ผลงานวิจัยของสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นราว 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องใช้เคมีบำบัดในการรักษา โดยสามารถรับการบำบัดโดยใช้ฮอร์โมนแทนได้
สมาคมอเมริกันเพื่อการรักษาเนื้องอก หรือ ASCO ได้นำเสนอผลการวิจัยล่าสุดที่เมืองชิคาโกเมื่อวานนี้ (3 มิ.ย. 61) ว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกราว 70 เปอร์เซ็นต์ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการเคมีบำบัด หรือคีโม
ผลการศึกษานี้ยังรวมถึงผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกไปแล้วและมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งซ้ำอยู่ในระดับกลาง โดยทีมวิจัยวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการตรวจยีนในเนื้อเยื่อ ‘Oncotype DX (ออนโคไทป์ ดีเอ็กซ์)’ ที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้จำนวน 21 ตัว เพื่อหาค่าความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้อร้ายขึ้นซ้ำภายใน 10 ปี/ ซึ่งผู้ที่มีค่าความเสี่ยงระหว่าง 0 ถึง 10 จะได้รับการแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องทำคีโม หลังจากที่ผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกแล้ว และสามารถรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัดแทน/ ขณะที่ผู้ป่วยที่มีค่าความเสี่ยงระหว่าง 26 ถึง 100 จะรักษาด้วยวิธีคีโมและฮอร์โมนควบคู่กันไป
สำหรับการศึกษานี้ใช้ชื่อว่า ‘TAILORx (เทเลอร์ เอ็กซ์)’ และได้ทำการทดลองกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกว่า 10,000 ราย ที่เซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง รวมถึงผู้ป่วยเนื้องอกที่ตอบสนองต่อการใช้ฮอร์โมนบำบัด และได้ผลเป็นลบในการตรวจยีน HER2 (เอชอีอาร์ 2) ซึ่งแสดงว่าอาการยังไม่ร้ายแรงนัก
จากผู้ป่วยที่ทำการทดลองทั้งหมด มีผู้ป่วย 6,711 รายที่มีค่าความเสี่ยงในระดับกลาง คืออยู่ระหว่าง 11 ถึง 25 จะถูกสุ่มให้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว หรือจะบำบัดด้วยฮอร์โมนไปพร้อมกับคีโม
ผลการวิจัยพบว่า สตรีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมในระยะกลางเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องทำคีโม ซึ่งกลุ่มที่ทำการทดลองนี้คิดเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด นอกจากนั้น ผู้หญิงที่อายุไม่เกิน 50 ปี ที่มีค่าความเสี่ยงระหว่าง 0 ถึง 15 ก็ไม่จำเป็นต้องทำคีโมเช่นกัน
โดยการทำเคมีบำบัดนั้นจะมีประโยชน์ต่อผู้หญิงในกลุ่มที่อายุไม่เกิน 50 ปี ซึ่งมีค่าความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งซ้ำอยู่ระหว่าง 16 ถึง 25