัยจำนวน 73 คนมีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้นระหว่างช่วงทดสอบ ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณแสงที่ได้รับระหว่างนอนหลับ โดยผู้ที่นอนในห้องซึ่งมีความสว่างมากกว่าห้าลักซ์ (lux) ต่อคืน จะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่นอนในห้องมืดสนิท ซึ่งความสว่างระดับนี้เทียบได้กับการมองเปลวเทียนจากระยะ 0.6 เมตร
โดยโอบายาชิกล่าวว่า การเห็นแสงในยามดึกนั้นอาจส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิต และลดการหลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้นอนหลับในตอนกลางคืน จึงอาจส่งผลกระทบด้านจิตใจตามมา
แม้ว่าการทดลองนี้จะเน้นไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ทีมวิจัยวิเคราะห์ว่าอาการซึมเศร้าที่เกิดจากการนอนในที่มีแสงนั้น น่าจะยิ่งรุนแรงในกลุ่มคนอายุน้อย เพราะตาของคนหนุ่มสาวนั้นไวต่อแสงและรับแสงได้มากกว่าผู้สูงวัยถึงห้าเท่า ดังนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือการนอนในที่มืดสนิทและปราศจากแหล่งกำเนิดแสง ไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไรก็ตาม