รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand ฟัง “วิโรจน์” ขุนพลปากกล้า พรรคก้าวไกล ยิงคำถามใส่รัฐบาลรัว ๆ ปมกู้เงิน 1 ล้านล้าน ยันไม่เคยคิดขวาง แต่ห่วงใช้เงินไม่เป็น แถมจะแบ่งเค้กลักไก่ใช้งบ เติมแค่ “สู้ภัยโควิด” ต่อท้ายโครงการ ชี้! จะออกกฎหมายแต่พิมพ์มาแค่ 7 หน้า ท้ารัฐบาลตั้ง กมธ.ตรวจสอบ
พร้อมวอน“ประยุทธ์” เลิกบอก “ประเทศไทยต้องชนะ” เพราะประชาชนกำลังแพ้และอดอยาก
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถามนายกฯ ว่า ที่ชูสองแขนแล้วพูดว่า 'ประเทศไทยต้องชนะ' นั้น คำว่าประเทศไทย หมายถึงประชาชนด้วยหรือไม่? เพราะถ้าประชาชนชนะ เหตุใดจึงมีเห็นภาพประชาชนยังไปเข้าคิวรับอาหารกล่อง, ไปกระทรวงการคลังเพื่อสอบถามเรื่องเงินเยียวยา สิ่งเหล่านี้ไม่เรียกว่าชัยชนะ แต่เป็นการได้มาบนสิ่งที่รัฐบาลยืนบนความทุกข์ยากของประชาชน เป็นการประกาศชัยชนะโดยเอาประชาชนเป็นเครื่องเซ่น เอาธุรกิจขนาดเล็กเป็นเครื่องสังเวยของรัฐบาล ประชาชนตัวเล็กตัวน้อยต้องเป็นผู้แบกรับปัญหา ใครรับไม่ไหวรัฐบาลก็ปล่อยให้ตายไป ทัศนคติของรัฐบาลที่มองว่าโควิด–19 แค่ไข้หวัดชนิดหนึ่ง ถือเป็นการเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป ปล่อยปละละเลยให้เกิดการระบาดใหญ่ที่สนามมวยลุมพินี และกว่าจะยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศก็เข้าประเทศไทยก็เข้าสู่วันที่ 11 มีนาคม 2563 ซึ่งสถานการณ์สายเกินไปแล้ว เป็นการยืนยันว่าไม่ใช่ชัยชนะ แต่เป็นการแก้ปัญหาจากความประมาทของรัฐบาลที่แลกมาด้วยความทุกข์ยากของประชาชน
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า อย่าพูดคำว่าชนะให้แสลงหูประชาชนอีกเลย ปัจจุบันใครชนะไม่รู้ แต่ประชาชนพ่ายแพ้ ภายใต้วิธีคิดของรัฐบาลนี้ และแนวคิดของพล.อ.ประยุทธ์ หากเปรียบเทียบการช่วยเหลือประชาชนกับการอุ้มชูนายทุน เราเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับอะไร ประชาชนต้องรอไปก่อน เกิดคำถามว่าทำไมรัฐบาลถึงอยากอุ้มนายทุน แต่การช่วยเหลือประชาชนกลับซื้อเวลาไปเรื่อยๆ หลอกประชาชนแบบหลอกแล้วหลอกเล่า เหมือนรัฐบาลรับหน้าที่ดูแลน้ำในเขื่อน แต่ไม่ควบคุมระดับน้ำสุดท้ายต้องปล่อยน้ำออกมา ปล่อยให้ประชาชนตะเกียกตะกายล้มหายตายจากพัดกับกระแสน้ำไปเรื่อยๆ การเยียวยาที่ล่าช้าสะท้อนว่ารัฐบาลไม่เข้าใจไม่มีความเข้าใจ และพอประชาชนนำอาหารมาแจกจ่ายกันเอง ก็ถูกจับกุมดำเนินคดีโดยไม่เข้าใจเจตนาของประชาชนเลย
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องกู้ การกู้ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือฐานคิดและวิธีจัดการการใช้เงินที่กู้มา นายทุนต้องมาก่อน ประชาชนรอไปก่อน มีฟูกสำหรับนายทุน มีกระบองสำหรับประชาชน คิดว่าตัวเองคือเจ้าของเงินเพื่อสมทบประชาชนแบบนี้ไม่ถูกต้อง วิกฤตนี้ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะผลกระทบวิกฤตต้มยำกุ้งคือกลุ่มคนรวย ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่วิกฤตโควิด – 19 ซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศที่ย่ำแย่อยู่แล้วหลังการรัฐประหาร เป็นการพังทลาย และผุกร่อนจากฐานราก การบริหารจัดการใช้จ่ายเงินกู้วันนี้จึงสำคัญมาก เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลานในอนาคต การตัดสินใจวันนี้ต้องไม่ถูกเด็กรุ่นหลังคนรุ่นหน้าด่าทอต่อว่า การใช้งบเพื่อแก้ปัญหาโควิด – 19 ที่ผ่านมามีลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก ขาดยุทธศาสตร์ไม่เห็นผล ถ้ารัฐบาลทำงานเป็น พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับจะต้องสอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.โอนงบฯ ปี 63 และ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 64 แต่ปรากฎว่าไม่มีการคิดก่อนกู้ แต่จะกู้อย่างเดียว และพอแก้ไม่ไหวเกินสติปัญญาก็ใช้อำนาจผ่านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ พิมพ์คำสั่งใส่กระดาษเอสี่ แก้ปัญหาแบบอันธพาลคุมซอย ต้องไม่ลืมว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งให้ธุรกิจไม่ขาดทุนไม่ได้ เสกเงินให้ประชาชนที่สิ้นเนื้อ ประดาตัวเพื่อให้มีเงินไปใช้หนี้..ไม่ได้ การแก้ปัญหาต้องไม่ใช้อำนาจ แต่ต้องใช้การวางแผนและการจัดการที่รอบคอบ ดังนั้น รัฐบาลต้องให้ความร่วมมือสภาในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้เงินฯ พรรคก้าวไกลจะดูท่าทีของรัฐบาล เพราะเป็นจุดชี้ขาดของพรรคว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อการลงมติ”